×

มาริษตอบกระทู้ สว. ยืนยัน MOU 44 ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนดำเนินการ ย้ำไทยเร่งเจรจาปล่อยตัว 4 ลูกเรือประมง

โดย THE STANDARD TEAM
27.01.2025
  • LOADING...
mou44-needs-parliament-approval

วันนี้ (27 มกราคม) ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 9 สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 วาระพิจารณากระทู้ถามสด มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบกระทู้ถามของ สว. ในหลายประเด็น ตั้งแต่คำถามของ ยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา สว. เรื่องการเจรจาผลประโยชน์ร่วมกันในเขตพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนไทย-กัมพูชา ตาม MOU 44

 

มาริษชี้แจงว่า ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในพื้นที่อ้างสิทธิดังกล่าว และยังไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา หรือ JTC ของฝ่ายไทยชุดใหม่ ซึ่งคณะกรรมการฯ ดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการเจรจากับกัมพูชา แม้ยังไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการฯ รัฐบาลก็พร้อมรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ไปประมวล รวบรวมประกอบการกำหนดท่าทีไทยในการเจรจา เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน 

 

มาริษย้ำว่า รัฐบาลไทยจะเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา โดยยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง บนพื้นฐานการเจรจาตามกรอบ MOU 44 ที่มีอยู่ และเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับรัฐบาลทุกยุค เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาเห็นว่าเป็นเครื่องมือในการเจรจาที่เหมาะสม และสมดุลในการรักษาผลประโยชน์ชาติครบถ้วน ทั้งการแบ่งเขตทางทะเลและเศรษฐกิจ โดยคำนึงอธิปไตยและผลประโยชน์ประเทศ 

 

“รัฐบาลจะยึดหลัก 3 ข้อในการเจรจาที่ประชาชนต้องยอมรับได้และรัฐสภาให้ความเห็นชอบ รวมถึงจะต้องเป็นไปตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาลจะไม่ดำเนินการใดโดยที่รัฐสภายังไม่เห็นชอบ ดังนั้น การดำเนินการเจรจาทั้งหมดจะต้องอยู่บนพื้นฐานนี้” มาริษระบุ 

 

สำหรับ MOU 44 มาริษย้ำว่าเป็นกรอบความตกลงที่กำหนดกรอบและกลไกการเจรจาระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ไม่ใช่การยอมรับการอ้างสิทธิกัมพูชาแต่อย่างใด และไม่ส่งผลต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศเหนือเกาะกูด เพราะไทยมีอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูดโดยสมบูรณ์ และใช้อำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูดอย่างต่อเนื่องเสมอมา ซึ่งสาระสำคัญของ MOU 44 กำหนดให้เจรจาการแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันควบคู่กันไปโดยแบ่งแยกมิได้ ซึ่งหากบรรลุการเจรจาร่วมกัน รัฐบาลจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อตกลงดังกล่าวก่อนดำเนินการและมีผลผูกพันต่อไป

 

ลูกเรือไทย 4 คน ยังกำลังใจดี เร่งเจรจาตามขั้นตอน

 

มาริษยังตอบกระทู้ถามของ ธนกร ถาวรชินโชติ สว. เรื่องเหตุการณ์เรือประมงไทยถูกยิงจากเรือรบประเทศเมียนมา และลากเรือประมงไทยไปยังเกาะย่านเชือก ประเทศเมียนมา โดยระบุว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยประสานงานกับเมียนมาในทุกช่องทางและทุกระดับเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยกองทัพเรือเป็นหน่วยงานหลักที่ติดตามเรื่องนี้

 

กระทรวงการต่างประเทศประสานงานตั้งแต่วันแรกผ่านวิธีการทางการทูต มีท่าทีตอบโต้ครบถ้วนตามหลักปฏิบัติจากหนักไปหาเบา พูดคุยยืนยันกับทั้งกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาและสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือให้ลูกเรือทั้ง 4 คนได้รับการปล่อยตัวและกลับมายังประเทศไทยเป็นลำดับแรก

 

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการพิจารณาปล่อยตัวของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ตนเองหารือกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาโดยตรง ได้รับคำยืนยันว่าจะพยายามอย่างเต็มที่ให้ปล่อยตัวลูกเรือทั้ง 4 คน และไม่ต้องการให้เรื่องนี้กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ พร้อมขอบคุณฝ่ายไทยที่พยายามลดความร้อนแรงของประเด็นนี้ในสาธารณะ และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา

 

“ที่ผ่านมาฝ่ายเมียนมาก็ให้ความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงย่างกุ้ง ทั้งการโทรศัพท์ไปพูดคุยและพาญาติรวมถึงนำสิ่งของจำเป็นไปมอบให้กับลูกเรือประมงไทยที่จังหวัดเกาะสอง ขณะนี้ลูกเรือประมงทั้ง 4 คนมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง มีกำลังใจดี ได้รับการดูแลตามความเหมาะสม ได้รับอาหารครบทั้ง 3 มื้อ ญาติก็มีช่องทางติดต่อกับสถานทูตฯ โดยตรง” 

 

ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศสั่งการให้สถานทูตฯ ดำเนินการขอรัฐบาลเมียนมาให้สามารถเข้าไปเยี่ยมลูกเรือทั้ง 4 คนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบความประสงค์และสุขภาพอนามัยของลูกเรือทั้ง 4 คน นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในระดับกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงขอให้คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น หรือ Township Border Committee ดำเนินการหารือกัน เพราะเป็นหน่วยงานหลักที่สำคัญในการเจรจา เพื่อลดภาระและความรุนแรงจากการไม่เข้าใจกันให้อยู่ในระหว่างคณะกรรมการระดับพื้นที่ 

 

สำหรับเรื่องเรือประมง กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตจะดำเนินการทุกอย่างเพื่อนำเรือที่ถูกจับกุมไปกลับคืนมาด้วย ขณะเดียวกัน จะใช้กลไกคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น ซึ่งในแต่ละประเทศมีขั้นตอนไม่เหมือนกัน ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศเคยบรรลุการเจรจากรณีลูกเรือประมงชาวไทยถูกจับกุมที่ประเทศกัมพูชาและได้รับการปล่อยตัว รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามผลักดันในทุกระดับและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดเวลา 

 

“ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการทุกประการที่จะนำเอาลูกเรือประมงทั้ง 4 คน และเรือของพวกเขาเหล่านั้นกลับมาสู่ประเทศไทยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” มาริษทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising