หลังจากเสร็จสิ้นการประชันโฉม ความรู้ วิสัยทัศน์ และความสามารถต่างๆ ของสาวงามนานาประเทศที่เข้าร่วมการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ที่จัดขึ้น ณ ประเทศไทย
แคทรีโอนา เกรย์ หรือที่แฟนนางงามไทยเรียกกันติดปากว่า ‘น้องแมวเทา’ สาวงามจากประเทศฟิลิปปินส์ เป็นผู้คว้ามงกุฎไปครอง
อย่างไรก็ตาม แคทรีโอนา ถือเป็นตัวเต็งของการประกวดมิสยูนิเวิร์สปีนี้มาตั้งแต่ต้น มีโพลจากคนดังระดับโลก อดีตมิสยูนิเวิร์ส รวมถึงแฟนนางงามหลายคนยกให้เธอเป็นตัวเต็งในรอบ 5 คนสุดท้าย หรือบางโพลก็เก็งให้เธอได้มง หรือที่เรียกกันภาษาแฟนนางงามว่า ‘เต็งมง’ มาตั้งแต่ต้น จนคว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สไปได้แบบที่แฟนนางงามเรียกกว่า ‘ม้วนเดียวจบ’
แต่มีสาวงามชาติหนึ่งที่เธอไม่ได้เป็นที่จับตาตั้งแต่ต้น ไม่ติดโพลใดๆ กระทั่งมาเข้าตาแฟนนางงามในรอบ Preliminary กับจริตสีหน้า ท่าทาง และความหมายมั่นของเธอ ในการเดินทั้งในชุดว่ายน้ำ และโดยเฉพาะชุดราตรีสีเหลืองพลิ้ว จนเป็นที่กล่าวขวัญไม่ต่างจากท่าสโลว์เทิร์นของแคทรีโอนาเลย
เธอคนนั้นคือ เฮอ เฮิน เนีย (H’Hen Nie) สาวงามวัย 27 ปี ตัวแทนจากประเทศเวียดนาม เพื่อนบ้านอาเซียนของไทยเรานี่เอง
ม้านอกสายตา สู่นางงามผู้เฉิดฉาย สร้างประวัติศาสตร์ให้เวียดนาม
เฮอ เฮิน เนีย เป็นนางงามที่มีความโดดเด่นมากบนเวทีตั้งแต่รอบ Preliminary ความมั่นใจที่พกมาเต็มร้อยอย่างไม่เกรงกลัวอำนาจบารมีของสาวงามคนใด แม้กระทั่งในรอบชุดว่ายน้ำ 10 สาวงามคนสุดท้ายในวันประกวด
เฮอ เฮิน เนีย ยังโชว์สเตปการเดินที่คล่องแคล่วและเฉียบขาดแบบที่ใครเทียบไม่ได้ เรียกได้ว่า ปัง ปัง ปัง แบบกินรอบวงได้เลยทีเดียว จนทำให้เธอติด Top 5 มิสยูนิเวิร์ส สร้างประวัติศาสตร์วงการนางงามให้กับประเทศบ้านเกิดของเธอ เพราะสาวงามจากเวียดนามถ้าผู้เขียนจำไม่ผิด เกือบ 10 ปีแล้วที่ไม่มีสาวงามคนไหนผ่านเข้ารอบมาได้ คนก่อนหน้าคือ เหงียน ถวี่ เลิม (Nguyễn Thùy Lâm) ปี 2008 ซึ่งปีนั้นเวียดนามเป็นเจ้าภาพประกวดมิสยูนิเวิร์ส
จากความสวย ความเฉียบ ความปั๊วะของเธอที่เราเห็นบนเวที มีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านั้น คือเรื่องราวของเธอที่มีความน่าสนใจมาก เพราะเธอเป็นสาวงามที่เป็นชาติพันธุ์จากกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศเวียดนาม ฉะนั้นวันนี้ผู้เขียนจึงอยากจะพาทุกท่านมาหาสาระจากการดูนางงาม ผ่านการศึกษาประวัติของ เฮอ เฮิน เนีย
ต้นทางชีวิต จากชีวิตสาวชาติพันธุ์ สู่นางงามผู้คว้ามง
เฮอ เฮิน เนีย เธอเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกกันว่า เอเด (Ade) หรือ อีเด (Ede) แล้วแต่การออกเสียง กลุ่มชาติพันธุ์นี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลำดับที่ 12 ในจำนวนกลุ่มชาติพันธุ์ 54 กลุ่มในประเทศเวียดนาม มีประชากรกว่า 3 แสน 3 หมื่นคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ราบสูงตอนกลางของประเทศเวียดนามแถบจังหวัดดักลัก (Dak Lak), ยาลาย (Gia Lai), แค้งฮวา (Khanh Hoa) และ ฟู้เอียน (Phu Yen)
ในงานเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ชี้ให้เห็นว่า สยามรู้จักกลุ่มชาติพันธุ์นี้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยเรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่า ระแด เรอแดว หรือ ข่าระแด หรือ ข่าเรอแดว ในกฎมณเฑียรบาลของอยุธยาบันทึกไว้ว่า ‘…เมืองเรอแดวเป็นเมืองที่มีกษัตริย์ปกครอง และส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองถวายบรรณาการให้แก่อยุธยา…’ ในปี พ.ศ. 2424 ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ยังเรียกดินแดนของชาวระแดแต่โบราณที่เคยอาศัยอยู่ในเมืองจำปาสักแถบลาวใต้ว่า ‘แขวงระแด’
ในแง่ของสังคมกลุ่มชาติพันธุ์ระแด เป็นสังคมที่เรียกว่าสังคมผู้หญิง (วัฒนธรรมสายแม่) ถือเอาผู้หญิงเป็นใหญ่ในครอบครัว ลูกที่เกิดในครอบครัวจะต้องใช้นามสกุลแม่ หากในครอบครัวมีลูกชายจะไม่ได้รับมรดกตกทอดของครอบครัว เพราะเมื่อแต่งงานไปแล้วจะต้องย้ายออกไปอยู่กับครอบครัวของภรรยา ซึ่งหมายถึงการแต่งออก ส่วนลูกสาวคนสุดท้องจะถือเป็นลูกคนที่ต้องคอยเลี้ยงดูพ่อแม่และบูชาบรรพชน หรือ ผีบรรพบุรุษ ซึ่งในกรณีนี้จะแตกต่างจากวัฒนธรรมสายแม่ของกลุ่มชาติพันธุ์ไต-ไท ที่ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่จะดูแลเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษคือพี่สาวคนโต
ไม่เพียงเท่านั้น จากการที่เธอเป็นลูกสาวคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน และด้วยธรรมเนียมกลุ่มชาติพันธุ์ของเธอ เธอถูกบังคับให้ออกเรือนตั้งแต่อายุ 14 ปี แต่เธอกลับปฏิเสธและเริ่มส่งเสียตัวเองเรียนจนจบด้านธุรกิจการเงิน
ซึ่งแท้จริงแล้วธรรมเนียมการแต่งงานเร็วถือเป็นเรื่องปกติของสังคมเกษตรกรรม เนื่องจากผู้ชายถือเป็นแรงงานสำคัญในการประกอบอาชีพ ดังนั้นลูกสาวจึงถูกเร่งให้หาคู่เพื่อให้สามีมาเป็นแรงงานสำคัญในการประกอบอาชีพในครอบครัว ไม่ว่าจะทำไร่ ทำนา ทำสวน หรือแม้แต่การหาวัตถุดิบในการเลี้ยงดูครอบครัว เช่น การหาปลา ล่าสัตว์ เป็นต้น ส่วนผู้หญิงก็อยู่บ้านดูแลลูกและกิจกรรมในบ้านสำหรับผู้หญิง ซึ่งจริงๆ ถือว่าเป็นธรรมเนียมทั่วไปของคนในสังคมเกษตรกรรม
ภาษาที่ใช้กันในกลุ่มชาติพันธุ์เอเดนั้น ในหนัง ความเป็นมาไทยสยามลาวและขอม ของ จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวว่า ใช้ภาษาเหมือนภาษาจาม หรือตระกูลภาษาที่เรารู้จักในทางวิชาการคือ กลุ่มภาษามาลาโย-โพลีเนเซียน (Malayo-Polynesian languages) ซึ่งเป็นกลุ่มภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาออสโตรนีเชียน (Austronesian languages) มาจากภาษาละติน คำว่า austro หมายถึง ลมใต้ รวมกับคำภาษากรีก nesos หมายถึง เกาะ ออสโตรนีเซียน หมายถึง กลุ่มตระกูลภาษาของคนที่อาศัยอยู่ในแถบภาคพื้นมหาสมุทร หรือบริเวณหมู่เกาะ เช่น ภาษามลายู แถบมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กลุ่มคนที่ใช้ตระกูลภาษานี้ที่เราพอจะคุ้นหู เช่น ชาวมอแกน ชาวอูรักลาโว้ย แถบภาคใต้ของประเทศไทย แต่ในปัจจุบันการใช้ภาษาดังกล่าวของกลุ่มเอเดก็เริ่มมีการเปลี่ยนไป โดยเริ่มไปใช้ภาษาเวียดนามกันมากขึ้น ด้วยอิทธิพลทางเศรษฐกิจและสังคม
แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาติพันธุ์เอเดของเธอก็ยังคงรักษาธรรมเนียมและเอกลักษณ์อีกหลายอย่างเพื่อสะท้อนตัวตนและอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการแต่งกายที่เราจะเห็นจากรูปถ่ายในวันที่เธอได้รับรางวัลมิสยูนิเวิร์สเวียดนาม พ่อกับแม่ของเธอยังคงแต่งกายด้วยชุดชาติพันธุ์เอเด
ดูนางงาม ดูอย่างไรให้มีสาระ
จากประวัติและชาติพันธุ์ของเธอ จึงถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และเป็นภาพลักษณ์สำคัญหนึ่งในเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์สในปีนี้ ที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดเรื่องการยอมรับความหลากหลาย ซึ่งถือเป็นแนวคิดสำคัญในโลกทุกวันนี้
ไม่ว่าจะทั้งทางชาติพันธุ์ เพศ และวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นสังคมที่จะอยู่ได้กับสังคมโลกในปัจจุบัน รวมถึงสังคมโลกในอนาคต จึงต้องเป็นสังคมที่เคารพและยอมรับความหลากหลาย การเคารพและยอมรับในที่นี้ไม่ใช่การยอมรับเพียงเพราะเขาต้องเป็นคนดีเท่านั้น แต่ควรยอมรับที่เขาเป็นเขา ยอมรับตัวตนของเขา
ดังนั้น สังคมหรือใครก็ตามที่จะอยู่ร่วมกับสังคมโลกได้ จึงไม่ใช่สังคมที่อยู่ภายใต้ความเป็นหนึ่ง หรือภายใต้การกดขี่ของกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่ว่าจะเรื่องชาติพันธุ์ ภาษา หรือเพศ ดังนั้น การดูนางงามจึงไม่ได้เป็นเพียงการดูขาอ่อนนมโตๆ เท่านั้น ความรู้ สาระจึงอยู่ที่ว่าเราจะเลือกมอง เลือกทำความเข้าใจการดูนางงามอย่างไรมากกว่า
ภาพเปิด: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- ขอบคุณข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับชาติพันธุ์จาก ผศ.ดร.พิเชฐ สายพันธ์
- ขอบคุณข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับมิสยูนิเวิร์สจาก อ.ธิติพงษ์ ด้วงคง
- www.vietnam-culture.com/anak-ede-ethnic-group.aspx
- Hhennie.official