×

เมื่อการเงินคนไทยถึงจุดวิกฤต ครูหนุ่ม Money Coach คุยอุ่นเครื่องก่อนทอล์กโชว์ครั้งที่ 4

12.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • โค้ชหนุ่ม Money Coach จากวิศวกรสู่โค้ชทางการเงินที่เผชิญปัญหาทางการเงินของทางบ้านในวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540
  • เบื้องหลังการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ต้นตอของทอล์กโชว์ครั้งที่ 4 ที่ทำให้พบว่าปัญหาทางการเงินของคนไทยอยู่ในระดับวิกฤตขีดแดง

แฟนประจำรายการพอดแคสต์ของ THE STANDARD คงคุ้นเคยกันดีกับ หนุ่ม-จักรพงษ์​ เมษพันธุ์ หรือโค้ชหนุ่ม Money Coach ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่ออกมาให้ความรู้ถึงวิธีจัดการปัญหาทางการเงินแบบ 360 องศา ทั้งอดออม ปลดหนี้ รวมถึงวางแผนการเงินในระยะยาว ผ่านรายการเสียงที่กระตุ้นให้เราอยากปฏิวัติตัวเองเสียใหม่ จะได้มีสภาพคล่องทางการเงินกับเขาบ้าง

 

นอกจากงานเขียนหนังสือและงานแนะแนวที่ออกไปเป็นวิทยากรตามที่ต่างๆ โค้ชหนุ่มยังมีเวทีทอล์กโชว์เป็นของตนเองมาแล้วถึง 3 ครั้ง และกำลังมีครั้งที่ 4 ในไม่ช้า THE STANDARD จึงชวนหนุ่ม จักรพงษ์ มาพูดคุยถึงเบื้องหลังการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ต้นตอของทอล์กโชว์ครั้งนี้ที่ทำให้เขาพบว่าปัญหาทางการเงินของคนไทยอยู่ในระดับวิกฤตขีดแดง

 

กว่าจะเป็นโค้ชหนุ่มในปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นมาจากการแก้ปัญหาตัวเองตอนที่เราเรียนจบ บ้านผมล้มละลายในวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง เราก็เป็นลูกคนโต เรียนจบก่อน ก็เข้ามาช่วยทางบ้านแก้ปัญหา พอมาแก้จริงถึงได้รู้ว่าเราไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับเงินเลย เคยคิดแต่ว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องง่ายๆ มีหนี้ก็แค่หาเงินได้เยอะๆ แต่ความจริงไม่ใช่ ยิ่งแก้ยิ่งเละ จากเดิมที่เป็นหนี้แค่ธุรกิจของพ่อกลายเป็นตัวเองเป็นหนี้ไปด้วย เพราะเราไปกู้สถาบันการเงินมา ตอนนั้นทำงานเยอะมาก ทั้งเป็นตัวแทนประกัน รับสินค้าจากต่างประเทศมาขาย เราพยายามหารายได้หลายๆ ทาง แต่ปรากฏว่าการหาเงินได้เยอะขึ้นไม่สามารถแก้ปัญหาให้หมดได้ ผมจึงตัดสินใจเดินเข้าไปคุยกับนายธนาคารว่าต้องทำอย่างไรหนี้จึงจะหมด จุดนั้นแหละเราถึงได้ยินเรื่องราวทางการเงินที่ไม่เคยรู้มาก่อน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาศึกษาเรื่องเงินอย่างจริงจัง

 

 

เคยทำทอล์กโชว์มาแล้วถึง 3 ครั้ง ครั้งนี้ต่างจากครั้งที่แล้วอย่างไร

ยากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ครั้งที่ 1-3 จะเป็นเรื่องใกล้ตัว ครั้งแรกเป็นเรื่องราวการแก้หนี้ ก็เอาประสบการณ์ของตนเองมาเล่าสู่กันฟัง ครั้งที่ 2 เป็นเรื่องเกี่ยวกับความคิด ก็เป็นประสบการณ์การของตนเองอีก ครั้งที่ 3 เป็นวิธีเอาชนะเกมการเงิน ผมเอาเรื่องของลูกศิษย์ใกล้ตัวมาเล่าให้ฟังว่าจากคนที่เขาแย่ๆ เขาแก้และผ่านมาได้อย่างไร พอมาครั้งที่ 4 สเกลมันใหญ่ขึ้นมาอีกระดับ เราใช้คำว่า Revolution หรือปฏิวัติ ชื่อตอนคือ ‘การเงินมีปัญหา ถึงเวลาต้องปฏิวัติ’ เป็นเรื่องใหญ่ขึ้น เชิงมหภาคมากขึ้น เราให้คำแนะนำกับคนอื่นมาเยอะ เริ่มเห็นแล้วว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แล้วนะ ไม่ใช่แค่ปัญหาเฉพาะคนอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาระดับชาติแล้ว ถ้าเราพยายามเผยแพร่ความรู้ให้คนสามารถแก้ปัญหาของตัวเองได้ มีชีวิตทางด้านการเงินที่ดีขึ้นได้ ประเทศชาติเราก็จะเข้มแข็งทางการเงินไปด้วย ก็เลยเป็นที่มาของทอล์กโชว์ครั้งนี้

 

เบื้องหลังของการหาข้อมูล ได้ข่าวว่าลงพื้นที่เยอะมาก

ผมพยายามเก็บข้อมูลหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล ค่ายทหาร หรือโรงเรียน เพื่อจะได้เห็นชีวิตของคนในแต่ละกลุ่ม สิ่งที่พบคือหน่วยจุลภาคของบ้านเมืองเรามีสภาพทางการเงินย่ำแย่มาก ยกตัวอย่างเช่น คุณครู ส่วนใหญ่แทบจะมีปัญหาด้านการเงินกันหมด ในโรงพยาบาลก็เช่นกัน ลองนึกภาพว่าคนที่ให้การรักษาพยาบาล คนที่เรากำลังฝากชีวิตไว้ แต่เขามีปัญหาทางการเงิน เขากำลังดูแลเราอยู่แท้ๆ แต่ในหัวต้องคิดเรื่องเงินอยู่ตลอดเวลา ทำอย่างไรให้มีเงินใช้ถึงสิ้นเดือน เดือนนี้เงินเดือนจะออกไหม จะโดนไล่ออกเมื่อไร เรื่องแปลกแต่จริงของประเทศไทยคือบุคลากรทางการแพทย์หลายคนมีรายได้ไม่มั่นคง เวลาเดินเข้าไปโรงพยาบาลรัฐ คุณจะพบว่าพยาบาลที่ดูแลคุณส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างชั่วคราว ความหมายคือไม่มีอะไรดูแลเขาเลยนะ จะโดนไล่ออกเมื่อไรก็ได้ สวัสดิการไม่มี เขาทำงานหนัก ดูแลคนอื่น แต่ความมั่นคงทางการเงินและชีวิตแย่มาก… นี่ประเทศเรากำลังเกิดอะไรขึ้น

 

กระทั่งทหาร ทหารจริงๆ ที่เป็นรั้วของชาติ ไม่ใช่ทหารยศสูง แท้จริงแล้วการเงินง่อนแง่นมาก เวลาพูดถึงหนี้นอกระบบ เราบอกว่าหนี้นอกระบบแพงที่สุด ดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน แต่ในรั้วทหารร้อยละ 5 ต่อวัน ยืมหมื่นจ่ายดอกวันละ 500 บาท ครบหนึ่งเดือนจ่ายดอก 15,000 ต้นไม่ตัดเลย ผมก็เลยถามเขาว่า “แบบนี้ใช้พอเหรอ” เขาก็ตอบกลับมาว่า “ทำยังไงได้ ไม่พอก็ต้องกู้อีก” เลยกลายเป็นถมทับกันไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดสิ้นสุด เรากำลังมีรั้วของชาติที่อ่อนแอ เรากำลังมีบุคลากรทางการแพทย์ที่สถานะความมั่นคงในชีวิตย่ำแย่จนติดลบ

วิกฤตทางการเงินของคนไทยอยู่ในระดับหนักมาก ถ้าเป็นแถบสีก็เป็นแดงเลือดหมู จริงๆ มันมีหลายเรื่อง หลายมิตินะ ทั้งการสปอยล์จากภาครัฐ วิธีเล่นการเมืองของนักการเมือง เมื่อไรก็ตามที่มีการยื่นเงิน การเสพติด การพึ่งพาก็จะเกิด

 

แล้วสอนอะไรเขาไปบ้าง

ผมบอกกับพวกเขาว่าในเมื่อไม่มีคนดูแลเราก็ต้องดูแลตัวเอง เพราะเราไม่รู้หรอกว่าชีวิตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะตกงานเมื่อไร จะล้มป่วย หรือเกิดขึ้นอะไรในอนาคต ในเมื่อไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราก็ต้องเก็บเอง ก็เริ่มสอนตั้งแต่วิธีอดออม การจัดสรรเงิน การเจรจา รวมถึงแนวทางปฏิบัติสำหรับการชำระหนี้ ซึ่งพอเราไปพูดถึงวิธีการจัดการทางการเงิน เขาก็รู้สึกดีใจ ขณะเดียวกันก็รู้สึกหดหู่กับมาตรฐานชีวิตที่ได้รับ

 

แล้วโค้ชรู้ไหมว่าอะไรเป็นสาเหตุให้การเงินพวกเขาย่ำแย่

รายจ่ายไม่สัมพันธ์กับรายได้ และพวกเขาไม่มีโอกาสแม้แต่ทำอาชีพเสริม อย่างทหาร ถ้าให้พูดตรงๆ เลย ช่วงเช้าเขาอาจต้องไปเฝ้าชายแดน บ่ายค่อนเย็นก็อาจถูกเรียกเข้าไปทำงานเป็นคนรับใช้ ไม่มีเวลานั่งเปิดโน้ตบุ๊กหาของมาขายทางออนไลน์เหมือนพนักงานออฟฟิศ มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปค่ายทหารที่อุบลราชธานี หลังจากที่สอนเขาออมเงิน แก้หนี้ ปลดหนี้ พวกเขาบอกกับผมว่า “อาจารย์ ถ้ามีโอกาสอยากให้อาจารย์เชิญใครที่สอนเรื่องการขายของมาหน่อย พวกผมไม่มีอาชีพอื่นๆ เลย เราเป็นทหารเพียงอย่างเดียว ทหารโดยอาชีพ ทำอย่างอื่นไม่เป็น” ทุกวันนี้ใครที่ทำงานประจำแล้วบอกว่าเงินเดือนน้อย ผมอยากบอกว่าทหารพวกนี้เขาน้อยกว่าคุณอีก แถมยังไม่มีเวลาทำอาชีพเสริมด้วย คนในเมืองยังมีจ็อบพิเศษ งานนอก อาชีพที่ 2 ที่ 3 มากมาย แต่รั้วของชาติของเราไม่มี และไม่มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวได้ง่ายๆ ด้วย

 

 

คิดว่าวิกฤตทางการเงินของคนไทยอยู่ในระดับไหน

หนักมาก ถ้าเป็นแถบสีก็เป็นแดงเลือดหมู จริงๆ มันมีหลายเรื่อง หลายมิตินะ ทั้งการสปอยล์จากภาครัฐ วิธีเล่นการเมืองของนักการเมือง เมื่อไรก็ตามที่มีการยื่นเงิน การเสพติด การพึ่งพาก็จะเกิด ผมตกใจมากเมื่อรู้ว่าบางคนคิดว่าเงินกู้คือเงินให้เปล่า เพราะเขาไม่ต้องใช้หนี้คืนไง ที่ไม่ต้องใช้คืนเพราะเดี๋ยวรัฐหรือหน่วยงานอื่นก็ทำนโยบายออกมาสปอยล์ พักชำระหนี้บ้าง มีเงินอุดหนุนบ้าง โอเค จริงๆ นโยบายนี้ไม่ได้แย่ แต่ในทางปฏิบัติต้องมีการให้ความรู้เขาด้วยว่าเราพักหนี้ให้เพราะอะไร เพื่ออะไร และคุณสมควรเอาช่วงเวลาแบบนี้ไปหารายได้เพื่อเสริมรากฐานทางการเงินอย่างไร ซึ่งระดับรากหญ้าของประเทศไทยมีความรู้น้อยมาก อย่าว่าแต่รากหญ้าเลย คนชั้นกลางก็มีความรู้เรื่องนี้น้อย

 

อีกประเด็นคือประเทศไทยเราติดกับดักรายได้ปานกลางมานานแล้ว รายจ่ายเราพุ่งกระฉูดแรง ขณะที่รายได้เราเท่าเดิม น้ำมันขึ้น ค่าขนส่งขึ้น ค่าอาหารเพิ่มขึ้นตาม พอน้ำมันลง ค่าอาหารไม่ได้ลดลง ยังคงสูงเท่าเดิม ผ่านไปไม่กี่วัน ค่าแก๊สเพิ่มขึ้นอีก อาหารก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน วนลูปอยู่แบบนี้ ขยี้กันไปมา

 

โรคหนี้และการแก้ปัญหา

เวลาคนเราเจอคนเป็นหนี้ เราชอบไปติติงเขาว่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่เราไม่ได้ดูภูมิหลังเลยว่าเป็นอย่างไรบ้าง ค่าครองชีพสูงแค่ไหน รายรับเท่าไร บางคนเขาเป็นหนี้เพราะต้องแบกปัญหาต่างๆ ในครอบครัวอีก ผมจึงพยายามบอกทุกคนว่าหนี้เป็นเรื่องที่หนัก แต่ไม่ต้องอาย ออกมาเรียนรู้และสู้กับมัน เราแค่เป็นหนี้ ไม่ได้ไปฆ่าใครตาย ไม่ต้องกลัวผิด ออกมาเปิดเผย ออกมาสู้ ไม่อย่างนั้นเราจะทุกข์ เพราะเงินไม่ได้ทำร้ายแค่กระเป๋าเงินนะ แต่ยังทำร้ายความคิดเราด้วย ทำร้ายความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองทีละน้อยๆ ยิ่งอายุมากขึ้น เราจะถามตัวเองว่าทำไมชีวิตเราเป็นแบบนี้ ทั้งที่โจทย์ในการแก้อาจไม่ใช้แค่หนี้ เป็นเพราะเราไม่รู้เรื่องเงินก็ได้ ฉะนั้นโจทย์ยุคนี้คือการหารายได้เพิ่ม สำหรับคนเป็นหนี้ ถ้าเรามองตัวเลขทางการเงินว่าลดอะไรก็ลดไม่ได้แล้ว เราต้องหันมามองวิธีหารายได้เพิ่มมาจุนเจือ

 

คนดูจะได้อะไรจากทอล์กโชว์ครั้งนี้

พลังแห่งความฮึกเหิมและเรื่องของความเป็นได้ว่าชีวิตคนเราไม่ว่าจะมีปัญหาอะไร มันมีความเป็นไปได้นะ ทอล์กโชว์ครั้งนี้กำลังจะสื่อสารกับคนทุกกลุ่ม ทุกคนในประเทศ โจทย์ของทอล์กโชว์คือการเงินส่วนบุคคล แต่พอเราเห็นโจทย์การเงินส่วนบุคคลมากขึ้นจากร้อยเป็นพันเป็นแสน เรารู้แล้ว เฮ้ย! ถ้าเราบอกว่าประเทศไทยกำลังเป็นประเทศพัฒนา ประเทศที่กำลังไม่ก้าวหน้าไป ประเทศที่มีการเมืองติดหล่ม มันถูกวกกลับมาที่เดิมว่าคนแต่ละคนไม่มีเวลาไปคิดถึงเรื่องอื่นหรอก แค่เรื่องตัวเองก็จะแย่แล้ว และเรื่องใหญ่ที่เราจมกันอยู่คือเรื่องเงิน ฉะนั้นถ้าวันนั้นคนแต่ละกลุ่ม แต่ละคนมีโอกาสเข้ามาชมทอล์กโชว์ คุณได้พลัง ได้ไอเดียออกไป ได้วิธีการที่จะปรับเปลี่ยนการเงินของตัวเอง และเมื่อคุณเปลี่ยนตัวเองจนมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น คุณก็เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศชาติให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างมีคุณภาพ

 

แล้วคุณล่ะ เห็นด้วยกับโค้ชหนุ่มไหม

FYI

 

 

  • ใครที่สนใจทอล์กโชว์ของโค้ชหนุ่ม-จักรพงษ์​ เมษพันธุ์ สามารถชมได้ที่งาน SCB Presents MONEY COACH ON STAGE 4.0 เรโวลูชั่น ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ ถนนรางน้ำ
  • แสดงวันที่ 16-17 มิถุนายน 2561 รอบเวลา 14.00 น. และ 19.00 น.
  • บัตรราคา 900 / 1,200 / 1,500 บาท
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X