×

อ่านมุมมองจาก ‘นักข่าวมือถือ’ ทั่วโลก นักข่าวจะอยู่รอดอย่างไรในยุคที่พายุแห่งความเปลี่ยนแปลงถาโถม

22.07.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็มีการประชุมวิชาการว่าด้วย ‘วารสารศาสตร์มือถือ’ ที่การประชุมระดับทวีปเอเชียครั้งแรกเกิดขึ้นในบ้านเรา โดยมีผู้เชี่ยวชาญ คนในวงการสื่อ และคนจากวงวิชาการเข้าร่วมจากกว่า 32 ประเทศ 
  • บรรณาธิการข่าวจากหลายประเทศยอมรับว่าคนดูทีวีและอ่านสื่อสิ่งพิมพ์น้อยลง ส่งผลให้คนข่าวส่วนหนึ่งต้องถูกเลิกจ้าง ส่วนคนที่ยังเหลือก็ย่อมต้องปรับตัว
  • นอกจากมือถือจะเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพสำหรับการรายงานข่าวในภาวะวิกฤตแล้ว การที่มือถือมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ยังสะดวกต่อการเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยต่างๆ เช่น อุทกภัย มากกว่ากล้องถ่ายภาพหรือกล้องวิดีโอแบบดั้งเดิมที่มีขนาดใหญ่อีกด้วย
  • ไม่ว่าเทคโนโลยีหรือรูปแบบในการนำเสนอจะเปลี่ยนไปอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมการประชุมต่างเห็นความสำคัญร่วมกันคือการรักษา ‘จริยธรรม’ ของวิชาชีพนักข่าว

วิชาชีพ ‘นักข่าว’ จะอยู่รอดได้อย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบัน

 

นี่คงเป็นหนึ่งในคำถามที่สำคัญสำหรับยุคที่การทำข่าวแบบดั้งเดิมกำลังถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มาเร็วราวกับ ‘พายุ’ และเป็นยุคที่พฤติกรรมของคนเสพข่าวไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สถานการณ์ที่องค์กรสื่อปรับตัวและดิ้นรน พร้อมคนข่าวหลายส่วนที่ต้องเจอความเปลี่ยนแปลงในหน้าที่การงาน คงเป็นเครื่องยืนยันได้ดี

 

 

แต่ในวิกฤตก็ยังพอมีทางเดินต่อ เมื่อสิ่งที่เรียกกันว่า ‘วารสารศาสตร์มือถือ’ (Mobile Journalism: Mojo) หรือศาสตร์ที่ว่าด้วยการนำเสนอข่าวและสารสนเทศโดยใช้มือถือเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญ กำลังเป็นเครื่องมือในการทำข่าวที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การทำ Facebook Live เพื่อรายงานข่าวต่างๆ และเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็มีการประชุมวิชาการว่าด้วย ‘วารสารศาสตร์มือถือ’ ที่ว่ากันว่าเป็นการประชุมระดับทวีปเอเชียครั้งแรกเกิดขึ้นในบ้านเรา ในชื่อ ‘Mobile Journalism Conference Asia 2019’ โดยมีผู้เชี่ยวชาญ คนในวงการสื่อ และคนจากวงวิชาการเข้าร่วมจากกว่า 32 ประเทศ 

 

นี่คือเนื้อหาสาระส่วนหนึ่งจากวงประชุม ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนข่าวในเมืองไทยไม่มากก็น้อย

 

‘มือถือ’ ทางออกของนักข่าวในยุคที่ธุรกิจมีข้อจำกัด

ในยุคที่หลายองค์กรสื่อกำลังเผชิญวิกฤตจากปัญหาทางการเงิน ภาพของการเลิกจ้างคนข่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะในประเทศไทย บรรณาธิการข่าวจากหลายประเทศยอมรับว่าคนดูทีวีและอ่านสื่อสิ่งพิมพ์น้อยลง ส่งผลให้คนข่าวส่วนหนึ่งต้องถูกเลิกจ้าง ส่วนคนที่ยังเหลือก็ย่อมต้องปรับตัว

 

 

บรรณาธิการของสำนักข่าว NDTV ในอินเดียยอมรับกลางเวทีเสวนาว่า ปัญหาทางการเงินขององค์กรเป็นตัวผลักดันให้ต้องค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการนำเสนอข่าว ซึ่งเขาเลือกใช้ Mojo ขณะที่โปรดิวเซอร์อาวุโสของสำนักข่าว One News ของฟิลิปปินส์ก็เล่าว่า สำนักข่าวของเธอเน้นการผลิตงานข่าวแบบ Mojo และที่สำคัญคือ รายได้ที่เกิดขึ้นผ่านการทำข่าวลงบนแพลตฟอร์มออนไลน์นั้นมากพอที่จะหล่อเลี้ยงห้องข่าวของเธอได้ 

 

และเมื่อคำว่า ‘ปรับตัว’ ไม่ใช่เพียงคำพูดสวยหรูบนหน้ากระดาษ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หนึ่งในตัวอย่างนั้นคือ Leonor Suarez นักข่าวชาวสเปน ผู้ซึ่งพยายามถ่ายทอดเรื่องราวในสงครามกลางเมืองของสเปนออกมาเป็นสารคดีในชื่อ ‘Time​ to​ revenge’ ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ ที่น่าทึ่งคือ แม้เธอจะต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วยอื่นๆ ในกองถ่ายไม่ต่างจากกองถ่ายทั่วไปมากนัก เช่น อุปกรณ์กันสั่น เลนส์หลากหลายชนิด ไมโครโฟนแบบต่างๆ แต่ทว่าการถ่ายทำทั้งหมดซึ่งใช้เวลา 10 วัน กลับใช้กล้องถ่ายทำเพียงชนิดเดียวเท่านั้นคือ ‘กล้องมือถือ’ และการตัดต่อซึ่งกินเวลายาวนาน 25 วัน ก็ใช้เพียง ‘iPad’ ในการตัดต่อเช่นกัน และในท้ายที่สุดมันก็สามารถกลายเป็นผลงานสารคดีความยาว 50 นาทีที่สามารถนำไปออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ได้

 

 

ทั้งหมดนี้อาศัยการวางแผนอย่างรอบคอบและการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างชาญฉลาด เธอเล่าว่าหลายครั้งที่เธอต้องบอกให้ทีมงานของเธอไปพักผ่อน ขณะที่เธอเองกลับต้องใช้เวลาช่วงนั้นในการสำรองภาพวิดีโอที่ถ่ายมาได้ในพื้นที่เก็บข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต เพราะพื้นที่เก็บข้อมูลในโทรศัพท์ย่อมมีจำกัด และนอกจากสารคดีโทรทัศน์ความยาว 50 นาทีแล้ว เธอยังไม่ลืมที่จะผลิตสารคดีชิ้นนี้เพิ่มอีกในเวอร์ชันสั้น เพื่อให้เหมาะสำหรับการนำไปฉายบนสื่อสังคมออนไลน์ และเธอก็ยังคงคุณภาพในกระบวนการผลิต ด้วยการค้นคว้าเรื่องราวอย่างละเอียด และตรวจสอบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ร่วมกับคนในพื้นที่  

 

แม้การผลิตสารคดีทั้งหมดนี้จะพบกับข้อจำกัดต่างๆ มากมาย แต่คำพูดที่เธอจั่วหัวไว้ในสไลด์ของเธอว่า ‘Never accept a ‘DON’T’ as a starting point’ หรือ ‘จงอย่ายอมรับให้คำว่า ‘อย่า’ เป็นจุดเริ่มต้น’ น่าจะสะท้อนความเป็นนักสู้ของเธอได้ดี

 

‘มือถือ’ เครื่องมือรายงานข่าวในภาวะวิกฤต

คุณลักษณะของโทรศัพท์มือถือยังส่งผลให้มันเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพสำหรับการรายงานข่าวในภาวะวิกฤต Nesar Ahmad Fayzi ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว The Associated Press หรือ AP ผู้ซึ่งเป็นชาวอัฟกานิสถานโดยกำเนิด และทำข่าวในพื้นที่แถวหน้าที่เสี่ยงต่อความรุนแรงในอัฟกานิสถานมานับ 10 ปี เล่าว่า เมื่อกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่มองผู้ที่พกพา ‘กล้องถ่ายวิดีโอขนาดใหญ่’ อย่างไม่เป็นมิตร การใช้ ‘กล้องมือถือ’ ถ่ายภาพข่าวทำให้เขาสามารถทำงานได้อย่างสะดวกและเสี่ยงอันตรายน้อยกว่า นอกจากนี้เมื่อมีบางพื้นที่ที่เขาไม่สามารถเข้าไปถึงได้ด้วยตนเอง เขายังสามารถสอนชาวบ้านในพื้นที่ให้ช่วยนำมือถือไปถ่ายภาพความเป็นอยู่ของพวกเขามานำเสนอออกสู่สายตาชาวโลกได้ 

 

 

และด้วยวิธีการเหล่านี้เอง โลกจึงได้เห็นสารคดีข่าวที่สะท้อนปัญหาของผู้ติดยาเสพติดในอัฟกานิสถาน ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้สื่อข่าวที่พยายามจะรายงานปัญหานี้มักจะประสบกับการถูกข่มขู่ทำร้ายอยู่หลายครั้ง 

 

นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนยังชี้ว่า การที่มือถือมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ยังสะดวกต่อการเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยต่างๆ เช่น อุทกภัย มากกว่ากล้องถ่ายภาพหรือกล้องวิดีโอแบบดั้งเดิมที่มีขนาดใหญ่ 

 

‘มือถือ’ สร้างพลเมืองให้เป็นสื่อเพื่อประโยชน์ของทุกคน

การประชุมทางวิชาการครั้งนี้ยังทำให้เราได้เห็นถึงศักยภาพของการเป็นสื่อภาคพลเมืองที่ใช้มือถือในการรายงานข่าวเพื่อช่วยสะท้อนประเด็นทางสังคม รวมถึงทำให้เกิดการส่งต่อความช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือองค์กรสื่อในฟิลิปปินส์อย่าง Rappler ที่ใช้การผสานเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์เอาไว้ด้วยกัน เพื่อทำให้เกิดการส่งต่อข่าวสารระหว่างภาคพลเมืองและภาครัฐ ในการช่วยเหลือผู้ที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง หรือกำลังประสบภัยพิบัติและภัยธรรมชาติต่างๆ อย่างได้ผลในชื่อโครงการว่า ‘Agos’ 

 

โดยเมื่อครั้งพายุไต้ฝุ่นมารีโอถล่มกรุงมะนิลาในปี 2014 แพลตฟอร์มของ Agos มีส่วนช่วยในการส่งต่อข่าวสารไปสู่สื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับหญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอดรายหนึ่งซึ่งต้องอาศัยอยู่บนหลังคาบ้าน หลังชุมชนของเธอประสบภาวะน้ำท่วมสูง  จนอาสาสมัครกาชาดของฟิลิปปินส์สามารถให้ความช่วยเหลือเธอออกมาได้อย่างทันท่วงที และในที่สุด ทารกน้อยที่เกิดจากหญิงคนนี้ก็ลืมตาดูโลกอย่างปลอดภัย

 

 

หรือกรณีของ Sara Htiet ผู้สื่อข่าวอิสระ ที่มองเห็นว่าสื่อดั้งเดิมส่วนมากมีแนวโน้มที่จะเสนอข่าวเกี่ยวกับค่ายผู้ลี้ภัยในเลบานอนว่าเป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย หรือเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในแง่ลบ กลุ่มของเธอจึงเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับ Mojo แก่ผู้ลี้ภัยในค่ายซึ่งเป็นชาวซีเรียและเลบานอน ทั้งเรื่องการถ่ายภาพ การเล่าเรื่อง การใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อนำเสนอผลงาน เพื่อหวังให้เรื่องราวที่โลกได้รับรู้มาจากการเล่าเรื่องโดยผู้ลี้ภัยตัวจริง โครงการดังกล่าวยังได้ขยายผลไปยังค่ายผู้ลี้ภัยอื่นอีก 2 แห่ง และทำให้ผู้ลี้ภัยมีความหวังและกำลังใจมากยิ่งขึ้น

 

เมื่อโลกเปลี่ยน คนข่าวต้องปรับ

ตลอด 2 วันของการประชุม อีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ถูกตอกย้ำทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ตลอดเวลา คือความสำคัญที่นักข่าวในปัจจุบันจำเป็นต้องปรับตัว และมีหลายทักษะ (Multi-Skills) ในคนคนเดียว ภาพที่การทำข่าวจะเหลือเพียงนักข่าวและคนถือกล้องมือถือเดินทางไปด้วยกันโดยปราศจากกล้องขนาดใหญ่และรถถ่ายทอดสดคันมโหฬาร กลายเป็นภาพปกติของคนที่คร่ำหวอดในวิชาชีพ ซอฟต์แวร์สำหรับการตัดต่อถูกทยอยนำมาเสนอให้นักข่าวได้เลือกใช้ เพราะในบางสถานการณ์อาจไม่มีใครช่วยนักข่าวตัดต่อได้ นอกจากตัวนักข่าวเอง

 

แต่นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมดที่คนข่าวต้องเรียนรู้ 

 

 

Ana Puod โปรดิวเซอร์อาวุโสของสำนักข่าว One news ในฟิลิปปินส์ชี้ว่า นักข่าวในยุคนี้นอกจากจะต้องเข้าใจการเล่าเรื่องแล้ว ยังจะต้องเข้าใจประเด็นอื่นควบคู่กันไป เช่น ความแตกต่างของเนื้อหาในแต่ละแพลตฟอร์ม การหารายได้จากเนื้อหา และจากการที่เธอทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ เธอพบว่าคนรุ่นใหม่ไม่มีปัญหากับการใช้เทคโนโลยี แต่สิ่งที่คนรุ่นใหม่ยังต้องฝึกฝนคือทักษะการเล่าเรื่องและการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่เป็นข่าว สำนักข่าวของเธอจึงส่งเสริมให้นักข่าวรุ่นใหม่ต้องเข้ารับการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง

 

หรือแม้กระทั่ง สุทธิชัย หยุ่น อดีตผู้บริหารในเครือเนชั่นที่ปัจจุบันออกมาผลิตสื่อในนามของตนเอง และได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์ในงานเลี้ยงภาคค่ำของบรรดาผู้เข้าร่วมประชุม ก็กล่าวบนเวทีเล่าถึงประสบการณ์ในวันที่กล้องถ่ายภาพและทวิตเตอร์ยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่หลายคนยังไม่ยอมรับ เขาใช้เวลาพิสูจน์และทำให้เห็นว่ามันคืออนาคตจริงๆ และปัจจุบันเขาก็ปรับตัวมุ่งสู่การทำเนื้อหาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ จนมีผู้ติดตามรายการไลฟ์ของเขาอย่างต่อเนื่อง 

 

 

สุทธิชัยกล่าวกับผู้เขียนว่า ต่อไปคนที่ศึกษาในด้านวารสารศาสตร์จะต้องปรับตัวอย่าง ‘รวดเร็ว รุนแรง และหนักหน่วง’ สู่การทำเนื้อหาให้เหมาะสมกับโทรศัพท์มือถือและวิถีชีวิตของคนปัจจุบัน การทำรายการทีวีแบบเดิมหรือทำเว็บไซต์ในรูปแบบเดิมๆ ที่ใช้เนื้อหาจากสื่ออื่น เช่น หนังสือพิมพ์ แล้วบอกว่าได้ทำสื่อออนไลน์แล้ว อาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป เพราะวิธีคิดในการเล่าเรื่องจะเปลี่ยนไป เนื้อหาและบุคลิกเฉพาะตัวที่หาจากที่อื่นไม่ได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ 

 

เขาย้ำว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้รวดเร็วเกินกว่าจะบรรจุอยู่ในตำราเรียนได้ ดังนั้นการปรับตัวจึงเป็นการทดลองไปเรื่อยๆ โดยไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวเพียงหนึ่งเดียวตลอดไป แม้จะเหนื่อยแต่ก็สนุก ท้าทาย และเป็นทางรอดเพียงทางเดียวของคนทำสื่อ 

 

 

“เนื้อหาของคุณจะต้องเป็นเฉพาะที่คุณทำได้ดี ที่หาที่อื่นไม่ได้ คนถึงจะตามคุณ แต่ถ้าคุณทำเนื้อหาที่ใครก็หาที่ไหนก็ได้ Breaking News ข่าวที่ใครต่อใครเขาก็ส่งเข้ามา แล้วคุณก็ไปทำข่าวลักษณะอย่างนั้น แล้วนึกว่าจะมีคนตาม เป็นไปไม่ได้ครับ” สุทธิชัยระบุ

 

จริยธรรมยังสำคัญ

แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีหรือรูปแบบในการนำเสนอจะเปลี่ยนไปอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมการประชุมต่างเห็นความสำคัญร่วมกันคือการรักษา ‘จริยธรรม’ ของวิชาชีพนักข่าว

 

Ana Puod โปรดิวเซอร์อาวุโสของสำนักข่าว One News ในฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ทุกคนต้องตระหนักว่านักข่าวเป็นวิชาชีพที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะสิ่งที่นักข่าวสื่อสารสำคัญมากและสามารถส่งผลดีหรือผลร้ายต่อคนได้อย่างมหาศาล การทำข่าวจึงไม่ใช่เพียงการเอาตัวรอดหรือทำเพียงเพราะเป็นอาชีพที่ได้เงินเท่านั้น การทำข่าวโดยนำเนื้อหามาจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือเนื้อหาที่คนทั่วไปผลิตเอง จึงต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเข้มข้น

 

ประเด็นทางจริยธรรมอีกหลายประเด็นยังถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งคำถาม บางคำถามมีคำตอบไว้อย่างกว้างๆ เช่น การทำข่าวในภาวะวิกฤต จะบันทึกภาพอย่างไรในภาวะที่เกิดความสูญเสีย การถ่ายภาพเด็กและเยาวชนมีข้อแนะนำอย่างไร แต่หลายคำถามก็ยังรอการชั่งน้ำหนักในเรื่องความเหมาะสม เช่น การบันทึกภาพในของผู้สื่อข่าวในอัฟกานิสถานด้วยกล้องมือถือ ซึ่งผู้ถูกบันทึกภาพอาจไม่ทราบว่าตนกำลังถูกบันทึกไปเผยแพร่เป็นรายงานข่าว แต่ด้วยภาวะที่บางพื้นที่ในอัฟกานิสถานถูกยึดครองโดยกลุ่มก่อการร้าย หากใช้กล้องระดับมืออาชีพถ่ายภาพ ก็คงยากที่จะได้รับการอนุญาตให้บันทึกภาพ และอาจเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยในชีวิต เป็นต้น 

 

 

แม้ท่ามกลางพายุลูกใหญ่ที่ถาโถมใส่วิชาชีพนี้ จะยังไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวสำหรับการอยู่รอดของคนข่าว แต่การประชุมในครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดในการปรับตัวร่วมกันของคนข่าวจากหลากหลายประเทศ ซึ่งอาจเป็นทางรอดของคนที่มีใจรักด้านงานข่าว หากต้องการสู้ต่อในสถานการณ์ที่ยากลำบากดังเช่นปัจจุบัน

 

(ภาพจาก Twitter: @corinne_podger)

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X