×

Money Heist: Korea – Joint Economic Area ความดีหรือเลว? การปล้นโรงกษาปณ์บนความพยายามรวมชาติเกาหลี

24.06.2022
  • LOADING...
Money Heist Korea Joint Economic Area

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ความรู้สึกแรกหลังดู Money Heist: Korea – Joint Economic Area ในพาร์ตแรก 6 อีพีจบ ก็ต้องบอกว่า ซีรีส์เกาหลีเก่งมากจริงๆ ในการรีเมก เลือกขยี้ปมชีวิตตัวละครได้แตกต่าง ขณะเดียวกันฉากแอ็กชันก็ลุ้นใจขาด
  • ตัวละครที่รายล้อมอยู่ใน Money Heist: Korea จึงมีมิติชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย ยืนอยู่บนประสบการณ์ที่ได้รับแตกต่างกันไป แต่พวกเขามี ‘ความปรารถนา’ ร่วมกันคือ การหลุดพ้นจากความยากลำบากและความยากจน

Money Heist: Korea – Joint Economic Area ที่จะออกอากาศพร้อมกันทั่วโลกวันที่ 24 มิถุนายนนี้ เป็นซีรีส์เกาหลีรีเมกจากเวอร์ชันต้นฉบับของสเปนอันลือลั่น La Casa de Papel หรือ Money Heist (2017) งานสร้างของโปรดิวเซอร์ Alex Pina ซึ่งเขาเองเป็นคนที่ยอมให้มีการรีเมกเป็นเวอร์ชันเกาหลี และยังเปิดโอกาสให้เรื่องราวพัฒนาต่อยอดไปได้จากเดิม

 

และใครที่กำลังตัดสินใจว่าจะดูดีไหม ขอบอกว่าถ้าคุณยังไม่เคยดู Money Heist มาก่อน การเริ่มด้วยเวอร์ชันเกาหลีสนุกเลย ทั้งยังน่าจะได้รสชาติแบบเอเชียที่คุ้นเคย ส่วนใครที่เป็นแฟนประจำมาตั้งแต่เวอร์ชันสเปนแล้ว ก็อยากแนะนำให้ดู เพราะเกาหลีเลือกใช้โครงเรื่องเดิมมาเล่าใหม่อย่างชาญฉลาด ปรับเปลี่ยนเรื่องราวให้สอดคล้องกับความพยายามรวมประเทศเกาหลีเหนือ-ใต้, พื้นฐานวัฒนธรรมเอเชียที่เน้นเรื่องสายใยความรัก-ครอบครัว, เกมการเมืองเข้มๆ และยังเต็มไปด้วยฉากแอ็กชันสุดลุ้นระทึกในแบบที่ไม่แพ้เวอร์ชันต้นฉบับ 

 

Money Heist Korea Joint Economic Area

 

Money Heist: Korea – Joint Economic Area ได้ขยับเรื่องราวการปล้นโรงกษาปณ์วางไว้บนความซับซ้อนในปี 2025 เมื่อเกาหลีเหนือและใต้ได้ทดลองรวมประเทศบนพื้นที่ JEA หรือ Joint Economic Area เทียบเคียงได้บริเวณเดียวกับ DMZ ในปัจจุบัน โดยที่โรงกษาปณ์แห่งนี้จะใช้ในการพิมพ์ธนบัตรแบบใหม่ที่ใช้ร่วมกัน

 

แน่นอนว่าอนาคตในการรวมประเทศกำลังเกิดขึ้น แต่การถูกแบ่งแยกกันมากว่า 70 ปี ย่อมทิ้งรอยแผลเอาไว้ในใจของผู้คนทั้งสองประเทศไม่มากก็น้อย ตัวละครที่รายล้อมอยู่ใน Money Heist: Korea จึงมีมิติชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย ยืนอยู่บนประสบการณ์ที่ได้รับแตกต่างกันไป แต่พวกเขามี ‘ความปรารถนา’ ร่วมกันคือ การหลุดพ้นจากความยากลำบากและความยากจน ที่การเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ได้บีบบังคับให้ความร่ำรวยไม่ใช่ความเท่าเทียมที่จะมีได้

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

มิติตัวละครใน Money Heist: Korea – Joint Economic Area

พื้นฐานตัวละครใน Money Heist: Korea โดยเฉพาะทีมปล้นโรงกษาปณ์ น่าสนใจมาก เพราะมีการลงรายละเอียดของแต่ละตัวละครชัดเจน

 

  • เบอร์ลิน (รับบทโดย พัคแฮซู) จากเด็กชายเกาหลีเหนือที่พยายามข้ามแม่น้ำมามีชีวิตที่ดีกว่าบนแผ่นดินเกาหลีใต้ กลับถูกขังคุกในฐานะผู้แปรพักตร์นาน 25 ปี จนความคิดจิตใจแทบจะบิดเบี้ยว
  • โตเกียว (รับบทโดย ชอนจงซอ) หญิงสาวเกาหลีเหนือที่ไปใช้ชีวิตในเกาหลีใต้ แต่ชีวิตสู้กลับจนเธอต้องทำทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอด จนตอนที่สิ้นหวังกับชีวิตอย่างที่สุด ก็ได้ศาสตราจารย์มามอบความหวังใหม่ที่ทำให้เธอศรัทธากับแนวคิดของศาสตราจารย์คนนี้อย่างที่สุด
  • ริโอ (รับบทโดย อีฮยอนอู) ตัวละครที่สะท้อนชีวิตลูกหลานตระกูลร่ำรวย ที่แม้จะมีสถานะทางสังคมที่ดี แต่กลับเลือกเส้นทางนี้ด้วยเหตุผลบางอย่าง เขาเป็นลูกคนเล็กของตระกูลดัง นักศึกษาแพทย์ที่ล้มเลิกความตั้งใจและมาเอาดีในการเป็นแฮ็กเกอร์ให้กับทีม
  • นอกจากนี้ยังมี เฮลซิงกิ (รับบทโดย คิมจีฮุน) และ ออสโล (รับบทโดย อีคยูโฮ) คู่หูที่เคยทำงานในแก๊งมาเฟียจีน, มอสโก (รับบทโดย อีวอนจง) และ เดนเวอร์ (รับบทโดย คิมจีฮุน) สองพ่อลูกที่ฝันจะร่ำรวย เพื่อไม่ต้องทำงานผิดกฎหมายอีก และ ไรโนบี (รับบทโดย จางยุนจู) นักต้มตุ๋นเกาหลีใต้ที่ชำนาญการปลอมแปลงทุกรูปแบบ

 

Money Heist Korea Joint Economic Area

 

ฝั่งของทีมนอกโรงกษาปณ์ โดยเฉพาะหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้ ที่ตั้งขึ้นมาจัดการกับภารกิจปล้นโรงกษาปณ์และช่วยเหลือตัวประกัน ก็นับเป็นความน่าสนใจในการให้มิติตัวละครได้มีเหตุและผล สะท้อนความเป็นไปได้จริงในความรู้สึกที่ขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้ ในการเลือกตัดสินใจและจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินตรงหน้า ผ่านตัวละครหลักๆ อย่างเช่น

 

  • ซอนอูจิน (รับบทโดย คิมยุนจิน) ผู้นำภารกิจช่วยเหลือตัวประกันจากเกาหลีใต้ เชี่ยวชาญในการเจรจาต่อรอง เธอเป็นอดีตภรรยาของนักการเมืองตัวเต็งประธานาธิบดีสมัยต่อไป ผู้หญิงแกร่งที่ต้องแสดงท่าทีเข้มแข็งตลอดเวลา แต่จริงๆ แล้วก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความรู้สึกในหัวจิตหัวใจเหมือนคนอื่นๆ
  • ชามูฮยอก (รับบทโดย คิมซองโอ) ผู้นำภารกิจช่วยเหลือตัวประกันจากเกาหลีเหนือ เขาเป็นอดีตสายลับพิเศษที่รับคำสั่งโดยตรง ในการทำงานที่มุ่งหวังความสำเร็จมากกว่าการประนีประนอม 
  • นอกจากนี้ยังมีอีกหลายตัวละครที่สะท้อนให้เห็นความจริงที่ว่า เรื่องการเมืองและอำนาจคือสิ่งที่หอมหวานมากกว่าประโยชน์สุขของส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็น หนึ่งในทีมผู้นำภารกิจช่วยเหลือตัวประกันที่ห่วงผลงานก่อนเกษียณ, ผู้อำนวยการกองกษาปณ์ที่ทำทุกทางเพื่อหวังเอาตัวรอด, นักการเมืองตัวเต็งประธานาธิบดีรัฐบาลหลังรวมประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับฐานเสียงและอำนาจมากกว่าสิ่งอื่นใด

 

ส่วนสำคัญที่มีการเลือกพลิกประเด็นไปจากเวอร์ชันต้นฉบับ และทำให้หัวใจของ Money Heist: Korea กลับมาตอบโจทย์ประเด็นความพยายามรวมชาติเกาหลีเหนือ-ใต้ก็คือตัวละคร ศาสตราจารย์ (รับบทโดย ยูจีแท) ศูนย์กลางของแผนปล้นโรงกษาปณ์ และยังเป็นคนรวบรวมนักโจรกรรมฝีมือดีมารวมตัวเพื่อปล้นเงินกว่า 4 ล้านล้านวอนจากโรงกษาปณ์ร่วมระหว่างเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ด้วยความหวังว่าเงินจำนวนนี้จะพลิกโลกและสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมนี้

 

มิติตัวละครศาสตราจารย์ตีความต่างไปจากต้นฉบับในเชิงพื้นฐานชีวิต Money Heist: Korea ย้อนเล่าถึงชีวิตของเขาก่อนหน้านี้ที่มีอาชีพเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย นักวิชาการที่ทำงานวิจัยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการรวมประเทศเกาหลีเหนือ-ใต้ เขาเป็นหนึ่งในทีมวางแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพราะเชื่อว่าไม่ใช่แค่มิติปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม แต่การรวมชาติจะเกิดขึ้นได้จริงจาก ‘ความปรารถนา’ และมีฝันร่วมกันในการทำให้ชาวเกาหลีทั้งเหนือและใต้ร่ำรวยขึ้น

 

Money Heist Korea Joint Economic Area

Money Heist Korea Joint Economic Area

 

เกาหลีเหนือ-ใต้ บนพื้นที่ร่วม Joint Economic Area

ซีรีส์ Money Heist: Korea – Joint Economic Area เลือกเล่าเรื่องบนพื้นที่รอยต่อเขตแดนระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่เรียกกันว่า JEA – Joint Economic Area และถ้าหากอ้างอิงตามความเป็นจริง ระหว่างประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มีพื้นที่แห่งหนึ่งบริเวณพันมุนจอม เมืองแคซอง ที่ถูกจัดให้เป็นพื้นที่รักษาความปลอดภัย เพื่อใช้ในการเจรจาข้อตกลงร่วมระหว่างสองประเทศ โดยมีองค์การสหประชาชาติเป็นผู้ดูแล 

 

บริเวณเขตรักษาความปลอดภัยร่วมนี่เอง มีชื่อเรียกว่า JSA หรือ Joint Security Area ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของ DMZ – Korean Demilitarized Zone ที่เราน่าจะจำกันได้จากการพบกันครั้งสำคัญระหว่าง มุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และ คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ในปี 2018 และการพบกันระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และ คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ในปี 2019

 

การที่ซีรีส์ใช้พื้นที่บริเวณนี้ในการเล่าเรื่องราว ทำให้เกิดความเป็นไปได้ทีเดียวหากเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ตกลงยุติข้อพิพาทและทดลองรวมชาติให้เกิดขึ้นจริง อย่างที่เราได้เห็นในซีรีส์ว่า พื้นที่นี้จะใช้เป็นศูนย์สำหรับคณะทำงานทั้งสองประเทศในการทำงานร่วมกัน คล้ายเมืองใหม่ที่ใช้ทดลองการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างเหนือ-ใต้ และที่สำคัญโรงกษาปณ์สำหรับพิมพ์ธนบัตรร่วม สถานที่อันเป็นศูนย์กลางของซีรีส์ Money Heist: Korea – Joint Economic Area นี่เอง

 

Money Heist Korea Joint Economic Area

Money Heist Korea Joint Economic Area

 

อะไรคือความดี-ความเลว? การเลือกพร่าเลือนมิติดี-เลว ผ่านความเห็นของสาธารณชน

นอกจากฉากแอ็กชันตามไล่ล่า ปล้นธนาคารที่ดุเดือดมาก ความดีงามอีกอย่างของซีรีส์ Money Heist: Korea – Joint Economic Area คือการเลือกขยี้ความรู้สึกของผู้คน ทั้งคนที่เฝ้ารอบทสรุปของเหตุการณ์ด้านนอกโรงกษาปณ์ และคนดูที่รับชมอยู่ทางบ้าน ด้วยการเบลอนิยามความดี-ความเลว โดยชี้ให้เห็นว่า เหล่านี้คือนามธรรมที่แล้วแต่จะตัดสิน

 

ทั้งฝ่ายศาสตราจารย์กับทีมปล้นที่อาจถูกมองว่าเป็น ‘คนเลว’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการปล้นโรงกษาปณ์และจับผู้คนเป็นตัวประกัน แต่ในทางกลับกัน หากเขาแย่งชิงความเห็นของสาธารณชนไว้ได้ แล้วกลายภาพเป็นโรบินฮู้ดที่ขโมยเงินเพื่อคนยากจนส่วนใหญ่ของประเทศ สุดท้ายแล้วทีมปล้นโรงกษาปณ์ก็อาจเปลี่ยนฝั่งไปอยู่ด้าน ‘คนดี’ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

 

หรือขณะเดียวกัน หน่วยเฉพาะกิจที่เดินหน้าภารกิจช่วยเหลือตัวประกันจากเหตุการณ์ปล้นโรงกษาปณ์ ภาพของตำรวจ อดีตสายสืบ และผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาล ต่างมีภาพของ ‘คนดี’ จากหน้าที่และเครื่องแบบที่พวกเขาสวมอยู่ แต่ถ้าหากว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนตัว เรื่องผลงาน หรือกระทั่งแนวทางปฏิบัติเด็ดขาด เน้นผลสำเร็จมากกว่าชีวิตตัวประกัน ก็เป็นไปได้สูงทีเดียวว่ากระแสสังคมจะมองว่าพวกเขาเป็น ‘คนเลว’ ได้ เช่นเดียวกับตัวละครคนเลวที่แฝงตัวในภาพคนดีอย่างผู้อำนวยการโรงกษาปณ์ ที่มีอยู่จริงในสังคม และยังคงเป็นน้ำเสียในองค์กรใดๆ ไปในแบบที่มีตัวตายตัวแทนตลอดกาล

 

อะไรคือความดี อะไรคือความเลว ในยุคสมัยนี้แทบจะไม่มีอะไรขาว-ดำขนาดนั้น มิติของเรื่องราวและตัวละครในซีรีส์ Money Heist: Korea – Joint Economic Area สะท้อนให้เห็นความเทาของแทบทุกตัวละคร และสำหรับฝ่ายโจรปล้นโรงกษาปณ์ก็เป็นอีกครั้งที่ซีรีส์สะท้อนให้เห็นว่า การที่พวกเขาตัดสินใจร่วมแผนร้ายครั้งนั้นอาจไม่ใช่เพราะเนื้อแท้ของตัวตนที่เลวตั้งแต่เกิด 

 

ตัวสังคมเองหรือเปล่าที่บิดเบี้ยวจนทำให้พวกเขาไร้หนทางในการเป็นคนที่ดี และต้องมีชะตากรรมบนเส้นทางผิดกฎหมายแบบนั้น

ตัวอย่างซีรีส์ Money Heist: Korea – Joint Economic Area

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising