วันนี้ (25 มกราคม) จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการที่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่งตั้งเพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้านบาท โดยใช้เวลาพิจารณารวม 3 วัน
ผลการพิจารณาได้ความว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไม่ได้ดำเนินงานนอกเหนือระเบียบการติดตั้งป้ายเดิม การกำหนดขอบเขตการดำเนินการ และการกำหนดราคากลางของ รฟท. เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่สามารถตรวจสอบได้ แต่คณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะให้ รฟท. ทบทวนเพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพและประหยัดงบประมาณมากที่สุด เช่น ทบทวนวัสดุและเทคนิคในการติดตั้ง ทบทวนค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน นำตัวอักษรเดิมสถานีกลางที่ยังใหม่อยู่มาปรับปรุงใช้ ทบทวนการจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง เป็นต้น
จิรัฏฐ์กล่าวต่อไปว่า ผลสอบคณะกรรมการฯ สรุปสั้นๆ ได้ว่า ‘โปร่งใสแต่แพง’ แบบนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าคณะกรรมการฯ เองยังเห็นว่าราคาค่าเปลี่ยนป้ายแพงเกินไป และ รฟท. ไม่ได้แสวงหาหนทางที่จะประหยัดการใช้งบประมาณ หรือใช้ภาษีประชาชนอย่างเป็นประโยชน์และคุ้มค่าอย่างที่เคยชี้แจง
“ผมไม่ทราบว่าเกิดประโยชน์อะไรจากการตั้งคณะกรรมการสอบ ผลสอบแบบนี้เท่ากับเราเสียเบี้ยประชุม เสียค่าดำเนินการไปอย่างสูญเปล่าเพื่อให้ได้คำตอบที่ประชาชนทุกคนรู้อยู่แล้ว ประชาชนอดทนรอมา 15 วันตามที่รัฐมนตรีให้สัญญา แต่กลับไม่ได้คำตอบที่กำลังสงสัย” จิรัฏฐ์กล่าว
จิรัฏฐ์กล่าวอีกว่า จึงขอเรียกร้องให้ประชาชนและสื่อมวลชน ช่วยกันทวงถามคำตอบที่พวกเรายังคงสงสัย โดย รฟท. รวมถึงกระทรวงคมนาคม ต้องรีบชี้แจงทันที 3 เรื่อง ได้แก่ เหตุผลความจำเป็น เป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย อยู่ดีๆ ไปขอพระราชทานชื่อใหม่ทำไม ความจำเป็นคืออะไร ทำไมเราต้องสูญงบประมาณหลายสิบล้านเพื่อการเปลี่ยนชื่อสถานีที่ชื่อเดิมก็ดีอยู่แล้ว
“เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การเปลี่ยนชื่อนั้นไม่ใช่ประเพณีปฏิบัติตามที่รัฐมนตรีอ้างในการตอบกระทู้ และยังไม่เคยปรากฏว่ามีการเปลี่ยนชื่อสถานีรถไฟมาก่อน ส่วนเรื่องสนามบินสุวรรณภูมิก็มีการเปลี่ยนชื่อไปก่อนดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งต่างจากสถานีกลางบางซื่อที่สร้างเสร็จแล้วค่อยมาเปลี่ยนชื่อภายหลัง” จิรัฏฐ์กล่าว
จิรัฏฐ์กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่สอง เรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่ รฟท. ปิดมาตลอด ทั้งๆ ที่เป็นข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างทั่วไป ซึ่ง รฟท. ต้องเปิดเผยเอกสารเหล่านี้อยู่แล้วตามกฎหมาย เช่น เอกสารการจัดซื้อจัดจ้างการเปลี่ยนชื่อ 33 ล้านบาทที่คณะกรรมการใช้พิจารณาสอบ เอกสารการจัดซื้อจัดจ้างการติดตั้งป้ายเดิม เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าป้ายเดิมที่ต้องรื้อทิ้ง เผาเงินภาษีฟรีๆ ไปเท่าไร
และประเด็นที่สาม รฟท. ต้องชี้แจงผลการประเมินการใช้งบประมาณทั้งหมดในการเปลี่ยนชื่อ ตั้งแต่ป้ายขนาดใหญ่ 33 ล้านบาท ป้ายขนาดเล็กในสถานี ป้ายติดโบกี้รถไฟ ป้ายบอกทางตามถนน และจะต้องใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นอีกเท่าไร กับการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ หรือถ้า รฟท. ยังไม่ได้คิด ก็ควรรีบคิด
จิรัฏฐ์กล่าวด้วยว่า ทั้งหมดนี้คือคำถามที่พี่น้องประชาชนอยากได้คำตอบตั้งแต่วันแรกที่เรื่องนี้เป็นข่าว เราไม่ควรปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปโดยไม่ได้รับความโปร่งใสจากหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่สร้างหนี้ไว้มากกว่า 2 แสนล้านบาทแบบ รฟท.
“สุดท้ายฝากไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้ว่าฯ รฟท. หน่วยงานราชการไทยในปี 2023 ไม่ควรทำตัวเป็นดินแดนพิศวงที่ดีแต่พูดถึงความโปร่งใส แต่ไม่เคยชี้แจงอะไรได้เลย ท่านควรแสดงความจริงใจด้วยการรีบชี้แจงข้อสงสัยทั้งหมดของประชาชนโดยเร็ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าท่านมีความรับผิดชอบต่อเงินทุกบาททุกสตางค์ของพี่น้องประชาชน” จิรัฏฐ์กล่าวในที่สุด