×

หมอชิต 2 ประชาชนแน่นกว่า 8 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ เร่งกลับหลังเตรียมปิดพรมแดน

โดย THE STANDARD TEAM
22.03.2020
  • LOADING...
แรงงานต่างชาติกลับบ้าน โควิด-19

วันนี้ (22 มีนาคม) จิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชน ภายหลังที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ประกาศปิดจุดสำคัญ ย่านการค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) ประกาศเตรียมปิดด่านพรมแดนถาวร 18 จุด ในวันพรุ่งนี้ (23 มีนาคม) ว่า ขณะนี้มีผู้โดยสารเดินทางมากลับภูมิลำเนาประมาณ 80,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ ที่ต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่ง บขส. ได้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเดินทาง ตามข้อสั่งการของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

 

นอกจากนี้ มีการเพิ่มมาตรการในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับผู้โดยสารที่เป็นแรงงานต่างชาติ และขอให้ผู้โดยสารที่เดินทางเตรียความพร้อมในการเดินทางให้ดี สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างขณะใช้บริการในสถานีขนส่ง รวมทั้งเร่งจัดหารถเสริม เพื่อระบายผู้โดยสารออกไป ซึ่งคาดว่าภายใน 1-2 วันนี้ การเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาจะเข้าสู่ภาวะปกติ 

 

“บขส. ขอสนับสนุนเครื่องวัดอุณหภูมิ สำหรับตรวจคัดกรองผู้โดยสาร และขอสนับสนุนเจลแอลกอฮอล์ สำหรับติดตั้งในสถานีขนส่ง เพื่อให้เพียงพอรองรับผู้โดยสารที่ทะลักเข้ามาเป็นจำนวนมาก” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าว

 

กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวต่ออีกว่า บขส. ได้พยายามบริหารจัดการอย่างเต็มความสามารถ ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด ซึ่ง บขส. ไม่สามารถสั่งหยุดความต้องการการเดินทางของประชาชนได้ แต่หากรัฐบาลมีนโยบายประกาศหยุดการเดินรถ บขส. ก็พร้อมจะปฏิบัติตามนโยบายทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และขอสนับสนุนพื้นที่ เพื่อให้แรงงานต่างชาติที่เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ มีจุดพักเมื่อถึงสถานีปลายทาง อย่างไรก็ดีขอความร่วมมือประชาชน หากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ให้งดการเดินทางมายังสถานีขนส่งผู้โดยสารด้วย

 

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ thestandard.co/coronavirus-coverage

และอัปเดตทุกความเคลื่อนไหวของโรคโควิด-19 ได้ที่ www.facebook.com/thestandardth

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising