×

เกิดอะไรขึ้นแล้วในซีเรีย สรุปเหตุการณ์โจมตีของสหรัฐฯ และพันธมิตรที่หมายปลดอาวุธเคมีของอัสซาด

15.04.2018
  • LOADING...

ผ่านไปแล้วเกือบ 1 วันเต็ม หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้สั่งการให้ใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีเป้าหมายในซีเรียเพื่อตอบโต้การใช้อาวุธเคมีต้องห้ามของ บาชาร์ อัล-อัสซาด ในระหว่างการกวาดล้างกลุ่มกบฏในเมืองดูมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ล่าสุดสื่อทางการของซีเรียรายงานว่ามีพลเรือนบาดเจ็บจากการถูกสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรโจมตีครั้งนี้แล้ว 3 คน

 

นอกเหนือจากสหรัฐฯ แล้ว ฝรั่งเศสและอังกฤษซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรสำคัญก็ได้เปิดฉากถล่มเป้าหมายทางทหารในซีเรียแล้วเช่นกัน โดยนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ของสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่าเครื่องบินขับไล่แบบทอร์นาโด 4 ลำของกองทัพอากาศได้โจมตีโรงงานอาวุธเคมีในซีเรียด้วยขีปนาวุธ Storm Shadow อย่างแม่นยำ

 

ล่าสุดเครื่องบินรบของอังกฤษบินกลับฐานในไซปรัสแล้ว โดย เกวิน วิลเลียมสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอังกฤษ ยืนยันว่าภารกิจครั้งนี้ประสบความสำเร็จไปด้วยดี และสามารถบั่นทอนศักยภาพของซีเรียในการใช้อาวุธเคมีในอนาคต

 

ขณะที่ ฟลอรองซ์ ปาร์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของฝรั่งเศส เปิดเผยว่าเรือฟรีเกตของกองทัพเรือฝรั่งเศสได้ทำการยิงจรวดร่อนนำวิถีจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้าไปถล่มเป้าหมายในซีเรียแล้ว และกำลังประสานความร่วมมือกับกองทัพสหรัฐฯ และอังกฤษอย่างใกล้ชิด

 

 

สหรัฐฯ ยืนยัน ปฏิบัติการครั้งนี้ล็อกเป้าหมายชัดเจน

พลเอก โจเซฟ ดันฟอร์ด ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ ยืนยันว่าเป้าหมายการโจมตีของกองทัพสหรัฐฯ ครั้งนี้ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยอาวุธเคมีในกรุงดามัสกัส โรงงานผลิตอาวุธเคมีทางตะวันตกของจังหวัดฮอมส์ และคลังอาวุธเคมีกับฐานบัญชาการสำคัญของกองทัพซีเรียใกล้กับจังหวัดฮอมส์

 

สำหรับอาวุธที่สหรัฐฯ ใช้โจมตีครั้งนี้เป็นจรวดร่อนโทมาฮอว์กแบบเดียวกับที่ใช้ถล่มซีเรียเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หรือเพนตากอน ระบุว่าจำนวนอาวุธที่ใช้ครั้งนี้มีมากกว่าเมื่อตอนที่ถล่มซีเรียด้วยโทมาฮอว์ก 59 ลูกในเดือนเมษายนปีที่แล้ว

 

และการปล่อยจรวดร่อนบางลูกยังมาจากเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-1 ด้วย

 

การตอบโต้จากซีเรีย

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานการโจมตีโต้ตอบจากทหารของซีเรีย นอกจากการยิงสกัดขีปนาวุธที่ปล่อยมาโดยสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส

 

แต่กระนั้น รัฐบาลซีเรียได้ประณามปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ และพันธมิตรว่าเป็นการรุกรานอย่างป่าเถื่อนและโหดร้าย อีกทั้งขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

 

นอกจากนี้ซีเรียยังยืนกรานปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้ใช้อาวุธเคมีตามที่ตะวันตกกล่าวหา พร้อมกับกล่าวประณามสหรัฐฯ ว่าเลือกโจมตีซีเรียในช่วงเวลาเดียวกับที่องค์การห้ามอาวุธเคมี (OPCW) กำลังเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้อาวุธเคมีในเมืองดูมา ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสหรัฐฯ พยายามขัดขวางการทำงานของ OPCW และบิดเบือนผลการตรวจสอบ

 

ท่าทีของรัสเซีย พันธมิตรที่เหนียวแน่นของอัสซาด

รัฐบาลรัสเซียได้ออกมาประกาศเตือนผลกระทบที่ตามมา หลังจากสหรัฐฯ และพันธมิตรตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางทหารกับซีเรีย พร้อมกับข่มขู่ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นชนวนสู่สงครามประจันหน้าเต็มรูปแบบ

 

ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ระบุว่าการโจมตีครั้งนี้เข้าข่าย ‘การรุกราน’ อธิปไตยของซีเรีย และจะทำให้วิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมในซีเรียเลวร้ายยิ่งขึ้น

 

สำหรับสถานการณ์สู้รบในซีเรียนั้น กระทรวงกลาโหมของรัสเซียเปิดเผยว่า เครื่องบินรบและเรือรบจากสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ได้ระดมยิงจรวดร่อนนำวิถีและขีปนาวุธแบบอากาศสู่พื้น (ASM) มากกว่า 100 ลูก ถล่มเป้าหมายทั้งทางทหารและพลเรือนในซีเรีย แต่ระบบป้องกันภัยทางอากาศของซีเรียสามารถสกัดอาวุธนำวิถีจำนวน 71 ลูกได้กลางอากาศ

 

นอกจากนี้ทำเนียบเครมลินยังยืนยันด้วยว่าอาวุธนำวิถีจากสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ในรัศมีระบบป้องกันทางอากาศของรัสเซีย โดยรัสเซียมีระบบ S-400 ประจำการอยู่ที่ฐานทัพอากาศ Khmeimim ใกล้กับเมืองลาตาเกีย และ S-300VM ในทาร์ทัส ซึ่งทั้งคู่เป็นระบบขีปนาวุธภาคพื้นสู่อากาศ (SAM) มีพิสัยทำการไกลถึง 400 กิโลเมตร

 

ก่อนหน้านี้รัสเซียได้กล่าวหาอังกฤษว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการใช้อาวุธเคมีในซีเรียเพื่อสร้างสถานการณ์และความชอบธรรมในการโจมตีซีเรีย

 

 

ปฏิกิริยาในสหรัฐฯ มีทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน

แนนซี เปโลซี ผู้นำเสียงข้างน้อยของพรรคเดโมแครตในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ระบุว่า ทรัมป์ควรขอการอนุมัติจากสภาคองเกรสก่อนสั่งใช้ปฏิบัติการทางทหารในซีเรีย และย้ำว่าทรัมป์จำเป็นต้องนำเสนอแผนกลยุทธ์ที่ครอบคลุมพร้อมเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อรับประกันความปลอดภัยของทหารอเมริกันและหลีกเลี่ยงการทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์

 

แต่ จอห์น แม็กเคน ประธานคณะกรรมาธิการด้านการทหารของวุฒิสภา ซึ่งมักวิจารณ์การทำงานของทรัมป์อยู่เสมอกลับยกย่องการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวของทรัมป์ครั้งนี้

 

ปฏิกิริยาจากนานาชาติ

จนถึงขณะนี้ ผู้นำประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ได้ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนการโจมตีของสหรัฐฯ รวมถึงนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดของแคนาดา, นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลแห่งเยอรมนี และเยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการองค์การนาโต้ ซึ่งต่างระบุว่าการโจมตีซีเรียเป็นเรื่องที่เหมาะสมและจำเป็น

 

เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ โดยอิสราเอลระบุว่าการโจมตีเพื่อลงโทษรัฐบาลซีเรียครั้งนี้มีความเที่ยงธรรม เพราะเมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยเตือนไว้ว่าการใช้อาวุธเคมีถือเป็นการล้ำเส้น และปฏิบัติการทางทหารเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมาก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อหยุดยั้งรัฐบาลซีเรียที่ใช้แก๊สพิษเข่นฆ่าประชาชนอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ดี อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิก UN แสดงความอดกลั้นเพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลายและเลวร้ายจนสร้างความทุกข์เข็ญแก่ประชาชนซีเรียมากขึ้นไปอีก

 

“การใช้อาวุธเคมีทุกรูปแบบถือเป็นเรื่องน่ารังเกียจ แต่ผมผิดหวังมากที่คณะมนตรีความมั่นคงไม่สามารถตกลงจัดตั้งกลไกที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย ผมขอเรียกร้องให้สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงรับผิดชอบต่อหน้าที่เพื่อเติมเต็มช่องว่างนี้” กูเตอร์เรสกล่าว

 

ขณะที่อิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ได้ออกแถลงการณ์ประณามการโจมตีทางอากาศของชาติตะวันตกครั้งนี้ โดย บาห์ราม กาเซมี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน ระบุว่า “การโจมตีที่เกิดขึ้นเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง อีกทั้งเพิกเฉยต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของซีเรีย”

 

ส่วนกระทรวงการต่างประเทศของจีนออกแถลงการณ์คัดค้านการใช้กำลังแก้ปัญหาความขัดแย้ง พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้วิธีเจรจาทางการทูตและอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X