คำว่า ‘ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง’ กลับมาอีกครั้งในข่าวผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง เพราะขั้นตอนการสอบสวนโรคเหมือนกับโควิดในช่วงแรก นั่นคือการถามไทม์ไลน์ของผู้ป่วยในระยะแพร่เชื้อคือ ตั้งแต่เริ่มมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ผื่น จนถึงระยะที่ผื่นตกสะเก็ด เพื่อติดตามผู้สัมผัสให้สังเกตอาการตนเอง 21 วัน หากมีอาการจะได้ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อ
แต่สำหรับโรคฝีดาษลิงมีความอ่อนไหวมากกว่า เพราะโรคนี้ติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงเป็นหลัก ผู้สัมผัสจึงเป็นผู้ที่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น คู่นอน หรือพนักงานบริการ ผู้ป่วยจึงอาจลังเลที่จะบอกกับทีมสอบสวนโรค วิธีการที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ การให้ผู้ป่วยแจ้งกับผู้สัมผัสเองเหมือนกับการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น และสังคมจะต้องไม่ตีตราผู้ป่วย
ผู้สัมผัสโรคฝีดาษลิงแบ่งตามวิธีการติดต่อออกเป็น 2 วิธี ได้แก่ การสัมผัส (Contact) และละอองฝอย (Droplets) และตามแนวทางเฝ้าระวังและสอบสวนโรคของกรมควบคุมโรคจะแบ่งความเสี่ยงออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ ดังนี้
การสัมผัส
ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ได้แก่
- ผู้ที่สัมผัสผิวหนัง เยื่อบุ (เช่น ตา ปาก) หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น จับมือ คลุกคลี
- ผู้ที่สัมผัสเสื้อผ้า/สิ่งของที่อาจปนเปื้อนเชื้อ เช่น เสื้อผ้า ที่นอน ของใช้ของผู้ป่วย หรือถูกของมีคมทิ่มตำ
การสัมผัสละอองฝอย
ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ได้แก่
- ผู้สัมผัสร่วมบ้าน หรือพักค้างคืนกับผู้ป่วยอย่างน้อย 1 คืน
- ผู้ที่อยู่ใกล้กับผู้ป่วย หรือนั่งร่วมยานพาหนะในระยะ 1 เมตร
- ผู้ที่ทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดละอองฟุ้งจากคราบเชื้อโรค เช่น การสะบัดผ้าปูที่นอนหรือเสื้อผ้า
ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ได้แก่
- ผู้สัมผัสที่สวมหน้ากากอนามัยและป้องกันดวงตา เช่น แว่นครอบตา (Goggle) หรือเฟซชิลด์
- ถ้าผู้ป่วยสวมหน้ากากจะถือว่าไม่มีความเสี่ยง
การปฏิบัติตัวของผู้สัมผัส
ผู้สัมผัสโรคฝีดาษลิงไม่ต้องกักตัวเหมือนโควิด แต่จะสังเกตอาการตนเอง (Self Monitoring) จนครบ 21 วันนับจากวันที่สัมผัสผู้ป่วยวันสุดท้าย หากมีอาการผิดปกติให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อ
สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะได้รับการติดตามจากเจ้าหน้าที่ (Active Monitoring) ทุก 7 วัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับหญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่แออัด นอกจากนี้ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ยังจัดหาวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงให้กับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงด้วย
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
อ้างอิง:
- แนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) 27 กรกฎาคม 2565: https://ddc.moph.go.th/monkeypox/file/guidelines/g_medical/guidelines_270765.pdf
- Surveillance, case investigation and contact tracing for monkeypox: interim guidance, 24 June 2022: https://www.who.int/publications/i/item/WHO-MPX-Surveillance-2022.2
- Monitoring People Who Have Been Exposed: https://www.cdc.gov/poxvirus/monkeypox/clinicians/monitoring.html