วันนี้ (8 กันยายน) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา (เกียกกาย) พรรคก้าวไกล นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค, ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค, รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พร้อมด้วย นิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย, ซูการ์โน มะทา, พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ตัวแทนพรรคประชาชาติ, สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมยื่นญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิกมาตรา 272 ว่าด้วยอำนาจของ ส.ว. ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี โดย ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับญัตติดังกล่าว
พิธากล่าวว่าในวันนี้ตนพร้อมแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคฝ่ายรัฐบาลมายื่นญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิกมาตรา 272 โดยสาระสำคัญคือการยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งนี่ถือเป็นกระดุมเม็ดแรก เป็นเพียงขั้นแรกในการปิดสวิตช์ ส.ว. ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ นอกจากนี้เป็นครั้งแรกในการทำงานร่วมกันของ ส.ส. พรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน โดยมีพรรคการเมืองร่วมยื่นทั้งหมด 13 พรรค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมลงชื่อทั้งสิ้น 99 คน ซึ่งเกิน 1 ใน 5 ของสมาชิกตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของ ส.ส. ที่มองเห็นสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังจะไปถึงทางตัน จึงร่วมกันเพื่อหาฉันทามติและหาทางออกให้กับประเทศ ซึ่งญัตติที่เรายื่นในวันนี้สามารถบรรจุได้ทันสมัยประชุมนี้ในการประชุมเพื่อพิจารณาร่วมกันของสมาชิกรัฐสภา อย่างไรก็ตาม ขอให้สมาชิกวุฒิสภาอย่าขัดขวางการดำเนินการในครั้งนี้ ให้เห็นแก่ประชาชนเพื่อร่วมหาทางออก ลดความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ
ขณะที่ชวนกล่าวว่าตามข้อบังคับของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อประธานรับแล้วจะส่งให้เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบความถูกต้อง จากนั้นภายใน 15 วันจึงสั่งการให้บรรจุ ซึ่งขณะนี้ฉบับแรกได้บรรจุเรียบร้อยแล้ว และฉบับพรรคร่วมรัฐบาลระหว่างรอสั่งบรรจุ โดยร่างนี้เป็นฉบับที่ 3 ซึ่งร่างแรกจะพิจารณาในวันที่ 23-24 กันยายน ซึ่งหากสั่งบรรจุฉบับนี้แล้วสามารถนำไปพิจารณาร่วมกันได้
ด้านสาทิตย์กล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ถือว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำประเทศมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง ลดทอนการขัดแย้งทางการเมือง ส่วนประเด็นอื่นก็คือแต่ละพรรคการเมืองก็จะมีจุดยืนที่ต่างกัน โดยกลุ่มของตนคือเฉพาะ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ที่ลงชื่อร่วม เราเห็นแก่สถานการณ์ทางการเมืองนอกสภาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการลดและตัดอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีถือว่ามีความสำคัญต่อสถานการณ์ทางการเมือง และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เห็นด้วยกับการยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยการลงรายชื่อครั้งนี้เป็นเอกสิทธิ์ ส.ส. ไม่ใช่มติพรรค และไม่ใช่การขัดความเห็นของพรรค ทั้งนี้เพื่อร่วมหาทางออกและฉันทามติร่วมกัน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์