×
SCB Omnibus Fund 2024

Morning Brief (23 ธ.ค. 2563)

23.12.2020
  • LOADING...
Morning Brief (23 ธ.ค. 2563)

HIGHLIGHTS

  • Goldman Sachs มองความเสี่ยง 3 อย่างต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ 
  • วัคซีน ยังมีประสิทธิภาพสูงต่อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ 
  • ดัชนี S&P 500 ร่วงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน แม้ว่าสภาคองเกรสโหวตผ่านร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • ตลาดหุ้นเอเชีย ปรับตัวลดลงแรง หวั่นโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่
  • ราคาทองคำ ปรับตัวลดลงมาค่อนข้างแรง จากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า

 

Goldman Sachs มองความเสี่ยง 3 อย่างต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ 

วาณิชธนกิจชื่อดังของสหรัฐฯ มีมุมมองที่เป็นบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปี 2021 แต่ก็ไม่ลืมที่จะระบุความเสี่ยงไว้ด้วยเช่นกัน โดยทาง Goldman Sachs มองความเสี่ยงหลักๆ 3 ไว้อย่าง ดังนี้

 

  1. การกระจายวัคซีนเกิดปัญหาติดขัดและส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 

 

  1. งบกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังและการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) ส่งผลให้เงินเฟ้อและผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาด 

 

  1. การที่สภาแตกแยกอาจส่งผลให้นโยบายต่างๆ ทำได้ยากและไม่ชัดเจน

 

วัคซีนยังมีประสิทธิภาพสูงต่อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ 

วิน กุปตา จากสถาบันสุขภาพของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้ออกมาเผยว่า ตัวเขาเชื่อว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพสูงสำหรับต่อสู้กับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากว่า โควิด-19 สายพันธุ์ที่เกิดใหม่ มีแนวโน้มที่จะมีความคล้ายคลึงกันในทางพันธุกรรมกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้

 

ประสิทธิภาพของวัคซีนในการผลิตแอนติบอดีเพื่อโจมตีและฆ่าโควิด-19 นั้นมีประสิทธิภาพสูง และเขาไม่ได้คาดหวังว่า การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในระดับพันธุกรรมจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนในตอนนี้

 

ทางซีอีโอของ BioNTech ก็มีมุมมองไปในทิศทางเดียวกัน โดยเชื่อว่า วัคซีนที่บริษัทพัฒนาขึ้นร่วมกัน Pfizer มีประสิทธิภาพในการป้องกันต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ โดยกล่าวว่า “โปรตีนบนไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มีความใกล้เคียงกับสายพันธุ์ก่อนหน้า 99% ดังนั้น BioNTech มีความเชื่อมั่นทางวิทยาศาสตร์ว่าวัคซีนของเรามีประสิทธิภาพในการป้องกัน”

 

ดัชนี S&P 500 ร่วงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน แม้ว่าสภาคองเกรสโหวตผ่านร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงในภาพรวม ถึงแม้สภาคองเกรสจะโหวตผ่านร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังที่รอกันมาพักใหญ่แล้วก็ตาม โดยดัชนี Dow Jones ปรับตัวลดลงแรงที่สุด ด้านดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน มีเพียงดัชนี Nasdaq 100 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี

 

ดัชนีถูกกดดันจากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สำรวจโดย Conference Board ซึ่งออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด และจะส่งผลกระทบไปที่การจับจ่ายในอนาคต และตัวเลขยอดค้าปลีก ด้านความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ

 

  1. ถึงแม้จะเข้าสู่ช่วงท้ายของการบริหารจากคณะทำงานของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ยังคงนโยบายกดดันจีนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ไมค์ ปอมเปโอ รมต.ต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้เพิ่มข้อจำกัดในการออกวีซ่าให้เจ้าหน้าที่ของจีน ซึ่งเป็นบุคคลที่เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับการปราบปรามชนกลุ่มน้อย ผู้ประท้วง และอื่นๆ ต่อรัฐบาลจีน

  2. ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ครั้งสุดท้าย ขยายตัว 33.4% ดีกว่าที่คาดไว้ที่ 33.1%

  3. ประกาศตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สำรวจโดย Conference Board หรือ CB Consumer Confidence ประจำเดือนธันวาคมที่ 88.6 จุด น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 97.0 จุด

  4. ประกาศตัวเลขยอดขายบ้านมือ 2 หรือ Existing Home Sales ประจำเดือนพฤศจิกายนที่ 6.69 ล้านหน่วย น้อยกว่าที่คาดไว้เล็กน้อยที่ 6.70 ล้านหน่วย

 

ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงแรง หวั่นโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงกันค่อนข้างแรงจากความกังวลในเรื่องโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่แพร่กระจายได้เร็วขึ้น แต่การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นในเอเชียไม่ได้รุนแรงเหมือนที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นยุโรปในคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา

 

ตลาดหุ้นจีน CSI300 -82.07 จุด -1.63% หุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มผู้ผลิตสุราปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ค่อนข้างดี รวมถึงผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีรายใหญ่บางราย จึงช่วยให้ดัชนีไม่ปรับตัวลดลงแรงไปกว่านี้ ส่วนกลุ่มสถาบันการเงินและยานยนต์ปรับตัวลดลงค่อนข้างแรง นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิออกมาอีกครั้งที่ 548 ล้านดอลลาร์

 

ตลาดหุ้นฮ่องกง Hang Seng -187.43 จุด -0.71% ปัจจัยที่เข้ามากดดันตลาดหุ้นฮ่องกงก็เป็นปัจจัยเดียวกับที่กดดันตลาดหุ้นอื่นๆ จากเรื่องโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้หุ้นในกลุ่มสถาบันการเงินที่มีสัดส่วนมากที่สุดปรับตัวลดลงกันค่อนข้างแรงจากความกังวลในเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงกลุ่มเฮลท์แคร์และอสังหาริมทรัพย์ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น Nikkei -278.03 จุด -1.04% ดัชนีของตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลดลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันตาม Sentiment ของตลาดหุ้นทั่วโลกที่มีความกังวลในประเด็นโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ปรับตัวลดลงกันทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ขนส่งมวลชน และเทคโนโลยี ส่วนกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อย ค่าเงินเยนทรงตัวที่ระดับ 103.50 เยน ถึงแม้ความเสี่ยงของตลาดการเงินโลกจะมากขึ้น

 

ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ KOSPI -44.97 จุด -1.62% ลดลงตามตลาดหุ้นในภูมิภาค ปัจจัยหลักที่เข้ามากดดันตลาดหุ้นเกาหลีใต้ คือ 

 

  1. ความกังวลในเรื่องโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ 

 

  1. การออกนโยบาย Social Distancing ที่เข้มข้นขึ้นในเกาหลีใต้ ที่รวมไปถึงการปิดสกีรีสอร์ตและพื้นสำหรับเล่นกีฬาฤดูหนาว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 จนถึงวันที่ 3 มกราคม 2021 

 

  1. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องอีก 135 ล้านดอลลาร์ ส่วนหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีผู้ให้บริการสังคมออนไลน์สามารถปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อย

 

ตลาดหุ้นอินเดีย Nifty 50 +137.90 จุด +1.03% หลังจากที่ปรับตัวลดลงแรงกว่า 3% ในตลาดวันจันทร์ที่ผ่านมา สวนทางกับตลาดหุ้นชั้นนำส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง 

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ

 

Deloitte ออกมาเผยว่า เศรษฐกิจอินดียในปี 2021 จะเติบโตได้ถึง 10% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 

 

  1. กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่งสัญญาณการฟื้นตัว ซึ่งจะทำให้การจ้างงานเพิ่มมากขึ้น 

 

  1. ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต หรือ Manufacturing PMI ขยายตัวสู่ระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 

 

  1. ยอดขายของรถยนต์ที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการเหล็กและน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น 

 

  1. รัฐบาลสามารถเก็บภาษี GST (Goods and Services Tax) ได้มากขึ้น

 

ราคาทองคำปรับตัวลดลงมาค่อนข้างแรง จากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า

ราคาทองคำปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงมาปิดที่ 1,860 ดอลลาร์ -0.85% จากความกังวลในเรื่องโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ดัชนี US Dollar Index ปิดที่ 90.63 จุด +0.65%

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising