คลังมั่นใจ งบ 1 ล้านล้านบาทผ่านโครงการลงทุนและกระตุ้นการบริโภค ผลักดันเศรษฐกิจปีหน้าฟื้นตัว เน้นพัฒนา 3 เรื่องสำคัญ การรักษาสิ่งแวดล้อม พัฒนาสู่สังคมดิจิทัล กระจายการเติบโตสู่ฐานราก พร้อมระบุตลาดทุนไทยจะเป็นแหล่งระดมทุนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมฝั่งเอกชน เตรียมเพิ่มพัฒนาด้านดิจิทัลสู่แผนพัฒนาตลาดทุนปี 2565-2570
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘เหลียวหลังแลหน้า มองทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 65’ จัดโดยสำนักข่าวไทย ระบุว่า ปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยราว 4% โดยจะมีมาตรการทางการคลังคอยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับปี 2563-2564
โดยงบประมาณสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2565 อยู่ที่ราวๆ 1 ล้านล้านบาท จะถูกใช้สำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มแก่ภาคประชาชน รวมถึงใช้สำหรับกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง เหมือนปี 2564 ที่มีโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ปี 2565 รัฐบาลมีความสนใจพัฒนาในหลายๆ เรื่อง แต่เรื่องที่จะโฟกัสมี 3 เรื่องหลัก คือ การเปลี่ยนแปลงทางสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นที่นานาประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยในส่วนของรัฐบาลไทยได้เตรียมแผนต่างๆ เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน อาทิ นโยบายรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเกี่ยวเนื่องจากภาคการขนส่งอันเป็นแหล่งผลิตก๊าซคาร์บอนลำดับต้นๆ ของประเทศ โดยในรายละเอียดเชื่อว่าต้นปี 2565 จะได้เห็นความชัดเจนเชิงนโยบายชัดขึ้น
เรื่องที่ 2 คือสังคมดิจิทัล ซึ่งมองว่าปี 2565 จะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการโดยรัฐที่จะปรับมาใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น นอกจากนี้จะมีการพัฒนาด้าน Digital Infrastructure มากขึ้น ซึ่งจะได้เห็นผ่านการร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
เรื่องที่ 3 คือการกระจายการเติบโตสู่กลุ่มฐานรากมากขึ้น โดยหากดูสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคอุตสหกรรมและแรงงานในช่วง 2 ปีที่เผชิญกับโควิด จะพบว่ามีแรงงานที่กลับถิ่นฐานและไม่ต้องการกลับมาทำงานแบบเดิม และต้องการกลับมาทำงานเหมือนเดิม สิ่งที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการคือสนับสนุนให้เกิดงานใหม่ๆ ปลดล็อกข้อจำกัดด้านการเดินทาง เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจฐานรากที่เท่าเทียม
“ในเรื่องนี้ภาคการท่องเที่ยวเองมีความเกี่ยวเนื่องอย่างมาก เพราะหากสร้างการเติบโตที่กระจายตัวได้ ก็จะสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศได้ ภาคการท่องเที่ยวเองก็จะกลับมาเติบโตได้ด้วยการเดินทางภายในประเทศ เพราะตอนนี้เราคงคาดหวังให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับเข้ามาเที่ยวในไทยเป็น 40 ล้านคนเหมือนอดีตไม่ได้”
ส่วนสุดท้าย รัฐบาลจะดำเนินการแผนพัฒนาตลาดทุนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วยอิทธิพลของดิจิทัล ตลาดทุนเองก็ต้องปรับโครงสร้างตัวเอง ซึ่งการพัฒนาด้านนี้อยู่ในก็อยู่ในแผนพัฒนาตลาดทุนอยู่แล้ว โดยตั้งใจว่าปี 2565-2570 จะเป็นปีที่ตลาดทุนไทยใช้แผนพัฒนาใหม่ที่เน้นให้มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น
ขณะที่ ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในการบรรยายพิเศษหัวข้อ ‘ตลาดหุ้นไทยกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 65’ ว่า ในปีหน้า จะเปิดให้บริการ LiVE Exchange ที่เป็นแหล่งระดมทุนสำหรับธุรกิจ SMEs และสตาร์ทอัพ ซึ่งปัจจุบันทาง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์กำลังทำงานร่วมกัน เพื่อให้ตลาดนี้ออกมาได้ในต้นปีหน้า ซึ่งตรงนี้จะเป็นอีกบทบาทของตลาดทุนที่เป็นส่วนช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2564 ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มีการฟื้นตัวที่ต่างกันออกไป เรียกว่ารูปแบบของ K-Shaped โดยกลุ่มที่ฟื้นตัวได้ดีในปี 2564 คือกลุ่มเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และเกษตรและอาหาร ซึ่งล้วนมีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างมาก ส่วนกลุ่มที่เติบโตได้ไม่ดีนักคือกลุ่มที่เกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศ คือ ภาคการเงิน ภาคธนาคาร ภาคประกัน อสังหาริมทรัพย์ ทรัพยากร สินค้าอุปโภคบริโภค การโรงแรมและการท่องเที่ยว
“ในปี 2565 กลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวในปี 2564 ก็จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นได้ เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจในประเทศเองก็จะฟื้นตัวมากขึ้นจากปัจจัยเรื่องวัคซีนที่ฉีดได้มากขึ้น”
เขากล่าวว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยทำหน้าที่ได้ดีในการเป็นแหล่งระดมทุนของผู้ประกอบกิจการ และเป็นช่องทางการลงทุนของนักลงทุน โดยมีมูลค่าตลาด (มาร์เก็ตแคป) เกือบ 20 ล้านล้านบาทแล้ว เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศไทย จะอยู่ที่ 1.2 เท่า ของ GDP
ทั้งนี้ ในปี 2563 มีการระดมทุนในตลาดแรก (IPO) ถึง 1.6 แสนล้านบาท สูงเป็นอันดับ 8 ในโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย ตามหลังแค่จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังเป็นที่ 1 ในอาเซียนมาหลายปี ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงสมรรถภาพ ความสามารถในการระดมทุนของตลาดหุ้นไทยตอนนี้ติดระดับโลก และในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 มีมูลค่า IPO มากกว่า 1.2 แสนล้านบาทแล้ว
ขณะที่การระดมทุนในตลาดรอง (SO) ก็มีมากกว่า 1 แสนล้านบาท และในช่วงที่ผ่านมามีจำนวนการระดมทุนมากกว่าตลาดแรกประมาณ 4-5 เท่า ซึ่งแต่ละปีจะมี IPO ประมาณ 40-50 บริษัท แต่การระดมทุนผ่านตลาดรองจะมีกว่า 200 รายการ
นอกจากนี้ยังมีตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีมูลค่าเกือบ 4 ล้านล้านบาท ตราสารหนี้ภาครัฐมูลค่าประมาณ 11 ล้านล้านบาท และสินเชื่อธนาคารพาณิชย์มีถึง 18 ล้านล้านบาท
ส่วนในด้านช่องทางการลงทุนนั้น ปัจจุบันมีจำนวนบัญชีนักลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 7 แสนบัญชีในปี 2563 และเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.4 ล้านบัญชีในปี 2564 ช่วง 3 ไตรมาสแรก (เดือนมกราคม-กันยายน 2564) แสดงให้เห็นว่ามีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่ด้านสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทย ปัจจุบันมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 9.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน จากปี 2563 ที่อยู่ที่ประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาทต่อวัน มูลค่าดังกล่าวสูงที่สุดในอาเซียน และปัจจุบันค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP