รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุ จะให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีสูงสุด เพื่อเสริมความยั่งยืนทางการคลัง ด้านธนาคารโลก (World Bank) ชี้ การเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น และเพื่อรองรับผลกระทบด้านลบอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เป็นเรื่อง ‘จำเป็น’ ต้องดำเนินการ
วันนี้ (14 ธันวาคม) อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงาน Thailand Economic Monitor Fiscal Policy for a Resilient and Equitable Future พร้อมเผยทิศทางนโยบายการคลังของไทยในอนาคต โดยย้ำว่าจะให้การช่วยเหลือแบบเฉพาะกลุ่มมากขึ้น (Targeted) ขณะที่การขาดดุลทางการคลังจะยังคงสอดรับกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ โดยจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของภาครัฐยังเป็นความสำคัญสูงสุด เพื่อทำให้มั่นใจว่าฐานะทางการคลังของประเทศไทยจะมีความยั่งยืน โดยกระทรวงการคลังจะเพิ่มความสามารถในการเก็บภาษี เพื่อนำงบประมาณไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคม เช่น ด้านการศึกษาและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
ด้าน ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ขณะที่ประเทศไทยกำลังกลับเข้าสู่เส้นทางของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงหลังจากการระบาดของโควิด การเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นและเพื่อรองรับผลกระทบด้านลบอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการ”
อาคมยังกล่าวย้ำว่า นโยบายการคลังได้มีบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่โควิดระบาด โดยระหว่างปี 2020-2021 รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดเงินกู้รวม 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อสนับสนุนระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ความช่วยเหลือจากรัฐบาลเหล่านี้ได้ช่วยลดอัตราความยากจน (Poverty Rate) จาก 6.8% ในปี 2020 เหลือ 6.3% ในปี 2021
อย่างไรก็ตาม จากรายงานของ Thailand Economic Monitor ประจำเดือนธันวาคม ยังระบุว่า การดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อรองรับสถานการณ์โควิดได้ช่วยบรรเทาผลกระทบของวิกฤตที่มีต่อสวัสดิการของครัวเรือนได้อย่างมาก แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแต่คาดว่าความยากจนจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.6% ในปี 2022 จาก 6.3% ในปี 2021 เนื่องจากมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิดกำลังจะสิ้นสุดลงท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น นอกจากนี้ผลกระทบด้านลบอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงราคาพลังงานที่สูงขึ้น อาจทำให้พื้นที่ทางการคลังลดลง เว้นแต่จะมีการนำมาตรการช่วยเหลือทางสังคมที่เจาะจงเฉพาะกลุ่มเป้าหมายมาใช้มากขึ้น
ขณะที่ เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาศารโลก กล่าวว่า วิกฤตในปัจจุบันเป็นแรงผลักดันที่สำคัญเพื่อให้เกิดการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง โดยการปรับปรุงคุณภาพและการจัดสรรการใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งเพิ่มการจัดเก็บรายได้ที่ต่ำตามโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้จ่าย ขณะที่ยังมีความจำเป็นต้องปรับปรุงผลกระทบของนโยบายการคลังในด้านการกระจายความเท่าเทียมและการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ดังนั้นการใช้จ่ายภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งความพยายามในการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินการ
รายงานฉบับนี้ยังเสนอแนะให้มีการพัฒนาอาชีพและเพิ่มโอกาสในการหารายได้สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ขณะเดียวกันก็เพิ่มพื้นที่ทางการคลังเพื่อให้มีการใช้จ่ายอย่างเพียงพอในการให้ความช่วยเหลือทางสังคมสำหรับกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มคนที่ยากจนสุดขั้ว การจัดหาเงินทุนสำหรับการลงทุนของรัฐที่จำเป็นทั้งในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และทุนมนุษย์ เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนามนุษย์ในระยะยาว จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายในการลดความยากจนอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังกล่าวอีกว่า แม้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ขยายตัวถึง 4.5% ซึ่งนับเป็นอัตราที่เร็วที่สุดในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในปีที่กำลังจะมาถึง เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ได้แก่
- ความผันผวนในตลาดการเงินโลก เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศ
- เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมไปถึงความกังวลว่าจะเกิดภาวะถดถอย
- ความเป็นไปได้ที่โควิดจะกลายพันธุ์เพิ่ม
อาคมยังกล่าวว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะถูกปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอน แต่ก็ยังมีโอกาสมากมายสำหรับเศรษฐกิจไทย โดยกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะโต 3.5% และ 3.8% ในปี 2023 (สูงกว่าคาดการณ์ของธนาคารโลกที่มองว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 3.6% ในปีหน้า) เนื่องจากมีแรงหนุนจากการเดินทางเข้าประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยกระทรวงการคลังยังหวังว่า ในปีหน้าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยจะเพิ่มเป็น 2 เท่า แตะระดับ 21.5 ล้านคนในปีหน้า
สำหรับประเด็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนพฤศจิกายนที่ชะลอตัวเหลือ 5.5% นับเป็นการชะลอตัวเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน อาคมมองว่าทิศทางดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยแตะจุดพีคไปแล้วและกำลังเคลื่อนที่สู่กรอบเป้าหมาย จึงคาดหวังว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 6% ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ