Money Heist: Korea – Joint Economic Area ที่จะออกอากาศพร้อมกันทั่วโลกวันที่ 24 มิถุนายนนี้ เป็นซีรีส์เกาหลีรีเมกจากเวอร์ชันต้นฉบับของสเปนอันลือลั่น La Casa de Papel หรือ Money Heist (2017) งานสร้างของโปรดิวเซอร์ Alex Pina ซึ่งเขาเองเป็นคนที่ยอมให้มีการรีเมกเป็นเวอร์ชันเกาหลี และยังเปิดโอกาสให้เรื่องราวพัฒนาต่อยอดไปได้จากเดิม
และใครที่กำลังตัดสินใจว่าจะดูดีไหม ขอบอกว่าถ้าคุณยังไม่เคยดู Money Heist มาก่อน การเริ่มด้วยเวอร์ชันเกาหลีสนุกเลย ทั้งยังน่าจะได้รสชาติแบบเอเชียที่คุ้นเคย ส่วนใครที่เป็นแฟนประจำมาตั้งแต่เวอร์ชันสเปนแล้ว ก็อยากแนะนำให้ดู เพราะเกาหลีเลือกใช้โครงเรื่องเดิมมาเล่าใหม่อย่างชาญฉลาด ปรับเปลี่ยนเรื่องราวให้สอดคล้องกับความพยายามรวมประเทศเกาหลีเหนือ-ใต้, พื้นฐานวัฒนธรรมเอเชียที่เน้นเรื่องสายใยความรัก-ครอบครัว, เกมการเมืองเข้มๆ และยังเต็มไปด้วยฉากแอ็กชันสุดลุ้นระทึกในแบบที่ไม่แพ้เวอร์ชันต้นฉบับ
Money Heist: Korea – Joint Economic Area ได้ขยับเรื่องราวการปล้นโรงกษาปณ์วางไว้บนความซับซ้อนในปี 2025 เมื่อเกาหลีเหนือและใต้ได้ทดลองรวมประเทศบนพื้นที่ JEA หรือ Joint Economic Area เทียบเคียงได้บริเวณเดียวกับ DMZ ในปัจจุบัน โดยที่โรงกษาปณ์แห่งนี้จะใช้ในการพิมพ์ธนบัตรแบบใหม่ที่ใช้ร่วมกัน
แน่นอนว่าอนาคตในการรวมประเทศกำลังเกิดขึ้น แต่การถูกแบ่งแยกกันมากว่า 70 ปี ย่อมทิ้งรอยแผลเอาไว้ในใจของผู้คนทั้งสองประเทศไม่มากก็น้อย ตัวละครที่รายล้อมอยู่ใน Money Heist: Korea จึงมีมิติชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย ยืนอยู่บนประสบการณ์ที่ได้รับแตกต่างกันไป แต่พวกเขามี ‘ความปรารถนา’ ร่วมกันคือ การหลุดพ้นจากความยากลำบากและความยากจน ที่การเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ได้บีบบังคับให้ความร่ำรวยไม่ใช่ความเท่าเทียมที่จะมีได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
มิติตัวละครใน Money Heist: Korea – Joint Economic Area
พื้นฐานตัวละครใน Money Heist: Korea โดยเฉพาะทีมปล้นโรงกษาปณ์ น่าสนใจมาก เพราะมีการลงรายละเอียดของแต่ละตัวละครชัดเจน
- เบอร์ลิน (รับบทโดย พัคแฮซู) จากเด็กชายเกาหลีเหนือที่พยายามข้ามแม่น้ำมามีชีวิตที่ดีกว่าบนแผ่นดินเกาหลีใต้ กลับถูกขังคุกในฐานะผู้แปรพักตร์นาน 25 ปี จนความคิดจิตใจแทบจะบิดเบี้ยว
- โตเกียว (รับบทโดย ชอนจงซอ) หญิงสาวเกาหลีเหนือที่ไปใช้ชีวิตในเกาหลีใต้ แต่ชีวิตสู้กลับจนเธอต้องทำทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอด จนตอนที่สิ้นหวังกับชีวิตอย่างที่สุด ก็ได้ศาสตราจารย์มามอบความหวังใหม่ที่ทำให้เธอศรัทธากับแนวคิดของศาสตราจารย์คนนี้อย่างที่สุด
- ริโอ (รับบทโดย อีฮยอนอู) ตัวละครที่สะท้อนชีวิตลูกหลานตระกูลร่ำรวย ที่แม้จะมีสถานะทางสังคมที่ดี แต่กลับเลือกเส้นทางนี้ด้วยเหตุผลบางอย่าง เขาเป็นลูกคนเล็กของตระกูลดัง นักศึกษาแพทย์ที่ล้มเลิกความตั้งใจและมาเอาดีในการเป็นแฮ็กเกอร์ให้กับทีม
- นอกจากนี้ยังมี เฮลซิงกิ (รับบทโดย คิมจีฮุน) และ ออสโล (รับบทโดย อีคยูโฮ) คู่หูที่เคยทำงานในแก๊งมาเฟียจีน, มอสโก (รับบทโดย อีวอนจง) และ เดนเวอร์ (รับบทโดย คิมจีฮุน) สองพ่อลูกที่ฝันจะร่ำรวย เพื่อไม่ต้องทำงานผิดกฎหมายอีก และ ไรโนบี (รับบทโดย จางยุนจู) นักต้มตุ๋นเกาหลีใต้ที่ชำนาญการปลอมแปลงทุกรูปแบบ
ฝั่งของทีมนอกโรงกษาปณ์ โดยเฉพาะหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้ ที่ตั้งขึ้นมาจัดการกับภารกิจปล้นโรงกษาปณ์และช่วยเหลือตัวประกัน ก็นับเป็นความน่าสนใจในการให้มิติตัวละครได้มีเหตุและผล สะท้อนความเป็นไปได้จริงในความรู้สึกที่ขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้ ในการเลือกตัดสินใจและจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินตรงหน้า ผ่านตัวละครหลักๆ อย่างเช่น
- ซอนอูจิน (รับบทโดย คิมยุนจิน) ผู้นำภารกิจช่วยเหลือตัวประกันจากเกาหลีใต้ เชี่ยวชาญในการเจรจาต่อรอง เธอเป็นอดีตภรรยาของนักการเมืองตัวเต็งประธานาธิบดีสมัยต่อไป ผู้หญิงแกร่งที่ต้องแสดงท่าทีเข้มแข็งตลอดเวลา แต่จริงๆ แล้วก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความรู้สึกในหัวจิตหัวใจเหมือนคนอื่นๆ
- ชามูฮยอก (รับบทโดย คิมซองโอ) ผู้นำภารกิจช่วยเหลือตัวประกันจากเกาหลีเหนือ เขาเป็นอดีตสายลับพิเศษที่รับคำสั่งโดยตรง ในการทำงานที่มุ่งหวังความสำเร็จมากกว่าการประนีประนอม
- นอกจากนี้ยังมีอีกหลายตัวละครที่สะท้อนให้เห็นความจริงที่ว่า เรื่องการเมืองและอำนาจคือสิ่งที่หอมหวานมากกว่าประโยชน์สุขของส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็น หนึ่งในทีมผู้นำภารกิจช่วยเหลือตัวประกันที่ห่วงผลงานก่อนเกษียณ, ผู้อำนวยการกองกษาปณ์ที่ทำทุกทางเพื่อหวังเอาตัวรอด, นักการเมืองตัวเต็งประธานาธิบดีรัฐบาลหลังรวมประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับฐานเสียงและอำนาจมากกว่าสิ่งอื่นใด
ส่วนสำคัญที่มีการเลือกพลิกประเด็นไปจากเวอร์ชันต้นฉบับ และทำให้หัวใจของ Money Heist: Korea กลับมาตอบโจทย์ประเด็นความพยายามรวมชาติเกาหลีเหนือ-ใต้ก็คือตัวละคร ศาสตราจารย์ (รับบทโดย ยูจีแท) ศูนย์กลางของแผนปล้นโรงกษาปณ์ และยังเป็นคนรวบรวมนักโจรกรรมฝีมือดีมารวมตัวเพื่อปล้นเงินกว่า 4 ล้านล้านวอนจากโรงกษาปณ์ร่วมระหว่างเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ด้วยความหวังว่าเงินจำนวนนี้จะพลิกโลกและสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมนี้
มิติตัวละครศาสตราจารย์ตีความต่างไปจากต้นฉบับในเชิงพื้นฐานชีวิต Money Heist: Korea ย้อนเล่าถึงชีวิตของเขาก่อนหน้านี้ที่มีอาชีพเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย นักวิชาการที่ทำงานวิจัยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการรวมประเทศเกาหลีเหนือ-ใต้ เขาเป็นหนึ่งในทีมวางแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพราะเชื่อว่าไม่ใช่แค่มิติปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม แต่การรวมชาติจะเกิดขึ้นได้จริงจาก ‘ความปรารถนา’ และมีฝันร่วมกันในการทำให้ชาวเกาหลีทั้งเหนือและใต้ร่ำรวยขึ้น
เกาหลีเหนือ-ใต้ บนพื้นที่ร่วม Joint Economic Area
ซีรีส์ Money Heist: Korea – Joint Economic Area เลือกเล่าเรื่องบนพื้นที่รอยต่อเขตแดนระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่เรียกกันว่า JEA – Joint Economic Area และถ้าหากอ้างอิงตามความเป็นจริง ระหว่างประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มีพื้นที่แห่งหนึ่งบริเวณพันมุนจอม เมืองแคซอง ที่ถูกจัดให้เป็นพื้นที่รักษาความปลอดภัย เพื่อใช้ในการเจรจาข้อตกลงร่วมระหว่างสองประเทศ โดยมีองค์การสหประชาชาติเป็นผู้ดูแล
บริเวณเขตรักษาความปลอดภัยร่วมนี่เอง มีชื่อเรียกว่า JSA หรือ Joint Security Area ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของ DMZ – Korean Demilitarized Zone ที่เราน่าจะจำกันได้จากการพบกันครั้งสำคัญระหว่าง มุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และ คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ในปี 2018 และการพบกันระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และ คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ในปี 2019
การที่ซีรีส์ใช้พื้นที่บริเวณนี้ในการเล่าเรื่องราว ทำให้เกิดความเป็นไปได้ทีเดียวหากเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ตกลงยุติข้อพิพาทและทดลองรวมชาติให้เกิดขึ้นจริง อย่างที่เราได้เห็นในซีรีส์ว่า พื้นที่นี้จะใช้เป็นศูนย์สำหรับคณะทำงานทั้งสองประเทศในการทำงานร่วมกัน คล้ายเมืองใหม่ที่ใช้ทดลองการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างเหนือ-ใต้ และที่สำคัญโรงกษาปณ์สำหรับพิมพ์ธนบัตรร่วม สถานที่อันเป็นศูนย์กลางของซีรีส์ Money Heist: Korea – Joint Economic Area นี่เอง
อะไรคือความดี-ความเลว? การเลือกพร่าเลือนมิติดี-เลว ผ่านความเห็นของสาธารณชน
นอกจากฉากแอ็กชันตามไล่ล่า ปล้นธนาคารที่ดุเดือดมาก ความดีงามอีกอย่างของซีรีส์ Money Heist: Korea – Joint Economic Area คือการเลือกขยี้ความรู้สึกของผู้คน ทั้งคนที่เฝ้ารอบทสรุปของเหตุการณ์ด้านนอกโรงกษาปณ์ และคนดูที่รับชมอยู่ทางบ้าน ด้วยการเบลอนิยามความดี-ความเลว โดยชี้ให้เห็นว่า เหล่านี้คือนามธรรมที่แล้วแต่จะตัดสิน
ทั้งฝ่ายศาสตราจารย์กับทีมปล้นที่อาจถูกมองว่าเป็น ‘คนเลว’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการปล้นโรงกษาปณ์และจับผู้คนเป็นตัวประกัน แต่ในทางกลับกัน หากเขาแย่งชิงความเห็นของสาธารณชนไว้ได้ แล้วกลายภาพเป็นโรบินฮู้ดที่ขโมยเงินเพื่อคนยากจนส่วนใหญ่ของประเทศ สุดท้ายแล้วทีมปล้นโรงกษาปณ์ก็อาจเปลี่ยนฝั่งไปอยู่ด้าน ‘คนดี’ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
หรือขณะเดียวกัน หน่วยเฉพาะกิจที่เดินหน้าภารกิจช่วยเหลือตัวประกันจากเหตุการณ์ปล้นโรงกษาปณ์ ภาพของตำรวจ อดีตสายสืบ และผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาล ต่างมีภาพของ ‘คนดี’ จากหน้าที่และเครื่องแบบที่พวกเขาสวมอยู่ แต่ถ้าหากว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนตัว เรื่องผลงาน หรือกระทั่งแนวทางปฏิบัติเด็ดขาด เน้นผลสำเร็จมากกว่าชีวิตตัวประกัน ก็เป็นไปได้สูงทีเดียวว่ากระแสสังคมจะมองว่าพวกเขาเป็น ‘คนเลว’ ได้ เช่นเดียวกับตัวละครคนเลวที่แฝงตัวในภาพคนดีอย่างผู้อำนวยการโรงกษาปณ์ ที่มีอยู่จริงในสังคม และยังคงเป็นน้ำเสียในองค์กรใดๆ ไปในแบบที่มีตัวตายตัวแทนตลอดกาล
อะไรคือความดี อะไรคือความเลว ในยุคสมัยนี้แทบจะไม่มีอะไรขาว-ดำขนาดนั้น มิติของเรื่องราวและตัวละครในซีรีส์ Money Heist: Korea – Joint Economic Area สะท้อนให้เห็นความเทาของแทบทุกตัวละคร และสำหรับฝ่ายโจรปล้นโรงกษาปณ์ก็เป็นอีกครั้งที่ซีรีส์สะท้อนให้เห็นว่า การที่พวกเขาตัดสินใจร่วมแผนร้ายครั้งนั้นอาจไม่ใช่เพราะเนื้อแท้ของตัวตนที่เลวตั้งแต่เกิด
ตัวสังคมเองหรือเปล่าที่บิดเบี้ยวจนทำให้พวกเขาไร้หนทางในการเป็นคนที่ดี และต้องมีชะตากรรมบนเส้นทางผิดกฎหมายแบบนั้น
ตัวอย่างซีรีส์ Money Heist: Korea – Joint Economic Area