×

MiVana ทำอย่างไรให้กาแฟทุกแก้วเชื่อม ‘คน’ และ ‘ป่า’ ให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

โดย THE STANDARD TEAM
12.10.2019
  • LOADING...
MiVana

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • มีวนา (MiVana) ร่วมพัฒนากับชุมชนในป่าต้นน้ำแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ให้เรียนรู้วิธีการปลูกกาแฟอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานสากล ดังเช่นในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ได้กาแฟที่มีคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยที่ไม่ทำลายป่าไม้ จนกลายเป็นชุมชนต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ในเมืองไทย 
  • นอกจากนี้ มีวนายังทำหน้าที่พัฒนาสินค้าจากชุมชนเกษตรกร ทำการตลาด สร้างแบรนด์ และกระจายสินค้าให้เข้าถึงคอกาแฟ และผู้ประกอบการมากขึ้น เช่น โรงแรมต่างๆ ร้านอาหาร และคาเฟ่ชื่อดังอย่าง Casa Lapin และ Greyhound Cafe เป็นต้น 
  • แต่มีวนายังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะเป้าหมายใหญ่ของมีวนาคือการสร้างพันธมิตร เพื่อนำแนวคิด Partnership for Sustainability ไปขยายผลสู่ ‘โมเดลป่ามีวนา’ เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าอย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้ ‘คน’ กับ ‘ป่า’ สามารถเกื้อกูลกันได้อย่างยั่งยืน

ลองคิดดูว่าจะเป็นอย่างไร หากเราสามารถทำให้กาแฟทุกแก้วที่คนไทยดื่มมีคุณภาพคับแก้ว และมีเรื่องราวที่น่าประทับใจอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นการเดินทางของกาแฟอินทรีย์ที่หันมาอนุรักษ์ป่าไม้แทนการบุกรุกป่า และใช้สารเคมีรุนแรงที่ก่อกวนระบบนิเวศจนกลายเป็นปัญหาระดับชาติ แล้วยังช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

กาแฟอินทรีย์ที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อให้ ‘คน’ และ ‘ป่า’ อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน     

 

หากจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของชุมชนต้นแบบ Mivana Community เราคงต้องมองย้อนกลับไปในช่วงปี พ.ศ. 2504 ที่ประเทศไทยยังมีพื้นที่ป่าหนาแน่นอยู่ถึง 171.2 ล้านไร่จากพื้นที่ประเทศไทยทั้งสิ้น 321 ล้านไร่ แต่เพียงชั่วระยะเวลาเพียง 50 ปี พื้นที่ป่าเหล่านั้นถูกทำลายไปมากกว่า 98 ล้านไร่ เหลือไว้เพียง 73 ล้านไร่ในปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่า ตัดไม้ทำลายป่า และการใช้สารเคมีอย่างรุนแรง ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเป็นลูกโซ่ มูลนิธิสายใยแผ่นดินจึงเข้ามาเรียนรู้ถึงปัญหาเพื่อหาทางออก 

 

MiVana

 

หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ได้แก่ พื้นที่บริเวณป่าต้นน้ำแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ที่ช่วงก่อนหน้านี้ คนในชุมชนเปลี่ยนมาทำการเกษตรแผนใหม่ที่เน้นผลผลิตปริมาณมาก โดยไม่ใส่ใจต่อผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ธรรมชาติในบริเวณนั้น จากที่เคยอุดมสมบูรณ์ตกอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง ทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินได้เข้ามาศึกษาลงพื้นที่เพื่อหาหนทางแก้ไข จนค้นพบว่า หากต้องการให้พื้นที่ดังกล่าวสร้างรายได้ และไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ‘กาแฟ’ เป็นพืชเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการได้เหมาะสมที่สุด เนื่องจากกาแฟเป็นต้นไม้ที่ต้องการร่มเงาสูง สามารถเติบโตได้ดีในพื้นที่ใต้ร่มไม้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องตัดไม้เพื่อการเพาะปลูก อีกทั้งกาแฟอินทรีย์ที่ปลูกในป่ายังมอบผลผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งในแง่ของกลิ่นและรสชาติที่ดีกว่ากาแฟปลูกกลางแจ้งที่ใช้สารเคมี ดังเช่นที่เราได้เรียนรู้จากประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ที่ประเทศเหล่านั้นใช้การปลูกกาแฟอินทรีย์เป็นกลยุทธ์ในการอนุรักษ์ป่าไม้ ทั้งยังสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศในฐานะประเทศผู้ผลิตกาแฟชั้นนำของโลก 

 

MiVana

 

นับตั้งแต่นั้นมาทางชุมชนในพื้นที่ได้จึงเรียนรู้วิธีการปลูกกาแฟอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานสากล ดังเช่นในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ได้กาแฟที่มีคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยไม่ทำลายป่าไม้ จนกลายเป็นชุมชนต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ในเมืองไทย 

 

จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น มูลนิธิสายใยแผ่นดินจึงผลักดันให้ก่อตั้ง บริษัท กรีนเนท เอสอี จำกัด เพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่เป็นคนในชุมชน ก่อนนำไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มจนเกิดสินค้ากาแฟคั่วภายใต้แบรนด์ ‘มีวนา (MiVana)’ ที่เข้ามาทำหน้าที่พัฒนาสินค้า ทำการตลาด สร้างแบรนด์ และกระจายสินค้าให้เข้าถึงคอกาแฟ และผู้ประกอบการมากขึ้น เช่น โรงแรมต่างๆ ร้านอาหาร และคาเฟ่ชื่อดังอย่าง Casa Lapin และ Greyhound Cafe แต่มีวนายังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะเป้าหมายใหญ่ของมีวนาคือการสร้างพันธมิตร เพื่อนำแนวคิด Partnership for Sustainability ไปขยายผลสู่ ‘โมเดลป่ามีวนา’ เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าอย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้ ‘คน’ กับ ‘ป่า’ สามารถเกื้อกูลกันได้อย่างยั่งยืน

 

คนละไม้คนละมือจนกลายเป็น Mivana Community 

 

จากการทำงานในลักษณะต่างคนต่างทำของคนในชุมชนต่างๆ เมื่อเห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ทั้งในแง่ผลผลิต รายได้ และการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีวนาจึงเริ่มขยายผลไปสู่ชุมชนในพื้นที่อื่นๆ ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้และจัดทำสายพานการผลิตกาแฟอินทรีย์ ตั้งแต่ขั้นตอนในช่วงต้นน้ำอย่างการเพาะปลูก การเลือกสายพันธ์ุที่เหมาะกับพื้นที่นั้นๆ นอกเหนือจากเมล็ดกาแฟสายพันธ์ุอาราบิก้า ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวที่ต้องใช้มือเด็ดผลสุกสีแดงเข้มเท่านั้น ไม่ใช้กรรมวิธีการรูดกิ่งที่ทำให้สิ้นเปลืองทั้งเวลาในการคัดแยก และขายไม่ได้ราคาเท่าที่ควร รวมถึงการออกผลในอนาคตที่การรูดกิ่งจะส่งผลเสียต่อลำต้น 

 

MiVana

 

นอกจากนี้มีวนายังจัดอบรมด้วยการเชิญวิทยากรจากส่วนงานอื่นๆ มาให้คำแนะนำเรื่องการปลูกกาแฟ พาคนในชุมชนลงพื้นที่จริงเพื่อศึกษาการปลูก ก่อนรับซื้อสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพทั้งหมด เพื่อให้มั่นใจว่าเมล็ดกาแฟจากชุมชนมีวนาได้มาตรฐานเหมือนกันทุกแห่ง จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการคั่วที่มีวนามีโรงคั่วกาแฟเจ้าของรางวัล Best Quality Award: Thailand Coffee, Tea and Drink ปี 2013 และ 2014 การันตีเรื่องเอกลักษณ์ และคุณภาพของเมล็ดกาแฟก่อนบรรจุลงถุง  

 

MiVana

 

เพราะสิ่งที่ชุมชนมีวนาทำไม่ได้อยากเพียงผลิตเมล็ดกาแฟอินทรีย์สัญชาติไทยมาตรฐานสากลเท่านั้น หากแต่ยังวางกลยุทธ์เรื่องการกระจายสินค้า เพื่อให้เมล็ดกาแฟจากชุมชนมีวนาเข้าถึงคนหมู่มาก ด้วยการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจย์ความต้องการของตลาดมากที่สุด ปัจจุบันสินค้าในกลุ่มของชุมชนมีวนา แบ่งเป็น แบรนด์ มีวนา ซึ่งเป็น Specialty Coffee ที่ได้รับการยอมรับในหมู่คนรักกาแฟ และแบรนด์ ออราบิก้า (Orabica) ที่เจาะตลาดกลุ่ม Premium Coffee โดยสินค้าทั้งสองประเภทวางจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ และในร้านค้าอย่าง แม็คโคร ฟูดเซอร์วิส, ร้านใบเมี่ยง, เลมอนฟาร์ม และร้านอาหารเอส แอนด์ พี เป็นต้น

 

MiVana

 

การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ถ้าเราร่วมแรงร่วมใจ 

 

ด้วยเหตุนี้เอง ชุมชนมีวนาจึงต้องการสานต่อแนวคิด Partnership for Sustainability หรือ ‘พันธมิตรเพื่อความยั่งยืน’ มองหาความร่วมมือจากภาคธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างชุมชนที่แข็งแรงในการอนุรักษ์ป่าไม้และตอบโจทย์เรื่องรายได้ ตั้งแต่กลุ่มเกษตรกรผู้เปรียบเสมือนต้นน้ำ ส่งต่อมายังกลางน้ำอย่างธุรกิจและผู้ประกอบการ และส่วนปลายน้ำอย่างผู้บริโภค เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้หันมาทำการเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งต่อเจตนารมณ์และความใส่ใจในทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้มาซึ่งกาแฟที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพ พร้อมทั้งผู้บริโภคได้ร่วมสร้างคุณค่าทางสังคมในการอนุรักษ์ผืนป่าไทย ด้วยการมองหาความร่วมมือต่างๆ ทั้งจากผู้ประกอบการร้านค้า ชุมชนในพื้นที่อื่น รวมถึงแรงสนับสนุนจากสื่อมวลชน เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้คนในสังคมได้รู้จักโครงการนี้ยิ่งขึ้น รวมถึงตระหนักรู้ถึงปัญหา และแนวทางแก้ไข้เพื่อการเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างมีส่วนร่วม สร้างระบบนิเวศให้มีความสมบูรณ์ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงตามวิถีมีวนาที่ ‘คน’ และ ‘ป่า’ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน   

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising