วันนี้ (23 กุมภาพันธ์) ที่พรรคก้าวไกล มีการประชุมคณะกรรมการวินัยและจรรณยาบรรณสมาชิกพรรคก้าวไกล ครั้งที่ 2/64 โดย ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นวาระปกติ แต่ดังที่ทราบกันดีว่า ในการลงมติตามญัตติอภิปรายไม่ไว้วางในรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล มีสมาชิก 4 คน ได้แก่ คารม พลพรกลาง, นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ, พีรเดช คำสมุทร และ ขวัญเลิศ พานิชมาท ได้ลงมติไว้วางใจ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้อภิปราย และเห็นสอดคล้องกันว่า อนุทินเป็นผู้บริหารจัดการวัคซีนผิดพลาด เอาประชาชนไปกระจุกเสี่ยงจากวัคซีนแหล่งเดียว ไม่สนใจคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ ขาดความโปร่งใส ขัดขวางกลไกการตรวจสอบ ทั้งที่เงินทุกบาทที่ซื้อวัคซีนล้วนเป็นเงินภาษีที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของประชาชน และหากมีการฉีดวัคซีนล่าช้าจะส่งผลให้ปัญหาปากท้องลากยาวไม่จบสิ้น ประชาชนทุกข์ยากแสนสาหัส คนตกงาน สูญเสียอาชีพ รายได้ฝืดเคือง และทำมาหากินด้วยความยากลำบาก จึงทำให้ไม่อาจไว้วางใจได้ ซึ่งการลงมติไว้วางใจดังกล่าวยังขัดกับความรู้สึกของประชาชน สมาชิก และผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลจำนวนมาก จึงทำให้ต้องนำเอาพฤติการณ์ของสมาชิกทั้ง 4 คน เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวินัยฯ ในครั้งนี้ด้วย
สำหรับผลการประชุม คณะกรรมการวินัยฯ ทั้ง 5 คน มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ภายหลังการลงมติดังกล่าว สมาชิกทั้ง 4 คน มีการให้ข้อมูลต่อสาธารณะ และสื่อมวลชนเพิ่มเติมในหลายครั้งหลายวาระ ซึ่งจากการตรวจสอบรายละเอียดพบว่า มีข้อความหลายประการที่ส่งผลเสียหาย โดยเฉพาะต่ออุดมการณ์และแนวทางทำงานของพรรค นอกจากนี้ ยังพบว่าสมาชิกทั้ง 4 คนได้ขาดการร่วมกิจกรรมต่างๆ ของพรรค รวมถึงขาดการเข้าร่วมประชุมพรรคอย่างต่อเนื่องและยาวนานพอสมควร ซึ่งทางพรรคมีข้อมูลหลักฐานที่บันทึกไว้อย่างชัดเจน โดยพฤติกรรมเหล่านี้เข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับพรรค ข้อ 119 กล่าวคือ
หากเป็นการทำผิดวินัยทั่วไป คณะกรรมการวินัยฯ มีสิทธิลงโทษได้ 4 อย่าง ได้แก่ การตักเตือน การภาคทัณฑ์ การตัดสิทธิที่พึงมีในฐานะสมาชิกพรรคการเมือง และการให้พ้นสมาชิกภาพจากพรรคการเมือง ส่วนกรณีกระทำผิดวินัยร้ายแรง คณะกรรมการวินัยฯ มีสิทธิลงโทษได้ 2 อย่างคือ การตัดสิทธิที่พึงมีในฐานะสมาชิกพรรคการเมือง และการให้พ้นสมาชิกภาพจากพรรคการเมือง
“สำหรับสมาชิกทั้ง 4 คน คณะกรรมการวินัยเห็นตรงกันว่า ให้ตัดสิทธิที่พึงมีในฐานะสมาชิกพรรคการเมือง ส่วนสาเหตุที่ไม่ตัดสินให้พ้นจากสมาชิกภาพพรรคการเมืองนั้น เหตุผลเป็นไปตามที่หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคให้เหตุผลก่อนหน้านี้ คือเพื่อไม่ให้มีผลต่อสัดส่วนการทำงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร และเพื่อไม่ให้เป็นการเตะหมูเข้าปากหมาสมประโยชน์นักการเมือง และพรรคการเมืองที่กำลังทำการเมืองแบบเก่าและรอคอยอยู่” ณัฐวุฒิกล่าว
ทั้งนี้ รายละเอียดบทลงโทษ ในส่วนของพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรค รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า พรรคจะไม่ส่งสมาชิกทั้ง 4 คนลงสมัครเลือกตั้งครั้งถัดไป และจะดำเนินการตามระเบียบพรรคเพื่อให้ถอด นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ออกจากการเป็นรองเลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นอำนาจเลขาธิการพรรคดำเนินการ
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลไม่อนุญาตให้สมาชิกทั้ง 4 คนเข้าร่วมกิจกรรม และไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อพรรคในการทำกิจกรรมต่างๆ ทางการเมือง รวมถึงส่วนที่เป็นโควตาเวลาของพรรคการเมือง เช่น การปรึกษาหารือ การตั้งกระทู้ถามสด การนั่งเป็นกรรมาธิการคณะต่างๆ หรือการอภิปรายในสัดส่วนโควตาของพรรค พรรคขอตัดสิทธิในสัดส่วนเหล่านี้สำหรับสมาชิกทั้ง 4 คน และในฐานะรองหัวหน้าพรรค ขอเรียนว่าเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง พรรคจึงขอสงวนสิทธิในการส่ง ส.ส. หรือสมาชิกพรรคลงทำงานในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เชียงราย และชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ของสมาชิกทั้ง 4 คนทันที
“ขอยืนยันอีกครั้งว่า การกระทำผิดดังกล่าว เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ มีความชัดเจน มีข้อมูล มีพยานหลักฐาน คณะกรรมการวินัยจึงของตัดสินโทษต่อสมาชิกทั้ง 4 คน ดังที่แจ้งไว้ต่อสื่อมวลชน” ณัฐวุฒิระบุในที่สุด
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์