×

สงคราม ภัยพิบัติธรรมชาติ การจากลา และคราบน้ำตาจากโศกนาฏกรรม ประมวลเหตุการณ์ที่สุดแห่งปี 2022

20.12.2022
  • LOADING...
เหตุการณ์ที่สุดแห่งปี

เหลือเวลาอีกแค่ไม่กี่อึดใจก็จะก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่กันแล้ว หลายคนอาจจะกำลังรู้สึกว่าเผลอแป๊บเดียวเวลาก็ล่วงเลยไปแล้วอีก 1 ปี ดังที่มีคนเคยกล่าวไว้ว่า ‘ช่วงเวลาแห่งความสุขมักผ่านไปไวเสมอ’

 

แต่หากทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบโลกในปี 2022 ซึ่งมีทั้งโรคระบาด การจากไปของบุคคลสำคัญอันเป็นที่รัก และคราบน้ำตาของประชาชนที่หลั่งไหลออกมาจากโศกนาฏกรรม ความขัดแย้ง ไฟสงคราม และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นติดๆ กันแบบไม่เว้นช่วงให้ได้พักหายใจ ก็อาจทำให้ปี 2022 นั้นเป็นช่วงที่เวลาที่ยาวนานเสียเหลือเกินสำหรับใครอีกหลายคน

 

อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าฟ้าหลังฝนนั้นจะงดงามกว่าที่เคย THE STANDARD ขอยกให้ปี 2022 เป็นปีแห่งการเรียนรู้ ที่หลายคน หลายประเทศ จะร่วมกันถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อสร้างอนาคตที่เข้มแข็งและสดใสกว่าสำหรับเราทุกคน

 

เหตุการณ์ที่สุดแห่งปี

 

รัสเซียเปิดฉากสงครามในยูเครน

 

เปิดศักราช 2022 มาได้ไม่ถึง 2 เดือนดี ก็เกิดเหตุการณ์ใหญ่ที่ทั่วโลกหวาดผวา เมื่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สั่งเปิดฉากสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ’ ในยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยได้ส่งทหารเข้ามาในพื้นที่ พร้อมถล่มยิงด้วยอาวุธใส่ยูเครนต่อเนื่องจนเวลาล่วงเลยมาสู่เดือนที่ 10 ทำให้มีทหารและพลเรือนจากทั้งสองฝ่ายต้องบาดเจ็บล้มตายลงอย่างน่าเศร้า ขณะที่ประชาชนหลายล้านคนต้องอพยพย้ายถิ่นฐานออกจากบ้านเกิดของตนเอง ท่ามกลางเสียงประณามและการกระหน่ำคว่ำบาตรจากนานาชาติ 

 

แต่สิ่งที่หลายคนคาดไม่ถึงนั้นคือ ชาติเล็กๆ อย่างยูเครนกลับมีความห้าวหาญและสามารถตั้งรับการรุกรานได้อย่างเหนียวแน่น (จากความช่วยเหลือของชาติพันธมิตรซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา) สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนที่ชัดเจนของเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกในปัจจุบันที่แตกออกเป็นสองขั้ว ซึ่งไม่มีใครรู้เลยว่าสงครามที่เกิดขึ้นนี้จะจบลงเช่นไร

 

ภาพ: Bulent Kilic / AFP


เหตุการณ์ที่สุดแห่งปี

 

ฝีดาษลิงระบาดทั่วโลก 

 

ในช่วงเวลาที่คนทั่วโลกเพิ่งจะเริ่มทำใจอยู่ร่วมกับโควิดได้ แต่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อในช่วงเดือนพฤษภาคมโลกเผชิญกับโรคระบาดใหม่อย่าง mpox หรือชื่อเก่าคือฝีดาษลิง โดยพบผู้ป่วยคลัสเตอร์แรกในอังกฤษเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ก่อนที่จะเริ่มแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก โชคดีที่ประเทศไทยของเราพบการระบาดในระดับที่ค่อนข้างบางเบาเมื่อเทียบกับหลายประเทศ

 

ภาพ: CDC/IMAGE POINT FR/BSIP/Universal Images Group via Getty Images


 

 

 

ประท้วงศรีลังกา

ศรีลังกาเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่แยกตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 ตามด้วยการประท้วงขับไล่รัฐบาลที่กินเวลายาวนานหลายเดือน ส่งผลให้สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศที่มีประชากรราว 22 ล้านคนตกอยู่ท่ามกลางวังวนแห่งความโกลาหลตลอดปี 2022

 

ประชาชนชาวศรีลังกาต่างโกรธแค้นรัฐบาลที่ไม่สามารถจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ได้ ส่งผลให้หลายครอบครัวต้องเผชิญกับความอดอยาก ขาดแคลนแม้กระทั่งอาหาร รวมถึงสิ่งของจำเป็นอย่างเชื้อเพลิงและยารักษาโรค จนนำไปสู่การลุกฮือประท้วงทั่วประเทศ 

 

จนที่สุดในวันที่ 9 กรกฎาคม ผู้ประท้วงชาวศรีลังกาหลายพันคนได้บุกเข้าไปในบ้านพักของโกตาบายา ราชปักษา ประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งในห้วงเวลานั้น ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งได้จุดไฟเผาบ้านพักส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห โดยผู้ประท้วงได้หลั่งไหลเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านพักผู้นำศรีลังกาทั้ง 2 แห่ง ภาพจากวิดีโอเผยให้เห็นผู้ประท้วงบางคนที่กำลังว่ายน้ำอย่างสบายใจในบ้านพักของประธานาธิบดี ขณะที่บางคนเล่นเกมกระดาน ณ Temple Trees ที่พำนักอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีศรีลังกา ส่วนคนอื่นๆ นอนเล่นอยู่บนโซฟาและเตียงนอนที่นุ่มสบายและหรูหรา สวนทางกับสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของประชาชน ก่อนที่ท้ายที่สุดราชปักษาจะลี้ภัยไปต่างประเทศในวันที่ 13 กรกฎาคม และยอมลาออกในเวลาต่อมา

 

ภาพ: Arun Sankar / AFP


 

 

น้ำท่วมใหญ่ปากีสถาน

 

นี่คือภาพนาทีที่เฮลิคอปเตอร์ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เข้ามอบความช่วยเหลือให้แก่ประชาชนชาวปากีสถานที่ไร้ที่อยู่อาศัย หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่จนพื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของประเทศจมหายไปอยู่ใต้บาดาล นับเป็นอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ที่มีประชาชนกว่า 230 ล้านคนต้องรับกรรมร่วมกัน โดยผู้เชี่ยวชาญพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ภาวะโลกรวน’ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปากีสถานเผชิญกับฝนที่ตกหนักผิดปกติ 

 

เหตุน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,760 คน ขณะภาพความทุกข์ยากมีให้เห็นทุกหย่อมหญ้า ผู้คนมากมายที่ไร้บ้าน ไร้น้ำดื่ม ไร้อาหารประทังชีวิต ต้องเดินเท้าเพื่อหาที่แห้งอาศัยอยู่ชั่วคราว หลายครอบครัวต้องใช้น้ำที่ท่วมขังมาดื่มประทังชีพ จนร่างกายติดเชื้อและป่วยในที่สุด

 

รายงานดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโลกปี 2021 โดย Germanwatch ระบุว่า ปากีสถานรั้งอันดับ 8 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความเสี่ยงด้านภาวะโลกรวน โดยภูมิภาคเอเชียใต้ถือเป็นจุดเสี่ยงสูงสุด ซึ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมีสิทธิ์ตายเพราะผลกระทบจากโลกรวนสูงกว่าคนในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกถึง 15 เท่า แต่น่าเศร้าว่าหากมาดูตัวเลขกันจริงๆ แล้ว ปากีสถานกลับเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของยอดการปล่อยก๊าซทั้งหมดทั่วโลก แต่กลับต้องมารับเคราะห์กรรมที่น่าเศร้าเช่นนี้ จนถึงกับมีผู้กล่าวว่า ปากีสถานคือเหยื่อจากการกระทำอันไร้ความรับผิดชอบของประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

 

ภาพ: Rizwan Tabassum / AFP


 

 

 

ลอบสังหารชินโซ อาเบะ

 

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 67 ปี หลังถูกลอบยิงขณะกำลังกล่าวปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาสูงให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ในเมืองนารา สร้างความตกตะลึงให้กับคนทั่วโลก

 

อาเบะถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่น ในช่วงปี 2006-2007 และปี 2012-2020 โดยเขาเป็นนายกฯ สายเหยี่ยวที่มุ่งมั่นสร้างให้ญี่ปุ่นมีบทบาทบนเวทีโลกมากขึ้น รวมถึงเป็นผู้สร้างยุทธศาสตร์ Abenomics ซึ่งเป็นนโยบายที่หวังกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่อยู่ในภาวะซบเซามายาวนาน 

 

เหตุอาชญากรรมจากอาวุธปืนถือว่าแทบไม่เคยเกิดขึ้นเลยในสังคมญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นประเทศที่มีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนเข้มงวดมาก เหตุการณ์ลอบสังหารอดีตผู้นำจึงถือเป็นเรื่องสะเทือนขวัญ และก่อให้เกิดคำถามที่ว่า แล้วความปลอดภัยของประชาชนและนักการเมืองอยู่ตรงไหน

 

ภาพ: Sam Panthaky / AFP


 

 

เจมส์ เว็บบ์ เผยภาพห้วงอวกาศลึกครั้งแรก 

 

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม NASA ได้แถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อเปิดเผยภาพแรกที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ของโครงการศึกษาดาราศาสตร์อินฟราเรดที่แพงที่สุดและทันสมัยที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเป็นภาพสีแบบ Deep Field ที่คมชัดและมีรายละเอียดมากที่สุดของกระจุกกาแล็กซี SMACS 0723 ซึ่งอยู่ห่างออกจากโลกออกไปถึง 4.6 พันล้านปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวโวลันใต้

 

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวถึงความสำเร็จนี้ว่า “ภาพเหล่านี้ได้ย้ำเตือนโลกว่า สหรัฐฯ สามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่นี้ได้ และยังย้ำเตือนคนอเมริกัน โดยเฉพาะลูกหลานของเราว่าไม่มีอะไรเกินความสามารถของเรา เราสามารถเห็นความเป็นไปได้ที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน เราสามารถไปในที่ที่ไม่มีใครเคยไปมาก่อนได้”

 

ภาพ: NASA via Getty Images


 

 

อังกฤษเปลี่ยนนายกฯ 3 คนใน 2 เดือน

 

ปี 2022 นับเป็นหนึ่งในปีประวัติศาสตร์ที่ต้องถูกจารึกลงหน้าการเมืองของอังกฤษว่ามีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีของประเทศถึง 3 คนด้วยกัน 

 

เริ่มจากวันที่ 7 กรกฎาคม บอริส จอห์นสัน ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟ หลังรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของจอห์นสัน พร้อมด้วยผู้ดำรงตำแหน่งอื่นๆ ในรัฐบาลรวมมากกว่า 40 ตำแหน่ง ยื่นหนังสือลาออก เพราะหมดความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของจอห์นสัน โดยสาเหตุหลักๆ มาจากการจัดการกรณีข้อกล่าวหาเรื่องการประพฤติผิดทางเพศของรองประธานวิปรัฐบาล ที่จอห์นสันแต่งตั้งขึ้น

 

หลังจากนั้นในวันที่ 8 กันยายน ลิซ ทรัสส์ ก็รับไม้ต่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไปอย่างเป็นทางการ หลังจากชนะโหวตจากสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟด้วยคะแนน 81,326 เสียงต่อ 60,399 เสียง แต่ท้ายที่สุดนั้นเธอก็ไม่สามารถต้านมรสุมและสารพัดแรงกดดันบนถนนการเมืองได้ไหว จากปมปัญหาด้านนโยบายเศรษฐกิจ จนทำให้ต้องประกาศลาออก สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นผู้นำอังกฤษที่มีอายุงานที่สั้นที่สุดเพียงแค่ 45 วันเท่านั้น

 

ต่อมาในวันที่ 25 ตุลาคม ริชี ซูนัค อดีตรัฐมนตรีคลังวัย 42 ปี จากพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ก็ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกฯ เชื้อสายอินเดียคนแรกของประเทศ และนายกฯ ที่มีอายุน้อยที่สุดในรอบเกือบ 200 ปี โดยเขาให้คำมั่นที่จะซ่อมแซมความเสียหายจากผลการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของทรัสส์ และยืนยันว่าจะวางนโยบายเศรษฐกิจโดยมีเสถียรภาพและความเชื่อมั่นเป็นหัวใจหลัก แต่อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นที่จับตาคือ ซูนัคเป็นนายกฯ ที่รวยที่สุดแห่งดาวนิงสตรีท ด้วยทรัพย์สินรวมกับภรรยาที่มากกว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เกือบ 2 เท่า ทำให้หลายคนแคลงใจว่าผู้นำที่รวยล้นฟ้าจะเข้าใจถึงความยากลำบากของประชาชนคนทั่วไปหรือไม่ 

 

ภาพ: Adrian Dennis / AFP และ Daniel Leal / AFP


 

 

 

แนนซี เพโลซี เดินทางเยือนไต้หวัน ส่งผลให้จีนเปิดฉากการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุด

 

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ได้ตัดสินใจเดินทางเยือนไต้หวัน ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยถึงแม้เพโลซีจะอยู่บนเกาะไต้หวันได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง แต่การเยือนครั้งนั้นก็ได้สร้างความขุ่นเคืองให้กับจีนอย่างมาก ถึงขั้นที่จีนเปิดฉากการซ้อมรบใหญ่ 6 จุดรอบพื้นที่เกาะไต้หวันต่อเนื่องนานหลายวัน อีกทั้งยังสั่งระงับนำเข้าสินค้ากว่า 2,000 รายการ เพื่อสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจของไต้หวันอีกทางหนึ่ง

 

แม้สุดท้ายการซ้อมรบจะปิดฉากลงโดยไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น แต่ความกังวลในประเด็นที่จีนอาจใช้ความรุนแรงเข้ายึดไต้หวันนั้นก็ยังไม่จางหาย ทำให้เกิดคำถามว่า ในอนาคตข้างหน้าจีนจะใช้กำลังเข้ารุกรานไต้หวันจริงอย่างที่เคยขู่ไว้หรือไม่

 

ภาพ: Chien Chih-Hung/Office of The President via Getty Images


 

 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต

 

นับเป็นข่าวเศร้าของชาวอังกฤษและคนทั่วโลก หลังเมื่อช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์ยืนยันว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตแล้ว ณ พระตำหนักบัลมอรัล สกอตแลนด์ ขณะทรงมีพระชนมพรรษา 96 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 70 ปี

 

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีบทบาทในการนำพาประเทศ และเป็นประจักษ์พยานต่อการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในยุคสมัยต่างๆ โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมาพระองค์ได้รับการถวายการรับใช้จากนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรทั้งสิ้น 15 คน และทรงได้พบกับประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา 13 คน อีกทั้งยังทรงเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง ตั้งแต่การล่มสลายของจักรวรรดิอังกฤษ ไปจนถึงการถือกำเนิดขึ้นของยุคโลกาภิวัตน์ ตลอดจนเรื่องราวทั้งดีและร้ายของราชวงศ์สหราชอาณาจักร ซึ่งพระองค์ยังทรงยืนหยัดอย่างมั่นคง และเป็นขวัญกำลังใจในการนำพาประเทศชาติผ่านพ้นวิกฤตและความไม่แน่นอนตลอดมา

 

ภาพ: Chris Jackson – WPA Pool/Getty Images


 

 

การตายของมาห์ซา อามินี ปลุกกระแสการประท้วงทั่วอิหร่าน

 

การเสียชีวิตของ มาห์ซา อามินี หญิงสาวชาวเคิร์ดวัย 22 ปี เมื่อวันที่ 16 กันยายน ได้โหมไฟให้เกิดกระแสการประท้วงเรียกร้องสิทธิสตรีปะทุขึ้นทั่วอิหร่าน โดยอามินีถูกตำรวจศีลธรรมจับกุม ฐานไม่สวมฮิญาบในที่สาธารณะ ก่อนที่จะนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ โดยมีรายงานบางแหล่งที่อ้างว่าเธอถูกตำรวจศีลธรรมทำร้ายร่างกายก่อนที่จะเข้าจับกุม ซึ่งค้านกับแถลงการณ์ของตำรวจที่ระบุว่าเธอเสียชีวิตเพราะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ขณะที่สังคมอิหร่านเองก็ไม่เชื่อในคำชี้แจงดังกล่าว

 

การเสียชีวิตของอามินีนำไปสู่การชุมนุมประท้วงตามเมืองต่างๆ ในอิหร่านและโลกออนไลน์ เพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพให้กับบรรดาผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในรัฐศาสนา สิ่งที่เราไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นก็เกิดขึ้น เมื่อบรรดาผู้ประท้วงทั้งหญิงและชายหลายคนพร้อมใจกันตัดผม โกนศีรษะ และเผาฮิญาบ เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าพวกเขาจะไม่ยอมถูกกดขี่อีกต่อไป ก่อนที่การประท้วงจะยกระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนลุกลามไปไกลกว่าประเด็นสิทธิสตรี แต่เป็นการขับไล่รัฐบาลเผด็จการ นับเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษที่ผู้นำอิหร่านต้องเผชิญ 

 

ภาพ: Ozan Kose / AFP


 

 

 

สีจิ้นผิงรวบอำนาจเด็ดขาดในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งปิดฉากลงเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม สะท้อนถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนของสีจิ้นผิง หลังเขาได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคเป็นสมัยที่ 3 ปูทางไปสู่การเป็นประธานาธิบดีต่อเนื่องรวม 15 ปี หรืออาจยาวนานไปตลอดชีวิตอย่างที่สื่อตะวันตกคาดการณ์ไว้ ทำให้สีจิ้นผิงเตรียมก้าวขึ้นเป็นผู้นำจีนที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดและมีอำนาจสูงสุดนับตั้งแต่ยุคของเหมาเจ๋อตุง

 

ขณะเดียวกันการกระชับอำนาจของสีจิ้นผิงได้ปรากฏชัดเจนในการประกาศรายชื่อ 7 คีย์แมนในโปลิตบูโร ซึ่งล้วนแวดล้อมไปด้วยพันธมิตรและคนใกล้ชิด ชัดเจนว่าเขาพยายามเดินหน้ารวบอำนาจไว้ในมืออย่างเด็ดขาด และเตรียมการอุดช่องโหว่ไม่ให้ใครขึ้นมาท้าทายได้ 

 

แต่ถึงเช่นนั้นหนทางสู่อำนาจของสีจิ้นผิงต่อจากนี้คงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะการที่เขากุมอำนาจไว้ยาวนานเกินไปได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะปัญญาชนและคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากเห็นลัทธิการบูชาตัวบุคคลในโลกการเมืองปัจจุบัน จนทำให้ในปีนี้เราได้เห็นภาพการประท้วงในจีนที่เกิดขึ้นหลายครั้ง รวมถึงการเขียนข้อความต่อต้านสีจิ้นผิงด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมจีน ซึ่งต้องรอดูกันต่อไปว่า ในปี 2023 ผู้นำจีนจะเลือกเดินหมากไปในทิศทางใด

 

ภาพ: Lintao Zhang / Getty Images


 

 

อีลอน มัสก์ ซื้อ Twitter

 

เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของ Tesla และ SpaceX ได้เข้าซื้อกิจการ Twitter เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากผ่านมหากาพย์ความพยายามในการเข้าซื้อกิจการมาตั้งแต่ต้นปี โดยมีรายงานว่าเขาได้ลงดาบไล่ พารัก อักราวาล ซีอีโอคนเก่าออก และโละผู้บริหารอีกหลายคนทันที โดยอ้างว่าผู้บริหารกลุ่มนี้หลอกลวงเขาและนักลงทุนคนอื่นเกี่ยวกับจำนวนบัญชีปลอมบน Twitter 

 

โดยหลังจากที่ปิดดีลได้แล้ว มัสก์ก็ได้เดินเข้าไปในสำนักงานของ Twitter พร้อมกับซิงก์ล้างหน้า ซึ่งเป็นการล้อสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า Let that sink in! ถ้าแปลตรงตัวก็คือ ‘เอาซิงก์เข้ามา’ แต่ถ้าแปลตามสำนวนคือ ‘ฉันกำลังเข้าสำนักงาน Twitter! ดูแล้วจำเอาไว้ด้วย!’ เรียกได้ว่าเป็นการเข้าซื้อกิจการที่แสบสันสุดๆ

 

ภาพ: Elon Musk/AFP via Getty Images


 

 

 

โศกนาฏกรรมอิแทวอน

 

คืนวันที่ 29 ตุลาคม อาจมีหลายคนที่หลับไม่ลง หลังได้เห็นข่าวสะเทือนใจจากเหตุการณ์ความแตกตื่นที่นำไปสู่การเสียชีวิตของผู้คนนับร้อยรายในงานปาร์ตี้ฮาโลวีนในย่านอิแทวอนของเกาหลีใต้ หลังบรรดานักท่องเที่ยวที่อัดอั้นจากสถานการณ์โควิดมายาวนาน แห่กันไปฉลองงานปาร์ตี้ฮาโลวีนในย่านดังกล่าว ซึ่งมีลักษณะเป็นตรอกซอยเล็กๆ จนผู้คนแน่นขนัดเกินกว่าพื้นที่จะรับไหว

 

และแล้วก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน เมื่อผู้คนจำนวนมากที่เบียดเสียดกันอยู่เกิดล้มทับและเหยียบกันจนขาดอากาศหายใจ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 158 ราย และบาดเจ็บอีกหลายสิบ โดยคลิปวิดีโอที่แชร์กันในโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นเจ้าหน้าที่และพลเมืองดีที่พยายามทำ CPR ให้กับผู้คนจำนวนมากที่ล้มลงหมดสติบนพื้นถนน จนแทบไม่น่าเชื่อว่านี่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในย่านท่องเที่ยวชื่อดังของกรุงโซล นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในรอบเกือบทศวรรษของเกาหลีใต้ หลังจากเกิดเหตุเรือเซวอลล่มระหว่างเดินทางออกจากอินชอนสู่เกาะเชจูเมื่อปี 2014 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 รายในเหตุการณ์ครั้งนั้น 

 

ภาพ: Anthony Wallace/AFP via Getty Images


 

 

ที่ประชุม COP27 เห็นพ้องตั้งกองทุน Loss and Damage 

 

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 หรือ COP27 เห็นพ้องให้มีการจัดตั้งกองทุนพิเศษว่าด้วยการรับมือกับความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Loss and Damage Fund) เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนให้มีกำลังรับมือกับภัยพิบัติจากภาวะโลกรวน

 

โดยบรรยากาศในที่ประชุมนั้น เหล่าผู้แทนได้ปรบมือเสียงดังกึกก้องหลังจากที่ประชุมมีฉันทามติให้จัดตั้งกองทุนดังกล่าว จากที่ใช้เวลาเจรจากันนานถึง 2 สัปดาห์ โดยที่ผ่านมานั้นฝั่งของประเทศกลุ่มเปราะบางและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมมองว่าประเทศร่ำรวยเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาโลกรวน เนื่องจากมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องมานานหลายปี พวกเขาจึงสมควรที่จะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่มียอดการปล่อยคาร์บอนต่ำกว่ามาก

 

แม้วาระดังกล่าวจะไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาหารืออย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงแรกของการประชุม COP27 ในอียิปต์ แต่ในท้ายที่สุดนั้นความพยายามร่วมกันของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการผลักดันให้ประเด็นด้านกองทุนดังกล่าวเป็นวาระสำคัญของการประชุม ก็สามารถเอาชนะการต่อต้านจากประเทศร่ำรวยได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศให้กับโลกใบนี้

 

ภาพ: Mohamed Abdel Hamid/Anadolu Agency via Getty Images


 

 

อาร์เจนตินาคว้าแชมป์บอลโลก

 

ส่งท้ายปี 2022 กับข่าวที่ทำให้หลายคนยิ้มได้ ในศึกการแข่งขันฟุตบอลโลก FIFA World Cup Qatar 2022 นัดชิงเมื่อค่ำคืนวันที่ 18 ธันวาคม ที่ใครๆ ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่านี่คือแมตช์ประวัติศาสตร์ที่ดุเผ็ดเผ็ดมันจนถึงวินาทีสุดท้ายจริงๆ โดยการแข่งขันจบลงด้วยชัยชนะของอาร์เจนตินา ที่เอาชนะแชมป์เก่าอย่างฝรั่งเศสในช่วงดวลจุดโทษ 4-2 หลังจากที่เสมอกันด้วยคะแนน 3-3 จากการแข่งขันที่ต่อเวลาพิเศษไปถึง 120 นาที 

 

ชัยชนะครั้งนี้นอกจากจะเป็นการพาทีมชาติอาร์เจนตินากลับมาคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 3 ในรอบ 36 ปี ยังเป็นการอำลาแมตช์ฟุตบอลโลกครั้งสุดท้ายของลิโอเนล เมสซี อย่างยิ่งใหญ่และน่าประทับใจ 

 

ภาพ: Marvin Ibo Guengoer – GES Sportfoto/Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X