×

มอลลี ซีเดล สาวนักวิ่งร้านกาแฟในตำนานกับการเอาชนะ ‘Imposter Syndrome’ ในการแข่งมาราธอนโอลิมปิก

23.03.2022
  • LOADING...
Molly Seidel

ชื่อของ มอลลี ซีเดล ไม่ใช่ชื่อโนเนมอีกแล้วสำหรับแฟนกีฬาวิ่งมากมายทั่วโลกจากเรื่องราวระดับตำนานของเธอที่ทุกคนจำได้ในเรื่องของ ‘สาวนักวิ่งร้านกาแฟในตำนาน’ ผู้คว้าเหรียญทองแดงโอลิมปิกเกมส์มาครองได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

 

เรื่องราวของนักวิ่งสาวผู้ประสบปัญหาเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำและมีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ จนสุดท้ายตัดสินใจพักรักษาตัวและเลือกจะทำงานพาร์ตไทม์ในร้านกาแฟไปด้วยซ้อมไปด้วย (เป็นพี่เลี้ยงเด็กด้วย) เพื่อลดแรงกดดันในชีวิตและยังสามารถรักษาความฝันเอาไว้ได้ สู่การคว้าสิทธิ์ในการเข้าแข่งขันวิ่งมาราธอนในรายการยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างโอลิมปิกฤดูร้อนได้ในการวิ่งระยะทาง 42.195 กิโลเมตรครั้งแรกของชีวิต และได้เหรียญทองแดงในการแข่งขัน ‘โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020’ เมื่อปีกลาย ยังคงเป็นหนึ่งในเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนมากมายได้เป็นอย่างดี

 

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้ว่านักวิ่งวัย 27 ปีคนนี้ต้องเผชิญกับอะไรบ้างกับโชคชะตาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 

หลังจากที่ซีเดลสามารถคว้าสิทธิ์ในการเข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้จากการที่เธอเข้าเส้นชัยเป็นลำดับที่ 3 ในการคัดตัวของทีมชาติสหรัฐอเมริกา  (อ่านต่อ ‘สาวร้านกาแฟ’ คว้าตั๋วทีมชาติสหรัฐฯ ไปโอลิมปิกจากการวิ่งฟูลมาราธอนครั้งแรกในชีวิต) ร่วมกับ อลิไฟน์ ตูเลียมุก และ แซลลี คิปเยโก ซึ่งเป็นนักวิ่งระดับอีลิทตัวจริงของวงการ ชื่อเสียงของเธอก็มาพร้อมกับความคาดหวังและแรงกดดันมหาศาล

 

ไม่เฉพาะจากคนอื่นแต่ตัวของเธอเองก็ประสบปัญหากับอาการที่เรียกว่า ‘Imposter Syndrome’ หรืออาการที่มักคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มีค่าในสายตาของตัวเอง

 

“ชีวิตมันมักจะเล่นตลกกับเราในการที่มอบสิ่งที่เราต้องการก่อนที่เราจะพร้อมที่จะรับมันมาครอบครอง” ซีเดลกล่าวถึงโอกาสที่เธอได้รับหลังผ่านการคัดตัวในช่วงต้นปี 2020 ซึ่งในขณะที่เธอได้รับโอกาสที่ไม่คาดฝันแต่ลึกๆ แล้วการลงแข่งวิ่งมาราธอนก็เป็นความฝันของเธอมาโดยตลอด

 

“ฉันฝันที่จะลงแข่งมาราธอนมาโดยตลอด” ซีเดลเล่าต่อ “ฉันคิดว่ามันมีเสน่ห์และความลี้ลับอยู่ โดยเฉพาะสำหรับนักวิ่งรุ่นเยาว์ที่สนุกกับการลงแข่งวิ่งระยะไกลในโรงเรียนไฮสคูล มาราธอนจะเป็นเป้าหมายสูงสุด ทุกคนอยากจะลงแข่งมาราธอนทั้งนั้น”

 

เพียงแต่โอกาสของเธอมาพร้อมกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติอย่างรุนแรงเมื่อเกิดโรคระบาดอย่างโควิด จนทำให้ทุกอย่างบนโลกต้องหยุดชะงัก ไม่เว้นแม้แต่มหกรรมกีฬาอย่างโอลิมปิก ซึ่งมันทำให้ซีเดลเริ่มติดกับดักทางความรู้สึกของตัวเอง

 

‘Imposter Syndrome’ เก่งแค่ไหนก็ไม่พอ

Imposter Syndrome ที่ซีเดลเผชิญนั้นไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะในสังคมปัจจุบันที่นิยมการแข่งขัน การเปรียบเทียบ และความสำเร็จ ไปจนถึงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ทำให้ผู้คนจำนวนมากที่ติดกับดักไม่เพียงแต่จะพยายามเก่งในสายตาคนอื่น แต่ยังต้องเก่งในความรู้สึกของตัวเองไปด้วย

 

“หลังการคัดตัวครั้งนั้นฉันคิดว่าฉันเจอปัญหาใหญ่กับสิ่งที่เรียกว่า Imposter Syndrome โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะติดทีม และเป็นคนที่เจอกับเสียงวิพากษ์มากที่สุดว่าทำไมเด็กผู้หญิงคนนี้ถึงได้อยู่ในทีมด้วย

 

“ฉันคิดว่าฉันเจอปัญหาค่อนข้างใหญ่มากในเรื่องนี้ ฉันเจอปัญหาในการจะไปแข่งและรู้สึกว่าฉันน่ะคู่ควรกับการจะได้ไปแข่งแล้ว จึงต้องพยายามที่จะพิสูจน์ว่าการเลือกฉันติดทีมไม่ใช่ความผิดพลาด”

 

มันไม่ง่ายเท่าไรนักสำหรับซีเดล เพราะสำหรับคนที่มีอาการนี้เกิดความคิดวนไปมาต่อความสามารถ เกิดความรู้สึกสงสัยในตนเอง ต่อให้ได้ยินคำชมเชย หรือมีผลงานที่ประจักษ์แต่ไม่สามารถรู้สึกยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่สามารถเห็นข้อดี 

 

นอกจากนี้ยังมักคิดว่าตนไร้ซึ่งความสามารถ ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ หรือมักมีความคิดว่าความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมาได้มาจากโชคหรือการเอื้ออำนวยจากคนอื่นมากกว่าความสามารถของตนเอง จนมักกังวลอยู่เสมอว่าคนอื่นจะจับได้ว่าตนไม่มีความสามารถหรือไม่ดีพอ (อ่านต่อ เอาชนะ ‘Imposter Syndrome’ กับแนวคิดที่จะทำให้เรากลับมามองเห็นคุณค่าในตัวเอง)หากมีลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นกับคุณบ่อยครั้งและควบคุมความคิดได้ยาก คุณอาจมีอาการของ Imposter Syndrome อาการที่มักคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มีค่าในสายตา ‘ตัวเอง’ 

 

และหากความรู้สึกเหล่านี้ถูกเก็บสะสมเป็นระยะเวลานาน โดยไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสมอาจพัฒนาไปสู่โรคทางอารมณ์อื่นๆ เช่น วิตกกังวลหรือซึมเศร้าได้ เราจึงอยากชวนคุณผู้อ่านมาทำความรู้จัก พร้อมทั้งเรียนรู้แนวความคิดรับมือไปพร้อมๆ กัน 

 

เหรียญโอลิมปิกกับกำแพงหัวใจ

การระบาดของโควิดทำให้ทุกอย่างยากลำบากไปหมดรวมถึงการเตรียมตัวโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ลงแข่งหรือไม่ แต่อย่างน้อยซีเดลก็ได้โอกาสทดสอบตัวเองอีกครั้งในการแข่งวิ่งมาราธอนครั้งที่ 2 ของชีวิตในรายการ ‘ลอนดอน มาราธอน’ เวอร์ชันพิเศษที่ให้แค่นักวิ่งระดับอีลิทลงวิ่งรอบพระราชวังบักกิงแฮมเท่านั้น

 

จากการวิ่งครั้งนั้นแม่สาวนักวิ่งร้านกาแฟได้พยายามเก็บเนื้อเก็บตัว และที่สำคัญคือการพยายามต่อสู้กับความรู้สึกสงสัยในคุณค่าของตัวเอง จนกระทั่งเธอได้รับการปลดปล่อยในการแข่งขันที่ซัปโปโร

 

โอลิมปิกกลับมาจัดการแข่งขันจริงในช่วงกลางปี 2021 และซีเดลทำในสิ่งที่เหลือเชื่ออีกครั้งด้วยการคว้าเหรียญทองแดงมาได้ โดยในการแข่งที่เมืองซัปโปโรทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น นักวิ่งสาวอเมริกันเกาะกลุ่มนำได้แต่ถูกสองขาโหดอย่าง เปเรส เจปเชียร์เชียร์ และ บริจิด คอสเก เทพนักวิ่งมาราธอนสาวจากเคนยาฉีกนำและทิ้งห่างไป ทำให้เหลือเธอที่ตีคู่มากับ โลนาห์ เชมทาย ซัลปีเตอร์ คู่แข่งจากประเทศอิสราเอล

 

แต่ในระหว่างที่เหลือระยะทางแค่ 2.5 ไมล์ จู่ๆ ซัลปีเตอร์ก็วิ่งไปชนกำแพงและค่อยๆ ออกจากการแข่งขัน เมื่อโชคเข้าทางขนาดนี้ก็เหลือสิ่งเดียวที่ซีเดลจะทำคือการวิ่งเข้าเส้นชัยให้ได้ และเธอก็ทำได้สำเร็จคว้าเหรียญทองแดงได้ในการแข่งขันมาราธอนโอลิมปิกครั้งแรก และเป็นคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ของทีมชาติสหรัฐอเมริกา

 

เหรียญทองนี้เองที่ช่วยปลดปล่อยเธอ “ฉันมีปัญหาเรื่องความมั่นใจและชอบคิดว่าตกลงฉันคู่ควรกับระดับนี้หรือเปล่า ฉันคู่ควรกับการลงแข่งในระดับโลกจริงไหม” ซีเดลเล่า “แต่เหรียญโอลิมปิกแสดงให้ฉันเห็นว่าฉันคู่ควรกับการมาแข่งที่นี่ ทุกคนสามารถทำได้ต่อให้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงทางความรู้สึก อย่างไรก็ตาม อาจจะมีวันที่เราจะแพ้ มีสิ่งที่เราต้องทำมากมาย แต่อย่างน้อยเราก็สามารถทำได้”

 

อย่างไรก็ดี การปลดปล่อยซีเดลจากความสงสัยในตัวเองทั้งปวงก็มีราคาที่ต้องจ่ายเล็กน้อย เมื่อเธอรู้สึกหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างทั้งกำลังกายและกำลังใจจากความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าที่ต้องต่อสู้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และได้ใช้เวลาในการพักผ่อนอยู่บ้านเพื่อรักษาเนื้อรักษาตัวและรักษาหัวใจที่อ่อนล้าพักใหญ่

 

ร่างกายของซีเดลยังมีปัญหาอาการบาดเจ็บรบกวนเป็นระยะ แต่อย่างน้อยหลังจากเอาชนะ Imposter Syndrome ได้และได้พักผ่อนแล้ว เมื่อถามถึงการลงแข่งวิ่งมาราธอนในอนาคต สิ่งที่เธอคาดหวังคือการเปิดหัวใจที่จะได้เรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ

 

แค่เท้าได้สัมผัสพื้น สายลมปะทะใบหน้า แล้วการวิ่งจะสอนสิ่งที่มีค่าของชีวิตให้เอง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X