×

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมมาตรการเยียวยาเกษตรกรจากภัยแล้ง พร้อมเร่งทำฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อน

23.07.2019
  • LOADING...
ธรรมนัส พรหมเผ่า

วานนี้ (22 ก.ค.) ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายจากภัยแล้ง ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยในปัจจุบัน โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการด่วนให้ทุกเหล่าทัพสนับสนุนอากาศยานและกำลังพลมาช่วยกัน รวมทั้งเร่งทำฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง และร่วมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำกับฝ่ายพลเรือนแบบบูรณาการ โดยมีเป้าหมายบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุดและรวดเร็วที่สุด โดยแบ่งเป็นวาระเร่งด่วน ดังนี้

 

1. เร่งเติมน้ำในเขื่อนและพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งโดยปฏิบัติการฝนหลวง ได้มอบหมายอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเป็นแม่งานบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ได้มีการขอรับการสนับสนุนอากาศยานเพิ่มจำนวน 6 ลำ จากกองทัพบก 1 ลำ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 ลำ และกองทัพอากาศ 4 ลำ ซึ่งสามารถขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงได้ทันที 

 

2. เตรียมการเยียวยาความเสียหายแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ รวมพืชผลทางการเกษตรทุกประเภท โดยให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย กรมการข้าวเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างสิ้นเชิง ซึ่งมีเมล็ดพันธุ์ข้าวสำรองไว้แล้วจำนวน 10,000 ตัน รวมทั้งพิจารณาให้เกษตรกรปลอดการชำระหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 – 31 กรกฎาคม 2564 รวมถึงเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการสามารถขอขยายเวลาปรับตารางชำระ พักหนี้ได้ 1 รอบปีการผลิต

 

นอกจากนี้ ในระยะยาวได้เตรียมวางแผนในการแก้ปัญหาภัยพิบัติ โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน เตรียมปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค การเกษตร และรักษาระบบนิเวศทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้เพียงพอ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ รองรับเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตด้วย

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X