วันนี้ (20 มิถุนายน) พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีที่สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่บรรจุญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย โดยระบุว่า แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาการแก้ไขมาตรา 256 ตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอที่มีการจำกัดอำนาจสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ห้ามแก้ไขหมวด 1 และ 2 ก็ตาม แต่พรรคก้าวไกลเห็นว่ารัฐสภามีอำนาจที่จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่พรรคเพื่อไทยยื่นเสนอมา
ในส่วนกรณีที่ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยในระเบียบวาระการประชุมร่วมของรัฐสภาที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 23 มิถุนายนนั้น พรรคก้าวไกลเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ซึ่งหากพิจารณาคำวินิจฉัยขอศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า หากจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องให้ประชาชนได้ลงประชามติเห็นชอบเสียก่อน แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องทำในขั้นตอนใด และไม่ได้บอกว่ารัฐสภาไม่สามารถพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้มี สสร. ได้
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลเห็นว่าการบรรจุหรือไม่บรรจุวาระในครั้งนี้เป็นหลักการที่คล้ายคลึงกับเมื่อสมัยประชุมที่แล้ว ที่ท่านประธานสภาได้บรรจุวาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ในวาระที่ 3 หลังจากที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่ประธานรัฐสภาด่วนตีความเสียเองว่าร่างดังกล่าวไม่สามารถบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภาได้ ทั้งที่เป็นการเสนอญัตติที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว หากจะหาข้อยุติว่าต้องไปจัดทำประชามติก่อนจะพิจารณาวาระที่ 1 ได้ ก็ควรเป็นมติของที่ประชุมรัฐสภา ไม่ใช่ความเห็นของประธานรัฐสภาแต่เพียงผู้เดียว
ประการต่อมา เมื่อประธานรัฐสภามีดำริเป็นเช่นนี้ ซึ่งก็เป็นอำนาจของท่านในการพิจารณาบรรจุระเบียบวาระการประชุม พรรคก้าวไกลจึงขอยืนยันให้สมาชิกรัฐสภาช่วยกันผลักดันและเร่งพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติผ่านวาระ 2 และ 3 ให้แล้วเสร็จในวันอังคารที่ 22 มิถุนายนนี้ โดยในรายละเอียดขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติถูกพิจารณามาถึงมาตราที่ 55 แล้ว เหลือเพียง 12 มาตรา จากทั้งหมด 67 มาตรา ที่ยังต้องพิจารณาและลงมติในวาระที่ 2 เท่านั้น ซึ่งเห็นว่าที่ประชุมสภาสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว และทันทีที่ พ.ร.บ. ประชามติประกาศใช้ พรรคก้าวไกลจะเสนอญัตติด่วนให้รัฐสภาพิจารณามีมติให้คณะรัฐมนตรีจัดทำประชามติถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ที่จะตั้ง สสร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งทั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และพรรคพลังประชารัฐเคยอ้างมาตลอดว่าต้องถามประชาชนก่อน และใช้เป็นเหตุผลนี้ในการโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ในสมัยประชุมที่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะไม่เห็นชอบให้มีการทำประชามติ ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนให้ติดตามดูว่า ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. จะตีรวน เตะถ่วง การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประชามติฉบับนี้อีกครั้งหรือไม่
ประการสุดท้าย พิจารณ์ระบุว่า ในส่วนของการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมทั้ง 13 ฉบับที่จะมีขึ้นในวันที่ 23-24 มิถุนายนนี้ พรรคก้าวไกลได้รับการจัดสรรเวลาตามสัดส่วน 75 นาที โดยเตรียมผู้อภิปรายเอาไว้ 4-5ท่าน อยากให้ประชาชนเข้าใจถึงจุดยืนของพรรคก้าวไกลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และแสดงให้ประชาชนเห็นว่าสิ่งที่ควรแก้ไขกลับไม่ได้แก้ไข อย่างการยกเลิกมาตรา 272 นี่คือสิ่งที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด และไม่มีความจำเป็นที่ ส.ว. ทั้ง 250 คน จะมีอภิสิทธิ์ในการเลือกนายกรัฐมนตรีเทียบเท่ากับ ส.ส. ทั้ง 500 คน ที่เป็นตัวแทนของประชาชน บวกกับสิ่งที่ไม่ควรแก้กลับไปแก้ไขอย่างมาตรา 144 และ 185 ซึ่งจะเป็นการเปิดช่อง นำไปสู่การแก้ระบบการเลือกตั้ง
แสดงให้ประชาชนและสังคมเห็นว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับพรรคพรรคพลังประชารัฐมิได้เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง แต่กลับเป็นการปูทางเพื่อให้ พล.อ. ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในส่วนของระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีความพยายามโจมตีพรรคก้าวไกลว่าเป็นผู้เสียประโยชน์จากการเสนอแก้ไขระบบการเลือกตั้งจนออกมาตีโพยตีพาย
พรรคก้าวไกลยืนยันอีกครั้งว่า เรามุ่งหมายที่จะเป็นพรรคการเมืองของมวลชน เป็นสถาบันทางการเมือง เราจึงพร้อมกับทุกระบบการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น หากการเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่สิ่งที่สำคัญมากไปกว่าเรื่องพรรคใดจะได้หรือเสียประโยชน์ คือ ประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่ ประชาชนจะได้อะไรจากการแก้ไขระบบเลือกตั้ง หากการแก้ไขระบบเลือกตั้งนำไปสู่การครอบงำสภาโดยพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หากการแก้ไขระบบเลือกตั้งไม่สามารถนำสังคมออกจากวังวนความขัดแย้งได้ และหากการแก้ไขระบบเลือกตั้งไม่สามารถสะท้อนเสียงความต้องการของพี่น้องประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียง ตนคิดว่าพรรคการเมืองต่างๆ ที่เสนอ ไม่ได้มองประชาชนเป็นศูนย์กลาง และที่สำคัญ ประชาชนและสังคมควรได้รับทราบว่าระบบเลือกตั้งแบบสองใบไม่ได้มีแต่เพียงแบบที่พรรคพลังประชารัฐหรือพรรคเพื่อไทยเสนอ แต่ยังมีอีกระบบที่จะสะท้อนเสียงความต้องการของพี่น้องประชาชนได้ดีกว่า เรียกว่าได้สามอย่าง คือ ได้เลือกคนที่ชอบ ได้เลือกพรรคที่ใช่ และได้จำนวน ส.ส. ในสภา ให้มีสัดส่วนที่ถูกต้อง เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ใช้สิทธิทั่วประเทศ
อีกทั้งการลงมติในแต่ละร่าง พ.ร.บ. ทุกฉบับ รวมถึงการส่งกรรมาธิการที่จะเป็นตัวแทนของพรรคในการไปร่วมพิจารณาร่างแก้ไข พรรคก้าวไกลจะมีการประชุมและหาข้อสรุปอีกครั้ง
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล