×

กระทรวงสาธารณสุขเตือน หากรู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ เสี่ยงเป็นวัณโรคปอด

28.06.2019
  • LOADING...
กระทรวงสาธารณสุข

สืบเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา กระแสของอาการวัณโรคกำลังถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง ภายหลังการเสียชีวิตของ บุตรศรัณย์ ทองชิว หรือน้ำตาล เดอะสตาร์ 5 หลังการตรวจพบเชื้อวัณโรคหลังโพรงจมูก

 

โดยเมื่อวานนี้ (27 มิ.ย.) นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการค้นหา คัดกรอง ป้องกัน ดูแลรักษา และควบคุมวัณโรค เพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560-2561 ได้มีการคัดกรองค้นหาในกลุ่มเสี่ยงประมาณ 5 ล้านคน ได้แก่ ผู้ต้องขัง, ผู้ติดเชื้อเอชไอวี, ผู้สัมผัสร่วมบ้าน, ผู้สูงอายุที่มีโรค, ผู้ป่วยเบาหวาน, แรงงานข้ามชาติ และบุคลากรสาธารณสุข พบผู้ป่วยวัณโรคกว่า 22,784 ราย และส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาเป็นลำดับต่อไป

 

ซึ่งในปี 2562 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมายลดผู้ป่วยรายใหม่ให้เหลือ 88 คนต่อประชากร 1 แสนคนในปี 2564 จากที่พบ 156 คนต่อประชากร 1 แสนคนในปี 2560

 

“ขอให้ประชาชนสังเกตอาการตนเองและคนในครอบครัว หากมีอาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหงื่อออกตอนกลางคืน หรืออยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรค โดยเฉพาะเด็ก ให้ไปรับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หากป่วยจะได้รับการรักษา ซึ่งโรคนี้มียารักษาหายขาด จะได้ผลดีถ้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน ร่วมกับการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีโปรตีนและวิตามิน เพิ่มภูมิต้านทานร่างกาย” นายแพทย์สุขุมกล่าว

 

ขณะเดียวกัน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่าวัณโรคเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส  (Mycobacterium tuberculosis) ส่วนใหญ่ประมาณ 80% เกิดที่ปอด และสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น เยื่อหุ้มสมอง ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ฯลฯ

 

โดยกลุ่มที่รับเชื้อได้ง่ายคือเด็ก จะรับเชื้อจากผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรคระยะแพร่เชื้อ โดยเชื้อจะออกมากับการไอจาม ในห้องที่ทึบหรืออับแสง เชื้อวัณโรคอาจมีชีวิตอยู่ได้ถึง 1 สัปดาห์ ถ้าเสมหะที่มีเชื้อลงสู่พื้นที่ไม่มีแสงแดด เชื้ออาจอยู่ในเสมหะแห้งได้นานถึง 6 เดือน แพร่กระจายอยู่ในอากาศและเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ จะทราบว่าติดเชื้อวัณโรคได้จากการตรวจเสมหะ โดยการทดสอบทูเบอร์คูลินจะให้ผลบวก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเคยติดเชื้อตอนเป็นเด็ก ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการของโรค ได้แก่ การสัมผัสกับผู้ติดเชื้อจนทำให้ได้รับเชื้อเพิ่มขึ้น ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเฉพาะการติดเชื้อ HIV ผู้ติดยาเสพติด และโรคขาดอาหาร

 

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวเสริมต่อไปว่าทุกวันนี้ประเทศไทยจะฉีดวัคซีน BCG ให้เด็กทุกคนตั้งแต่แรกเกิดตามคำแนะนำองค์การอนามัยโลก ซึ่งมีผลชัดเจนในการป้องกันวัณโรคชนิดรุนแรงแบบแพร่กระจายและวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง พร้อมบอกสถานการณ์วัณโรคในประเทศไทย ล่าสุดพบผู้ป่วย 108,000 รายต่อปี และเสียชีวิตสูงถึง 12,000 ราย

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X