×

ผลวิจัยเผย วัคซีน Moderna อาจมีประสิทธิภาพป้องกันเดลตาเหนือกว่า Pfizer ขณะที่โอกาสติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

โดย THE STANDARD TEAM
11.08.2021
  • LOADING...
Moderna

บรรดานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยังคงเดินหน้าศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโควิดเพื่อที่จะค้นหาวิธีการรักษาโรคระบาดใหญ่ที่คร่าชีวิตประชากรโลกไปแล้วกว่า 4 ล้านคน โดยสำนักข่าว Reuters ได้สรุปสาระสำคัญจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดเกี่ยวกับโควิดไว้ดังนี้

 

วัคซีนของ Moderna อาจป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ดีที่สุดในบรรดาวัคซีนป้องกันโควิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

วัคซีนชนิด mRNA จาก Pfizer และ BioNTech อาจมีประสิทธิภาพน้อยกว่าวัคซีนของ Moderna เมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา ตามรายงานสองฉบับที่เผยแพร่บน medRxiv ซึ่งเป็นแหล่งรวมงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพก่อนตีพิมพ์ (Preprint) โดยรายงานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ระบุว่า ในการศึกษาผู้ป่วยมากกว่า 50,000 รายในระบบ Mayo Clinic Health System นักวิจัยพบว่า วัคซีน Moderna มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อที่ 76% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่สายพันธุ์เดลตากลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ลดลงจากระดับ 86% ในช่วงต้นปี 2564 ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน นักวิจัยกล่าวว่าประสิทธิภาพดังกล่าวของวัคซีน Pfizer-BioNTech ลดลงเหลือ 42% จาก 76% ดร.เวนกี ซูนดาราราจัน จาก nference บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลในแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นหัวหน้าการวิจัยของ Mayo Clinic กล่าวว่า แม้วัคซีนทั้งสองชนิดยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer หรือ Moderna เมื่อช่วงต้นปีนี้ อาจจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีน Moderna เป็นบูสเตอร์โดสในไม่ช้านี้

 

นอกจากเดลตาแล้ว นักวิทยาศาสตร์กำลังจับตาดูการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่

 

ในการศึกษาอีกฉบับหนึ่งที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในเมืองออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา พบว่า ผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีน Moderna สร้างการตอบสนองภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสูงกว่าผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีน Pfizer-BioNTech โดยเฉพาะภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล แอน-โคล้ด จินกราส จากสถาบันวิจัย Lunenfeld-Tanenbaum Research Institute ในโทรอนโต ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาวิจัยดังกล่าว ระบุว่า ผู้สูงอายุอาจจำเป็นต้องได้รับวัคซีนกระตุ้น และอาจต้องเสริมมาตรการป้องกันอื่นๆ ขณะที่โฆษกของ Pfizer แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานการวิจัยทั้ง 2 ฉบับว่า “เรายังคงเชื่อว่า… อาจจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพิ่มภายใน 6-12 เดือนหลังจากฉีดครบ 2 เข็มแล้ว เพื่อที่จะรักษาระดับการป้องกันสูงสุด”

 

การติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เมื่อฉีดผ่านไปนานหลายเดือน

 

ข้อมูลใหม่เผยให้เห็นว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer-BioNTech เข็มที่ 2 นาน 5 เดือนขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะติดโควิดมากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มยังไม่ถึง 5 เดือน นักวิจัยได้ทำการศึกษาในผู้ใหญ่ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเกือบ 34,000 คนในอิสราเอล เพื่อดูว่ากลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนแล้วยังติดเชื้อโควิดหรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่า พบผู้ติดเชื้อโดยรวม 1.8% ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทีมวิจัยได้เผยแพร่รายงานบน medRxiv โดยยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ รายงานระบุว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองทุกช่วงอายุมีโอกาสติดเชื้อสูงขึ้นเมื่อได้รับวัคซีนเข็ม 2 ไปแล้วอย่างน้อย 146 วัน ขณะที่ในบรรดาผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 60 ปีนั้น มีโอกาสติดเชื้อสูงขึ้นเกือบ 3 เท่าหลังฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายไปแล้วอย่างน้อย 146 วัน อย่างไรก็ดี ดร.ยูจีน เมอร์ซอน ผู้ร่วมเขียนรายงานวิจัย จาก Leumit Health Services ในอิสราเอล กล่าวว่า “มีผู้ป่วยน้อยมากที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และยังเร็วเกินไปที่จะประเมินความรุนแรงของการติดเชื้อใหม่เหล่านี้ในแง่ของการเข้าโรงพยาบาล ความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือการเสียชีวิต” เขากล่าวเสริม “เรากำลังวางแผนที่จะทำการวิจัยนี้ต่อไป”

 

ถุงไข่ในรังไข่ไม่ได้รับอันตรายจากภูมิคุ้มกันโควิด

 

การศึกษาหนึ่งเผยว่า ถุงไข่ในรังไข่จะไม่ได้รับอันตรายจากภูมิคุ้มกันโควิด ไม่ว่าภูมิคุ้มกันเหล่านั้นจะเกิดจากการติดเชื้อหรือการฉีดวัคซีนก็ตาม นักวิจัยชาวอิสราเอลวิเคราะห์ของเหลวจากถุงรังไข่หรือถุงน้ำในผู้หญิง 32 คน ที่มีการเก็บไข่เพื่อนำมาผสมกับอสุจิในหลอดทดลอง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้หญิงที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนและไม่ติดโควิดจำนวน 14 คน และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ที่หายจากโรคโควิด หรือได้รับวัคซีน Pfizer-BioNTech มาแล้ว และใน 2 กลุ่มนี้ นักวิจัยพบภูมิคุ้มกันไวรัสโควิดในถุงน้ำ ผลการทดลองพบว่า ทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน เมื่อพิจารณาจากความสามารถของถุงน้ำในการสร้างฮอร์โมนเพศหญิง บำรุงและหล่อเลี้ยงไข่ ซึ่งจะส่งผลให้ได้ตัวอ่อนที่มีคุณภาพดี นอกจากนี้จากการศึกษาไข่ที่ได้จากผู้ป่วยแต่ละคนก็ไม่พบความแตกต่างในอัตราของตัวอ่อนที่มีคุณภาพดี จากการเปิดเผยชอง ดร.ยาคอฟ เบนทอฟ จาก Hadassah-Hebrew University Medical Center ในกรุงเยรูซาเลม ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Human Reproduction เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

 

ภาพ: Long Visual Press / Universal Images Group via Getty Images

อ้างอิง:  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X