กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (GFA) ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ให้ร่วมกันเร่งให้ความช่วยเหลือและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ที่มีฐานะการเงินเปราะบางและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน
โดยให้เหตุผลว่า การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของ SFIs ในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการชะลอการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้แบบชั่วคราว เช่น การพักชำระหนี้ การขยายระยะเวลา ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาลูกหนี้ที่เสื่อมคุณภาพ ซึ่งเป็นปัญหาระยะยาวที่สะสมมาได้อย่างแท้จริง
ด้วยเหตุผลข้างต้น ทั้ง 3 หน่วยงานจึงเห็นร่วมกันให้ ธปท. กำหนดกรอบดำเนินการและสร้างกลไกผลักดันให้ SFIs เร่งให้ความช่วยเหลือและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เป็นการแก้ไขปัญหาของลูกหนี้ได้อย่างตรงจุดในระยะยาว โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ยังต้องเผชิญกับภาวะการระบาดของโควิด เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจหรือใช้ชีวิตประจำวันต่อไปได้ อันจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม โดยมาตรการดังกล่าวประกอบด้วยแนวทางและมาตรการดำเนินการในการช่วยเหลือและแก้ไขหนี้ในระยะยาว ดังนี้
- แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ที่เป็นการยกระดับแนวนโยบายให้ SFIs ปฏิบัติเดิม เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อรองรับการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในมิติของการจัดทำนโยบาย การกำกับดูแล และกระบวนการพิจารณาการปรับโครงสร้างหนี้ ตลอดจนมีการควบคุมภายในที่รัดกุม ซึ่งจะเอื้อให้ SFIs สามารถใช้ดุลยพินิจอย่างระมัดระวังและรอบคอบในการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างแท้จริง
- มาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ SFIs เร่งแก้ไขปัญหาหนี้เดิม ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะยาวอย่างตรงจุดและเหมาะสมกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละราย โดยกำหนดงวดการจ่ายชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงมากของลูกหนี้ และให้ลูกหนี้ทยอยจ่ายชำระหนี้เพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เริ่มกลับมา รวมทั้งต้องเร่งช่วยลูกหนี้ให้ได้จำนวนมากและรวดเร็ว ซึ่ง ธปท. ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองตามความเข้มข้นของการให้ความช่วยเหลือ โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 – 31 ธันวาคม 2566 ซึ่งจะสอดคล้องกับมาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 กันยายน 2564 ของธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินการอยู่
พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์วิกฤตต่างๆ SFIs ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งช่วงวิกฤตโควิดใน 2 ปีที่ผ่านมา SFIs ได้ร่วมกันช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้และการให้สินเชื่อเพื่อเติมสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ สำหรับปีหน้า จากกรอบหลักเกณฑ์และมาตรการที่ ธปท. ได้กำหนดขึ้น จะเป็นแนวทางให้ SFIs ได้นำไปปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และลดภาระหนี้ให้กับลูกหนี้อย่างแท้จริง ให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ที่ลดลง ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาวนี้ นอกจากจะช่วยให้ลูกหนี้สามารถก้าวพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ยังก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวกับ SFIs และเน้นย้ำบทบาทของ SFIs ในการเป็นสถาบันการเงินเพื่อประชาชน
รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า แนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และมาตรการแก้ไขหนี้เดิมข้างต้น มีวัตถุประสงค์ให้ SFIs มีความมั่นใจและเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้อย่างแท้จริง สอดคล้องกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นและสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ เพื่อให้ลูกหนี้ที่ยังได้รับผลกระทบหนักสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องผ่านช่วงที่ยากลำบากนี้ไปได้ ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้การช่วยเหลือลูกหนี้ของ SFIs มีความครอบคลุมและเข้าถึงลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับความเดือดร้อนได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ธปท. จะร่วมกับกระทรวงการคลัง และ GFA ในการเร่งรัดและติดตามการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด
ฉัตรชัย ศิริไล ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา SFIs ได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามกรอบมาตรการของ ธปท. และตามแนวทางการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการของแต่ละ SFIs มาเป็นระยะ ซึ่งสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้เป็นจำนวนมาก โดยมาตรการต่างๆ จะสิ้นสุดระยะเวลาในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เป็นส่วนใหญ่ สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามประกาศ ธปท. ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 นี้
โดยนอกจากการดำเนินการตามมาตรการและแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 7 แห่ง ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนการดำเนินการตามมาตรการและแนวทางดังกล่าวให้สอดคล้องกับคุณลักษณะลูกหนี้ของแต่ละ SFIs เพื่อให้ความช่วยเหลือและดูแลลูกหนี้ให้สามารถดำเนินธุรกิจหรือใช้ชีวิตประจำวันต่อไปได้ตามศักยภาพ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวมด้วย
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือหรือแก้ไขหนี้เดิม สามารถติดต่อ SFIs ที่ใช้บริการอยู่เพื่อขอรับความช่วยเหลือได้แล้ว และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อผ่าน SFIs ที่ท่านใช้บริการ หรือศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213