×

มิตซูบิชิ อิเล็คทริค หักดิบสหภาพแรงงาน สั่งปิดงาน หลังเจรจา 10 รอบไม่จบ

29.12.2017
  • LOADING...

มิตซูบิชิ อิเล็คทริค ประกาศ ‘ปิดงาน’ เพื่อผ่าทางตัน หลังจากเจรจาเรื่องค่าจ้างกับสหภาพแรงงานไม่สำเร็จ ส่งผลกระทบกับผู้ยื่นข้อเรียกร้อง 1,800 คน พนักงานส่วนอื่นยังทำงานได้ตามปกติ

 

บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์ยานยนต์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ออกหนังสือขอใช้สิทธิ์ปิดงานจ้างเพื่อตอบโต้กลุ่มสหภาพแรงงาน หลังจากที่เจรจาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาไม่สำเร็จ โดยในเอกสารระบุว่าบริษัทและสหภาพแรงงานเจรจากันภายในถึง 5 ครั้งก็ไม่เป็นผล จากนั้นต้องพึ่งพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจากกระทรวงแรงงานมาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย ซึ่งตลอดช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมที่ผ่านมาได้ร่วมเจรจาหาทางออกถึง 10 ครั้งก็ไม่สามารถตกลงกันได้ บริษัทจึงตัดสินใจปิดงานกลุ่มสหภาพแรงงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มต้นวันที่ 29 ธันวาคม 2560 คาดว่าจะมีผลกระทบกับแรงงาน 1,800 คนที่อยู่ในส่วนอะไหล่ประกอบเครื่องปรับอากาศเพื่อส่งออก ซึ่งจะไม่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการจากบริษัท

 

การปิดงานไม่ใช่การเลิกจ้าง แต่เป็นการปฏิเสธไม่ให้ลูกจ้างทำงานเป็นการชั่วคราว เนื่องจากมีข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งถือเป็นมาตรการในการกดดันแรงงานอีกทางหนึ่ง เพราะเมื่อไม่ได้ทำงานก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง ขณะที่แรงงานก็สามารถนัดหยุดงานเพื่อตอบโต้นายจ้างได้ภายใต้ข้อปฏิบัติของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งระบุชัดเจนว่า “ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานโดยมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นเวลา อย่างน้อย 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่รับแจ้ง” ซึ่งเอกสารของมิตซูบิชิ อิเล็คทริค ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2560 เวลา 22.35 น.

 

สื่อต่างๆ นำเสนอสาเหตุสำคัญของข้อพิพาทว่าเกิดจากการปรับสภาพการจ้างงานใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบให้รายได้รวมของลูกจ้างลดลงและไม่ได้รับโบนัส ทำให้ลูกจ้างจำนวนหนึ่งเคลื่อนไหวผ่านสหภาพแรงงานเพื่อเจรจาเรื่องนี้ ล่าสุดหลังจากที่รับทราบหนังสือแจ้งปิดงาน ผู้ที่ได้รับผลกระทบต่างไม่พอใจและรวมตัวประท้วงด้านหน้าโรงงาน และรวมตัวที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรีด้วย

 

สำหรับทางออกเรื่องนี้ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ หากแต่กฎหมายระบุว่า หากการปิดงานหรือนัดหยุดงานสร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจหรือสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีอำนาจในการสั่งให้นายจ้างที่ปิดงานรับแรงงานกลับเข้าทำงาน หรือสั่งแรงงานที่หยุดงานให้กลับเข้าทำงานตามปกติ หรืออาจให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นผู้ชี้ขาดก็ได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising