นักดาราศาสตร์ตรวจพบหลุมดำยักษ์ที่มีระยะห่างไกลโลกมากที่สุดเท่าที่เคยมีบันทึกมา เล็งศึกษาพัฒนาการยุคเริ่มต้นของจักรวาล
หลุมดำแห่งนี้เป็น ‘ควอซาร์’ หรือหลุมดำที่มีมวลมหาศาลล้อมรอบจานมวลรวมที่มาจากก๊าซร้อนจัด พร้อมด้วยการปลดปล่อยพลังงานและลำอนุภาคออกมาในทิศตั้งฉากด้วย จนถือเป็นวัตถุที่มีแสงสว่างอันดับต้นๆ ในเอกภพ
ข้อมูลบนวารสาร Nature และ The Astrophysical Journal Letters เผยว่า หลุมดำแห่งนี้ห่างจากโลกประมาณ 13,100 ล้านปีแสง ขณะที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าบิ๊กแบงเกิดขึ้นราว 13,800 ล้านปีก่อน
ควอซาร์นี้จึงกำเนิดขึ้นในสมัยที่จักรวาลมีอายุประมาณ 700 ล้านปี หรือตั้งแต่สมัยจักรวาลยังเป็นเพียงทารกเท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์ต่างหวังให้มีการค้นพบควอซาร์ที่ไกลห่างจากโลกมากกว่านี้เพื่อใช้ในการศึกษาจักรวาลในกาลแรก อย่างไรก็ตาม บราม เวเนแมนส์ นักวิจัยหลุมดำผู้มีส่วนร่วมในการค้นพบควอซาร์แห่งนี้กล่าวว่า “เราได้เรียนรู้หลายอย่างเกี่ยวกับยุคเริ่มต้นของจักรวาลจากหลุมดำแห่งนี้แล้ว แต่แน่นอนว่าคุณย่อมอยากรู้มากกว่านี้”
แม้จะสว่างมาก แต่การค้นหาผ่านแสงที่มองเห็นได้นั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากระยะห่างที่มี ทำให้นักวิจัยต้องใช้เครื่องมืออินฟราเรดเข้ามาช่วย
คณะนักดาราศาสตร์เหล่านี้ยังเชื่ออีกว่า ควอซาร์ที่เพิ่งค้นพบเกิดขึ้นในช่วงจักรวาลเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการศึกษาหลุมดำยักษ์แห่งนี้ทำให้เห็นว่าไฮโดรเจนที่รายล้อมอยู่ข้างเคียงยังมีฐานะเป็นกลางอยู่
ไฮโดรเจนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงสภาพจากเป็นกลางมามีประจุในยุคแห่งการแตกตัวเป็นไอออนอีกครั้ง (Epoch of Reionization) โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่ายุคนี้มีขึ้นหลังบิ๊กแบงเกิดขึ้นได้ 500-1,000 ล้านปีแล้ว ซึ่งประมาณการณ์ได้ว่าควอซาร์นี้มีขึ้นระหว่างยุคดังกล่าว
อ้างอิง: