ก่อนหน้านี้ ‘โรคฝีดาษลิง’ เป็นโรคประจำถิ่นทางตอนกลางและตะวันตกของทวีปแอฟริกา แต่ในปีนี้กลับพบรายงานผู้ติดเชื้อหลายสิบคนในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2022 พบผู้ติดเชื้อยืนยันแล้วประมาณ 80 ราย และผู้สงสัยติดเชื้ออีกมากกว่า 50 รายใน 11 ประเทศนอกทวีปแอฟริกา เช่น สหราชอาณาจักร สเปน โปรตุเกส และสหรัฐอเมริกา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานด้านสาธารณสุขกำลังสอบสวนหาสาเหตุของการระบาดในครั้งนี้
เรารู้อะไรแล้วบ้างเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง
- โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ตั้งชื่อจากการค้นพบไวรัสครั้งแรกในลิงในห้องปฏิบัติการเมื่อปี 1958 แต่โรคนี้มี ‘สัตว์ฟันแทะ’ เป็นแหล่งรังโรค ในทวีปแอฟริกาพบการติดเชื้อนี้ในสัตว์หลายชนิด เช่น กระรอก หนู และลิงชนิดต่างๆ สำหรับการระบาดในอเมริกาเมื่อปี 2003 คาดว่าเกิดจากการสัมผัสแพรรีด็อก (สัตว์เลี้ยงในกลุ่มกระรอก) ที่เลี้ยงใกล้กับสัตว์ฟันแทะที่นำเข้าจากประเทศกานา ในครั้งนั้นพบผู้ติดเชื้อยืนยันและสงสัยรวม 47 ราย
- โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อ ‘ไวรัส’ ในกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) จึงมีอาการคล้ายกันคือ เริ่มจากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และต่อมน้ำเหลืองโต จากนั้นมีผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า (95%) และฝ่ามือฝ่าเท้า (75%) เยื่อบุภายในปาก (70%) อวัยวะเพศ (30%) และเยื่อบุตา (20%) ลักษณะผื่นจะคล้ายกับโรคสุกใส คือเริ่มจากผื่นราบ ผื่นนูน กลายเป็นตุ่มน้ำใส ตุ่มน้ำเหลือง และตกสะเก็ดไปในที่สุด
- โรคฝีดาษลิงติดต่อจาก ‘สัตว์ไปสู่คน’ ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับเลือด น้ำเหลือง หรือผื่นของสัตว์ที่ติดเชื้อ การระบาดในทวีปแอฟริกาจึงมักพบในผู้ที่ชำแหละเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อหรือรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก นอกจากนี้ยังติดต่อจาก ‘คนไปสู่คน’ ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากการไอจาม ผื่น หรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายผ่านแผลที่ผิวหนัง ทางเดินหายใจ และเยื่อบุตา/จมูก/ปาก
- เชื้อมีระยะฟักตัว 6-13 วัน แต่สั้นที่สุด 5 วัน และนานที่สุด 21 วัน โดยจะเริ่มมีผื่นภายใน 1-3 วันหลังจากมีไข้ โรคนี้สามารถ ‘หายได้เอง’ ภายใน 2-4 สัปดาห์โดยไม่ต้องใช้ยา แต่อาจมีอาการรุนแรงในเด็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ การติดเชื้ออื่นแทรกซ้อน ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้อมูลจากการระบาดที่ผ่านมาพบอัตราป่วยตายอยู่ระหว่าง 0-11% และข้อมูลล่าสุดอัตราป่วยตายประมาณ 3-6%
- เราสามารถป้องกันการติดเชื้อได้โดย ‘หลีกเลี่ยงการสัมผัส’ สัตว์ที่มีอาการป่วยหรือตายในพื้นที่ระบาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับวัสดุที่ปนเปื้อนเชื้อ แยกตัวผู้ป่วยจากผู้อื่น ‘ล้างมือ’ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์หลังสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อหรือคน บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยควรสวมชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) เท่ากับว่าสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ป้องกันโรคโควิดสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้
- สำหรับวัคซีนป้องกันโรค มีข้อมูลจากหลายการศึกษาพบว่า ‘วัคซีนโรคฝีดาษ’ สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ประมาณ 85% แต่เนื่องจากโรคฝีดาษถูกกำจัดไปตั้งแต่ปี 1980 จึงเป็นระยะเวลามากกว่า 40 ปีแล้วที่ไม่มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้ ส่วนในอเมริกามีวัคซีน Imvamune หรือ Imvanex ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) สำหรับป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ และอยู่ระหว่างการศึกษาประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อจากการทำงาน
- ผู้ติดเชื้อที่พบนอกทวีปแอฟริกา แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ‘ผู้ติดเชื้อนำเข้า’ (Imported Case) และ ‘ผู้ติดเชื้อภายในประเทศ’ (Locally Acquired)
-
- สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UKHSA) รายงานผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2022 เป็นผู้ป่วยที่มีประวัติเดินทางกลับมาจากประเทศไนจีเรีย แต่ต่อมามีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยไม่มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยรายแรก
- ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) รายงานผู้ติดเชื้อรายแรกที่รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2022 เป็นผู้ป่วยที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากแคนาดา โดยไม่พบความเชื่อมโยงกับการระบาดในทวีปยุโรป
- “โรคฝีดาษลิงแพร่ผ่านการสัมผัสใกล้ชิดหรือสัมผัสเสื้อผ้าที่ผู้ป่วยใช้ อย่างไรก็ตามไวรัสมักแพร่ไม่ง่ายระหว่างคน ความเสี่ยงต่อประชากรสหราชอาณาจักรถือว่าต่ำ” UKHSA ประเมินสถานการณ์ ทั้งนี้เนื่องจากพบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ในกลุ่มชายรักชายจึงมีข้อสันนิษฐานว่าไวรัสอาจแพร่ผ่านกิจกรรมในกลุ่มนี้ และประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มชายรักชายสังเกตอาการผื่นผิดปกติตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ
- เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2022 องค์การอนามัยโลกแถลงว่ากำลังจัดประชุมคณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์และเทคนิคด้านภัยอันตรายจากโรคติดเชื้อ (STAG-IH) เพื่อกำหนดแนวทางรับมือการระบาดของโรคนี้ และระบุในตอนท้ายของแถลงการณ์ว่า การตีตรา (Stigmatizing) กลุ่มบุคคลเนื่องด้วยโรคเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะผู้ติดเชื้อจะไม่กล้ามารับการรักษาและส่งผลให้ไม่สามารถตรวจพบการแพร่ระบาดได้
- โรคฝีดาษลิงกำลังระบาดในหลายประเทศในยุโรปและอเมริกา สิ่งที่เรายังไม่รู้คือผู้ติดเชื้อภายในประเทศกลุ่มแรกเริ่มติดเชื้อมาจากแหล่งใด แพร่กระจายเป็นวงกว้างแค่ไหน และในแต่ละประเทศเชื่อมโยงกันหรือไม่ การเดินทางที่เพิ่มขึ้นในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อมากขึ้น แต่โรคนี้มีความรุนแรงต่ำกว่าโรคฝีดาษ และป้องกันด้วยสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะการล้างมือ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วยหรือคนโดยตรง
อ้างอิง:
- Monkeypox https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/monkeypox
- Monkeypox https://www.cdc.gov/poxvirus/monkeypox/index.html
- Monkeypox goes global: why scientists are on alert https://www.nature.com/articles/d41586-022-01421-8
- t-updates
- WHO working closely with countries responding to monkeypox https://www.who.int/news/item/20-05-2022-who-working-closely-with-countries-responding-to-monkeypox