×

คลังเปิดตัวมาตรการปีใหม่ 2566 คาดกระตุ้นการใช้จ่าย-ลงทุนกว่า 2.78 แสนล้านบาท เพิ่มวงเงิน ‘ช้อปดีมีคืน’ ลดหย่อนภาษีสูงสุด 4 หมื่นบาท

20.12.2022
  • LOADING...
คลังเปิดตัวมาตรการปีใหม่ 2566

วันนี้ (20 ธันวาคม) อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบการดำเนินมาตรการ/โครงการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 ให้แก่ประชาชน

 

อาคมกล่าวอีกว่า แม้ไม่ได้มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปใหม่ แต่เป็นมาตรการทางภาษี และการลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารายได้ที่รัฐบาลจะสูญเสียไป 18,690 ล้านบาท แต่จะช่วยทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยในช่วงไตรมาส 1/66 และตลอดทั้งปี ประเมินว่าจะมีสภาพคล่อง การใช้จ่ายเพิ่มเติม และการลงทุนเพิ่มประมาณ 278,771 ล้านบาท และทำให้เกิดกระแสหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วงปีใหม่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


โดยมาตรการภาษีและค่าธรรมเนียม ซึ่งประกอบด้วย 5 มาตรการ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 0.76% ได้แก่

 

  1. มาตรการช้อปดีมีคืนปี 2566 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาการบริโภคในประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี รวมถึงส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและการอ่าน อีกทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีและการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์

 

โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักรให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าซื้อหนังสือ และค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยแบ่งเป็น 

 

(1) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบกระดาษ หรือใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร 

 

(2) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 10,000 บาท จากส่วนที่เกิน (1) จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น 

 

ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าสินค้าและบริการบางชนิด ได้แก่ ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์, ค่าซื้อยาสูบ, ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ, ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร, ค่าบริการจัดนำเที่ยว, ค่าที่พักในโรงแรม, ค่าสาธารณูปโภค, ค่าน้ำประปา, ค่าไฟฟ้า, ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์, ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว (ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2566 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 แม้จะจ่ายค่าบริการในช่วงระยะเวลามาตรการ) และค่าเบี้ยประกันวินาศภัย โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

 

  1. มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566 (มาตรการลดภาษีที่ดินฯ) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 2. สิ้นสุดระยะเวลาการยกเว้นภาษีให้แก่เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม และการบรรเทาภาษีกรณีผู้เสียภาษีที่ดินฯ ที่มีภาระภาษีที่ดินฯ มากกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ ในปี 2562 ในช่วง 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ (2563-2565) และ 3. มีการเพิ่มขึ้นของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในปี 2566 ซึ่งใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีที่ดินฯ โดยมาตรการดังกล่าวจะให้ลดภาษีในอัตรา 15% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ของปีภาษี 2566

 

ยกตัวอย่างเช่น กรณีมีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมูลค่า 1 ล้านบาท ใช้ประกอบกิจการ เช่น ร้านขายของชำ ร้านตัดผม ร้านขายอาหารตามสั่ง โรงงาน อาคารสำนักงาน เป็นต้น ปกติจะมีภาระภาษี 3,000 บาท แต่จะได้รับการลดภาษีจากมาตรการลดภาษีที่ดินฯ 450 บาท คงเหลือภาษีที่ต้องชำระ 2,550 บาท

 

และตัวอย่างกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับลดภาษีในอัตรา 50% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้อยู่แล้ว เช่น โรงผลิตไฟฟ้า เขื่อน เป็นต้น จะได้รับการลดภาษีในอัตรา 15% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้หลังจากได้รับการลดภาษี 50% แล้ว 

 

อย่างไรก็ดี ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการลดภาษี 90% แล้ว เช่น สวนสัตว์ สวนสนุก สถานที่เล่นกีฬา เป็นต้น จะไม่ได้รับการลดภาษีตามมาตรการลดภาษีที่ดินฯ เพิ่มเติมอีก

 

  1. มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยปี 2566 (มาตรการลดค่าธรรมเนียมฯ) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและลดภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ และสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด

 

โดยมาตรการดังกล่าวจะให้ลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 1% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งบ้านมือ 1 และมือ 2) เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

 

  1. มาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานภายในประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและบริการให้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาล และบรรเทาผลกระทบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสายการบินภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด

 

โดยลดอัตราภาษีตามปริมาณของน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ใช้บินในประเทศ จากลิตรละ 4.726 บาท เหลือลิตรละ 0.20 บาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2566

 

  1. มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการลดภาระของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด

 

โดยให้สิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ประเภทที่ 1 และ 2 สำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์จะประกอบกิจการต่อเนื่อง ณ สถานประกอบการเดิม ประเภทใบอนุญาตเดิม ที่ยื่นคำขอระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2566

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X