×

‘สถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่’ ประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต

โดย Heritage Matters
09.09.2023
  • LOADING...
สถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • ‘สถาปัตยกรรมสมัยใหม่’ ที่สร้างขึ้นระหว่างทศวรรษ 2490-2510 เป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต หากมองในภาพรวม สถาปัตยกรรมรูปแบบนี้นับว่าเป็น 1 ใน 3 ลำดับชั้นทางประวัติศาสตร์ของเมืองและชุมชนทั่วประเทศ ร่วมกับสถาปัตยกรรมแบบประเพณีนิยม และสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
  • หลายคนมองว่าอาคารคอนกรีตในยุคนั้นล้าสมัย ทรุดโทรม หรือไม่ก็ดูธรรมดาสามัญ อาคารเหล่านี้อาจเป็นโรงแรม ธนาคาร ออฟฟิศ สนามกีฬา หรือบ้านพักอาศัย บางแห่งอาจได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดีจนนับได้ว่ามีความงดงาม แต่หลังจากนี้ในอีก 10 หรือ 20 ปี อาคารหลายแห่งอาจถูกรื้อถอนทุบทำลายเหมือนกับสถาปัตยกรรมจากยุคเดียวกันจำนวนมาก เพราะเราหลายคนมองข้ามคุณค่าของสถาปัตยกรรมรูปแบบนี้ไป

ท่านผู้ที่กำลังอ่านบทความนี้อาจคิดว่าเรามาเพื่อเรียกร้องให้เกิดการรักษาสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ของไทยให้ดียิ่งขึ้น แต่รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยแบบแรกๆ ที่ท่านนึกถึงอาจไม่ใช่สถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นระหว่างทศวรรษ 2490-2510

 

หลายคนมองว่าอาคารคอนกรีตในยุคนั้นล้าสมัย ทรุดโทรม หรือไม่ก็ดูธรรมดาสามัญ อาคารเหล่านี้อาจเป็นโรงแรม ธนาคาร ออฟฟิศ สนามกีฬา หรือบ้านพักอาศัย บางแห่งอาจได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดีจนนับได้ว่ามีความงดงาม แต่หลังจากนี้ในอีก 10 หรือ 20 ปี อาคารหลายแห่งอาจถูกรื้อถอนทุบทำลายเหมือนกับสถาปัตยกรรมจากยุคเดียวกันจำนวนมาก เพราะเราหลายคนมองข้ามคุณค่าของสถาปัตยกรรมรูปแบบนี้ไป

 

สถาปัตยกรรมสมัยใหม่เป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต หากมองในภาพรวม สถาปัตยกรรมรูปแบบนี้นับว่าเป็น 1 ใน 3 ลำดับชั้นทางประวัติศาสตร์ของเมืองและชุมชนทั่วประเทศ ร่วมกับสถาปัตยกรรมแบบประเพณีนิยม และสถาปัตยกรรมร่วมสมัย เมื่ออาคารเหล่านี้หายไป ช่องว่างจึงเกิดขึ้น เหมือนฟันหลุดหลอ ทำให้ความรุ่มรวยหลากหลายของชุมชนเมืองลดลง หนำซ้ำที่มาแทนกลับกลายเป็นอาคารรุ่นใหม่ที่มีรูปแบบจำเจ 

 

นี่ไม่เพียงแต่ทำให้คุณค่าของบริเวณนั้นๆ ลดลง แต่ยังเป็นการทำลายประวัติศาสตร์ของเราเอง ช่วงทศวรรษ 2500 และ 2510 เป็นช่วงเวลาอันสำคัญ และสถาปัตยกรรมเหล่านี้ก็เป็นที่ตั้งของสถาบัน หน่วยธุรกิจ หรือเป็นที่พำนักของบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการสร้างบ้านแปงเมือง มีบทบาทในการนำพาเศรษฐกิจและสังคมไทยยุคหลังสงครามไปสู่เวทีสากล

 

สถาปัตยกรรมสมัยใหม่มีแนวคิดหลักที่ให้ความสำคัญกับสัดส่วน วัสดุ และวัตถุประสงค์ของการใช้งาน รองรับการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจที่ต้องอาศัยอาคารขนาดใหญ่ และตอบโจทย์ของภาครัฐเมื่อต้องขยายระบบราชการ ในเวลานั้นสถาปนิกชาวไทยที่ร่ำเรียนมาจากต่างประเทศได้นำแนวคิดเรื่องอารยสถาปัตย์ (Universal Design Principles and Forms) มาปรับใช้กับงานออกแบบในไทย

 

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมหลังสงครามโลกช่วยให้ประชาชนหลายสิบล้านคนเข้าถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย สร้างอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเสรีภาพและความมั่นคงในชีวิตเพิ่มขึ้น แม้ยุคสงครามเย็นจะมีด้านมืดและเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่สถาปัตยกรรมสมัยใหม่แสดงออกถึงความเชื่อมั่นต่อแนวคิดการพัฒนา นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมในปัจจุบันสถาปัตยกรรมรูปแบบนี้ถึงยังให้เกิดความรู้สึกโหยหาอดีต เพราะอาคารหลายแห่งจากยุคนั้นเป็นเครื่องเตือนใจถึงเส้นทางที่เราได้ฝ่าฟันมาจนมีวันนี้ อาคารเหล่านี้ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพื่อจะได้ทำหน้าที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของเราต่อไป

 

สถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่

สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ถนนสาทรใต้ 

 

นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมเริ่มบันทึกภาพสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เมื่อสิบปีก่อน การถ่ายภาพช่วยให้ผมเกิดมุมมองและความคิดที่ละเอียดแจ่มชัด ผ่านการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของอาคารและสถาปนิกผู้ออกแบบ จนมาถึง พ.ศ. 2560 การเก็บข้อมูลเริ่มมีความเร่งด่วนยิ่งขึ้น เมื่ออาคารสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยกำลังจะถูกรื้อถอน อาคารแห่งนี้ออกแบบโดย Ken Woolley ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2521 และกลายเป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น หลังจากการรื้อถอนอาคาร ผมจึงเริ่มเผยแพร่ภาพของตัวเองผ่านเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊กในชื่อ Foto_ momo (ชื่อเต็ม: Fotograph of the Modern Movement)

 

จวบจนปัจจุบัน ผมได้บันทึกภาพอาคารสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในไทยไปแล้วกว่า 1,000 แห่ง ในกลุ่มนี้รวมถึงอาคาร 150 แห่งที่นับได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่พิเศษหรือมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีผู้ที่ชื่นชอบอาคารประเภทนี้จำนวนไม่น้อยมักส่งข้อความมาหาเพื่อให้เข้าไปบันทึกภาพอาคารทรงคุณค่าที่ไม่มีคนรู้จักก่อนจะโดนรื้อถอน มีอาคารจำนวนมากที่ประสบชะตากรรมเช่นนี้ตั้งแต่วันแรกของ Foto_momo

 

หนึ่งในตัวอย่างสำคัญได้แก่อาคารรัฐสภาบนถนนอู่ทองใน ออกแบบโดย พล จุลเสวก ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2512 และถูกรื้อถอนเมื่อ พ.ศ. 2562 หรืออาคารโรงแรมดุสิตธานี ออกแบบโดย Yozo Shibata ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2513 เป็นอาคารที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ อยู่หลายปี นับเป็นโรงแรมแห่งแรกที่มีร้านอาหารชื่อดังตั้งอยู่ชั้นบนสุด จากตรงนั้นสามารถมองเห็นทัศนียภาพไปไกลถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ดุสิตธานีคือจุดหมายปลายทางอันเป็นที่จดจำของนักเดินทาง ได้รับรองแขกวีไอพี บุคคลสำคัญ การแสดง การประกวดนางงาม และถูกรื้อถอนเมื่อ พ.ศ. 2562

 

สถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่

ด้านหน้าโรงภาพยนตร์สกาลา สยามสแควร์

 

ที่น่าเศร้าที่สุดคือโรงภาพยนตร์สกาลา ที่นับว่าเป็นอาคารโรงภาพยนตร์ที่สวยงามที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกแบบโดย จิระ ศิลป์กนก ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2512 การตกแต่งภายในโรงภาพยนตร์นี้เป็นที่ชื่นชอบของทุกคน ตั้งแต่กระเบื้องปูพื้น บันได เสาอาคาร เพดาน โคมไฟระย้า ไปจนถึงห้องจำหน่ายบัตร นอกจากนี้ในส่วนของการอนุรักษ์ก็ยังดูมีความเป็นไปได้สูงกว่าอาคารอื่นๆ เพราะเจ้าของเป็นหน่วยงานเพื่อการศึกษา และอาคารตั้งอยู่ในย่านที่สำคัญของเมือง

 

โรงภาพยนตร์สกาลามีศักยภาพในการพัฒนาใหม่ๆ เป็นศูนย์กลางของเทศกาลภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ รองรับการแสดงสด หรือกิจกรรมสาธารณะอื่นๆ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยามฯ และประชาชนหลายพันคน ได้ออกมาเรียกร้องให้อนุรักษ์ตัวอาคาร แต่ไม่มีการฟังเสียงใดๆ 

 

ลำดับถัดไปในรายการอาคารที่เสี่ยงจะสูญสลายคือตึกหุ่นยนต์บนถนนสาทร สุเมธ ชุมสาย ออกแบบให้กับธนาคารเอเชียเมื่อ พ.ศ. 2529 โดยได้แรงบันดาลใจมาจากหุ่นยนต์ของเล่นของบุตรชาย อาคารที่ได้รับรางวัลด้านการออกแบบนี้ได้รับการจัดให้เป็น 1 ใน 50 อาคารที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 20 โดย The Museum of Contemporary Art, Los Angeles ตึกหุ่นยนต์อาจไม่ถูกรื้อถอน แต่รูปแบบด้านนอกอาคารกำลังถูกปรับเปลี่ยนจนไม่เหลือเค้าเดิมโดยสิ้นเชิง เรียกได้ว่าเป็นการทำลายอีกหนึ่งจุดเด่นของกรุงเทพฯ เช่นกัน

 

อาจต้องกล่าวด้วยว่า นอกจากคุณสุเมธจะเป็นสถาปนิกสมัยใหม่แล้ว ยังเป็นผู้บุกเบิกการอนุรักษ์แหล่งมรดกด้วย ท่านไม่ได้เป็นเพียงผู้เสนอแนวคิด แต่เมื่อหลายสิบปีก่อนยังเคยลงถนนพร้อมกับกลุ่มผู้ประท้วง เพื่อเรียกร้องให้รักษาอาคารทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมหลายแห่ง

 

เช่นเดียวกับในสมัยที่คุณสุเมธยังหนุ่ม วันนี้เรายังคงต้องการนโยบายการจัดการมรดกที่เข้มแข็ง กฎหมาย ระเบียบ กองทุน และแผนการที่จะใช้รักษาทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ซึ่งรวมไปถึงอาคารสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เรายังคงต้องการผู้นำ

 

สถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่

อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง

 

เป็นข่าวดีที่ปัจจุบันเริ่มมีสถาบันและหลายกลุ่มธุรกิจหันมาสนใจงานด้านอนุรักษ์จนนับว่าประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น โครงการบูรณะอาคารไปรษณีย์กลางโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เพื่อปรับปรุงให้เป็นศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จนกลายเป็นห้องสมุดและพื้นที่จัดแสดงที่มีความสำคัญระดับโลก ให้บริการแก่ผู้ประกอบการใหม่ นักออกแบบ นักเรียนออกแบบ และเป็นศูนย์กลางการจัดงาน Bangkok Design Week ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

 

สถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่

อาคารโรงงานยาสูบ เขตคลองเตย

 

ในทำนองเดียวกัน โกดังเก่าจำนวนหนึ่งภายในเขตโรงงานยาสูบที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2500 กำลังได้รับการบูรณะให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์และศูนย์กีฬาสำหรับสวนป่าเบญจกิติ โดยกรมธนารักษ์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในโครงการดังกล่าว

 

นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น ยังเป็นตัวอย่างความสำเร็จในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาคารสำนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดิมได้รับการปรับปรุงเป็นพื้นที่จัดแสดงเหรียญกษาปณ์และธนบัตร ตัวอาคารก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2510 ออกแบบโดย จิระ ศิลป์กนก ผู้เป็นสถาปนิกให้กับโรงภาพยนตร์สกาลา

 

ในอนาคตที่มรดกสถาปัตยกรรมสมัยใหม่กำลังจะเลือนหายจางไปทุกวัน เราหวังว่าจะมีนโยบายที่เข้มแข็งเกี่ยวกับมรดกที่จับต้องได้นี้ ให้อาคารสมัยใหม่ที่ ‘ล้าสมัย’ ของเรา กลายเป็นโอกาสในการสร้างสินค้าสาธารณะ เช่น พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี ศูนย์สร้างสรรค์ ห้องสมุด และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราไปสู่หน้าประวัติศาสตร์ของประเทศอีกนานหลายทศวรรษ

 

คำอธิบายภาพเปิด: ตึกหุ่นยนต์ หรืออาคารสำนักงานธนาคาร UOB ถนนสาทรใต้ 

 

วีระพล สิงห์น้อย เป็นช่างภาพ และผู้เชี่ยวชาญด้านภาพถ่ายสถาปัตยกรรม เจ้าของเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊ก Foto_ momo: Fotograph of the Modern Movement

 

บทความนี้ได้รับดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566

 

ถ่ายภาพ: วีระพล สิงห์น้อย

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์

แปลเป็นภาษาไทย: พีรพัฒน์ อ่วยสุข

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising