×

กูรูฟันธง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนัดแรก คาดทั้งปีดอกเบี้ยไทยขยับขึ้นสู่ระดับ 1.75-2%

24.01.2023
  • LOADING...

นักเศรษฐศาสตร์คาด กนง. ประเดิมขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมนัดแรกของปี หลังเงินเฟ้อยังสูงกว่ากรอบเป้าหมาย-เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวในเชิงบวก มองภาพรวมทั้งปีดอกเบี้ยไทยจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.75-2% 

 

เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า ในการประชุมนัดแรกของปี 2566 วันที่ 25 มกราคมนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงมีมติให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องที่ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.50% แบบเป็นเอกฉันท์ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


เกวลินระบุว่า การประชุมในรอบนี้ กนง. จะยังคงเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3% อยู่มาก ขณะที่การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ กนง. ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องได้ 

 

ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเร่งสูงขึ้นที่ระดับ 5.89% เนื่องจากราคาพลังงาน เช่น ค่าไฟ ก๊าซหุงต้ม น้ำมัน และอาหารสด ยังทรงตัวในระดับสูง ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับในเดือนก่อนหน้า โดยอยู่ที่ระดับ 3.23% สะท้อนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง 

 

ในด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการเปิดประเทศจีนที่เร็วกว่าคาด จะเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศจีนที่ทยอยกลับมาเป็นปกติ จะช่วยหนุนการส่งออกไทย แม้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะยังคงกดดันการส่งออกไทยอยู่ 

 

เกวลินกล่าวว่า ในระยะข้างหน้า กนง. มีแนวโน้มสูงที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกเพียง 1 ครั้งที่ 0.25% ภายในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ และอาจคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ไปจนตลอดทั้งปี 2566 

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้าคงขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยที่ออกมา รวมถึงทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลักอย่าง Fed เป็นสำคัญ โดยหากเงินเฟ้อไทยยังคงอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด และ Fed ยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่อง คงส่งผลให้ กนง. เผชิญแรงกดดันมากขึ้น และอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 

 

สำหรับเงินเฟ้อ ยังมองว่าเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มที่จะค่อยๆ ปรับลดลงสู่กรอบเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3% ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และยูโรโซน 

 

ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดและการเปิดประเทศเร็วกว่าคาดของจีน คงเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในภาพรวมทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน แต่คงไม่ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เร่งตัวเท่ากับปี 2565 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน 

 

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อโลกที่ลดลงช้ากว่าที่ประเมินจากปัจจัยจีนเปิดประเทศอาจจะส่งผลต่อเงินเฟ้อไทยให้ลดลงช้าตามไปด้วย

 

สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มองว่ามีแนวโน้มจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมหรือฟื้นตัวแบบรูปตัว K (K-Shaped Recovery) โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับการส่งออกมีแนวโน้มที่จะยังคงเปราะบาง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก 

 

ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คาดการณ์ว่า กนง. จะมีมติให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในรอบนี้ เพราะแม้ว่าเงินเฟ้อไทยจะเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลงบ้างแล้ว แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมาย และมีแนวโน้มที่จะอยู่เหนือระดับ 3% ไปตลอดครึ่งปีแรก การชะลอขึ้นดอกเบี้ยในช่วงนี้จึงเป็นเรื่องที่ยังไม่น่าจะเกิดขึ้น

 

นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัวได้เร็วขึ้นจากการเปิดประเทศที่เร็วกว่าคาดของจีน ก็ทำให้การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่สอดคล้องกัน อย่างไรก็ดี อมรเทพประเมินว่า การส่งผ่านนโยบายดอกเบี้ยไปยังสถาบันการเงินในรอบนี้น่าจะทำได้น้อยกว่าปกติ เนื่องจาก ธปท. เพิ่งจะมีการปรับอัตราเงินนำส่ง FIDF กลับสู่ระดับเดิม ซึ่งเปรียบเสมือนมีการขยับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วหนึ่งรอบในช่วงต้นปี ทำให้สถาบันการเงินอาจไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้เต็มที่

 

“ปีที่ผ่านมาแบงก์พาณิชย์มีการตั้งสำรองที่ค่อนข้างสูง ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลเรื่อง NPL โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึงทุกเซ็กเตอร์ สถาบันการเงินเองก็คงไม่ต้องการเพิ่มภาระให้กับกลุ่มนี้มากเกินไปเช่นกัน” อมรเทพกล่าว

 

อมรเทพยังกล่าวถึงกรณีที่มาเลเซียและเกาหลีใต้เริ่มพักการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วว่า หากเปรียบเทียบกับไทยต้องบอกว่าดอกเบี้ยของไทยเริ่มขึ้นมาช้ากว่าคนอื่น ทำให้การปรับขึ้นจึงน่าจะยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกนี้ โดยมองว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 3 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยขึ้นไปที่ระดับ 2% ในช่วงกลางปี และน่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับดังกล่าวตลอดทั้งปี 

 

ขณะที่ พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย มองว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ 0.25% เนื่องจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีการปรับอัตราการนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับขึ้นไปเท่าเดิมที่ 0.46% ซึ่งส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดปรับขึ้นไปแล้ว

 

พชรพจน์ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรกของไทยจะยังอยู่สูงกว่ากรอบนโยบายการเงินที่ 1-3% แม้ว่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและเริ่มเป็นขาลง จึงเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีแรก กนง. จะดูจังหวะปรับดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้มั่นใจว่าแนวทางการดำเนินนโยบายสอดคล้องกับทิศทางของเงินเฟ้อ

 

ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังจะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม เพราะในช่วงดังกล่าว Fed น่ายุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้วเช่นกัน ทำให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ระดับ 2.0% หรือปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.75% จาก ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 1.25% โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% มีความเหมาะสมกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising