เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (20 ส.ค.) องค์กรเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าอย่าง Traffic เผยแพร่รายงานสถานการณ์ของสัตว์ที่บ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอย่างเสือว่า นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีเสือถูกฆ่าและลักลอบค้าผิดกฎหมายกว่า 2,300 ตัว โดยเฉลี่ยสามารถตรวจยึดซากเสือได้มากกว่า 120 ตัวต่อปี
ด้าน Kanitha Krishnasamy หัวหน้าทีม Traffic ที่ดูแลพื้นที่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า ในช่วงปี 1900 คาดการณ์ว่ามีเสือสายพันธ์ุต่างๆ อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าทั่วโลกมากกว่า 100,000 ตัว ก่อนที่จะประเมินว่าเหลือเสือที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติไม่เกิน 3,900 ตัวในปัจจุบัน
ที่ผ่านมามีการตรวจพบซากเสือ 2,359 ตัว ในช่วงปี 2000-2018 ใน 32 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกชำแหละแยกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ โดยมีการตรวจพบมากสุดในอินเดีย (540 ตัว), ไทย (254 ตัว), เนปาล (186 ตัว), จีน (175 ตัว) และเวียดนาม (162 ตัว)
ปัจจุบันมีความพยายามผลักดันการประกอบธุรกิจทำฟาร์มเสือ โดยกลุ่มผู้สนับสนุนระบุว่าสิ่งนี้จะช่วยลดแรงกดดันและการลักลอบค้าสัตว์ชนิดนี้ ในขณะที่กลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ระบุว่าการทำฟาร์มเสือเป็นเพียงความพยายามหาความชอบธรรมในการซื้อขายสัตว์หรือชิ้นส่วนของสัตว์ รวมถึงสร้างตลาดใหม่ๆ เท่านั้น โดยการทำฟาร์มเสือนี้ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่จะถูกอภิปรายในที่ประชุม CITES เพื่อตรวจสอบไม่ให้ฟาร์มเหล่านี้เพาะเลี้ยงเสือและป้อนสินค้าเข้าสู่ตลาดมืดและลักลอบค้าสัตว์ผิดกฎหมาย
ภาพ: Dai Wei / AFP / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: