กระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายนยังโตต่อเนื่องที่ 9.9% ขณะที่ภาพรวมการส่งออก 4 เดือนแรกขยายตัวได้ 13.7% ชี้หลายประเทศระงับการส่งออกอาหารไร้ผลกระทบและเป็นโอกาสขยายตลาดของไทย
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศเดือนเมษายน 2565 พบว่าตัวเลขการส่งออกขยายตัวได้ 9.9% คิดเป็นมูลค่ารวม 2.35 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 7.82 แสนล้านบาท ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวได้ 13.7% คิดเป็นมูลค่า 9.71 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 3.1 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้หากจำแนกดูตามหมวดสินค้าพบว่า การส่งออกหมวดสินค้าเกษตรขยายตัว 3% คิดเป็นมูลค่าราว 8.3 หมื่นล้านบาท หรือ 2.5 พันล้านดอลลาร์ โดยมีสินค้าที่ขยายตัวได้ดี คือ ข้าว มันสำปะหลัง เงาะสด มังคุด และมะม่วง
ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวได้ 22.8% คิดเป็นมูลค่าราว 6.4 หมื่นล้านบาท หรือ 1.9 พันล้านดอลลาร์ โดยมีสินค้าที่ขยายตัวได้ดี คือ น้ำตาลทราย อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารทะเลกระป๋อง และอาหารทะเลแปรรูป
ด้านหมวดสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ 8.3% คิดเป็นมูลค่า 5.97 แสนล้านบาท หรือ 1.79 หมื่นล้านดอลลาร์ มีรายการสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์และแผงวงจรไฟฟ้า
สำหรับตลาดที่ขยายตัวสูง 10 อันดับแรก ประกอบด้วย
- สวิตเซอร์แลนด์ +392%
- เอเชียใต้ +33.9%
- อาเซียน +26.9%
- ตะวันออกกลาง +25.4%
- แคนาดา +22.5%
- ไต้หวัน +19.3%
- แอฟริกา +14.9%
- สหรัฐอเมริกา +13.6%
- เกาหลีใต้ +11.5%
- ฮ่องกง +10.6%
สำหรับปัจจัยบวกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน ประกอบด้วย
- การส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิที่ล่าสุดได้รับเครื่องหมาย GI จากสหภาพยุโรป
- การขยายความร่วมมือทางการค้ากับตลาดใหม่ๆ เช่น ประเทศภูฏาน
- การลงนาม Mini FTA กับเมืองย่อยในอินเดียและจีน
- การประชุม JTC ระหว่างไทยและเวียดนาม ซึ่งช่วยให้การขนส่งสินค้าไทยผ่านเวียดนามไปยังจีนสะดวกขึ้น
- การเจรจาการค้าแบบทวิภาคี เพื่อเพิ่มการส่งออกไปยังเปรู มองโกเลีย และฮ่องกง
- การที่ภาคการผลิตโลกในภาพรวมยังขยายตัว
- การอ่อนค่าของเงินบาทที่มีส่วนช่วยให้การส่งออกการแข่งขันในตลาดโลกแข่งขันได้มากขึ้น
นอกจากนี้ รมว.พาณิชย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่หลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้ระงับการส่งออกสินค้าบางรายการ โดยเฉพาะในหมวดอาหารว่า จากการประเมินของกระทรวงพาณิชย์พบว่า เรื่องนี้ยังไม่ส่งผลกระทบกับไทย เนื่องจากไทยนำเข้าสินค้ากลุ่มที่ถูกระงับการส่งออกไม่มาก ในทางกลับกันยังเชื่อว่ากรณีนี้จะเป็นโอกาสให้สินค้าไทยสามารถเข้าไปทำตลาดในประเทศใหม่ๆ ได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมการส่งออกของไทยมากขึ้นด้วย
“สำหรับในประเทศไทยเอง กระทรวงต่างๆ ก็จะมีการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าเรามีปริมาณอาหารและสินค้าจำเป็นต่างๆ เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ” จุรินทร์กล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP