×

เจาะร้านกาแฟในปั๊ม ‘ไมเนอร์’ แท็กมือ ‘เอสโซ่’ ปั้น Coffee Journey ท้าชน อเมซอน อินทนิล และกาแฟพันธุ์ไทย

28.09.2020
  • LOADING...

เพราะคนไทยมีอัตราการบริโภคกาแฟเฉลี่ยปีละ 1.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนามพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 1.6-1.7 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และเทียบไม่ได้กับชาวญี่ปุ่นที่บริโภค 3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ทำให้ ‘ตลาดร้านกาแฟ’ ถูกยกให้เป็นดั่งพื้นที่ทองคำที่ใครๆ ก็อยากเข้ามาแข่งขัน เพราะไม่เพียงแต่มีมูลค่ามากถึง 26,700 ล้านบาท แต่ยังเติบโต 8% ด้วย

 

ขณะเดียวกันพฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนไทยเริ่มเปลี่ยนไป จากการดื่มกาแฟสำเร็จรูปเปลี่ยนมาดื่มกาแฟคั่วบด หรือกาแฟสดมากขึ้น อีกทั้งชอบพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ใช้เป็นที่นั่งทำงาน ประชุมงานกันตามร้านกาแฟ ทำให้ธุรกิจร้านกาแฟเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่พร้อมเข้ามาเสี่ยงโชคในร้านนี้ตลอดเวลา ซึ่งมีทั้งผู้ที่สมหวังและต้องผิดหวังไปพร้อมๆ กัน 

 

ล่าสุดเป็นคิวของ ‘ไมเนอร์ ฟู้ด’ ที่แม้จะมี The Coffee Club เป็นร้านกาแฟอยู่ในมืออยู่แล้ว แต่ก็เพิ่งเปิดร้าน Coffee Journey ไปหมาดๆ ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยใช้เวลาในการพัฒนากว่าจะออกมาเป็นรูปร่างกว่า 1 ปี 

 

“กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ดื่มได้ทุกวัน โดยเฉพาะช่วงเช้าที่คนต้องการเติมความสดชื่นให้กับร่างกาย ทำให้เราเห็นโอกาสอีกมากในตลาดร้านกาแฟ แม้จะมีคู่แข่งที่มากหน้าหลายตาก็ตาม” ประพัฒน์ เสียงจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD 

 

ประพัฒน์ เสียงจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) / ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD 

 

ท่ามกลางสภาพการแข่งขันที่ร้อนแรง ซึ่งทำให้การสร้างความจงรักภักดี (Loyalty) ในร้านกาแฟร้านใดร้านหนึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะร้านกาแฟที่มีให้เลือกอย่างมากมายทั้งเชนยักษ์ใหญ่หรือร้านริมถนน ผู้บริโภคจึงพร้อมที่จะเปลี่ยนแก้วกาแฟในมือตลอดเวลา แต่ Coffee Journey มั่นใจว่าสู้ได้ด้วยจุดแข็งการใช้เมล็ดกาแฟอาราบิก้าที่นำเข้าจากออสเตรเลีย และพัฒนาสูตรให้รสชาติโดนใจคนไทย 100%

 

โดยกาแฟนำเข้าดังกล่าวทางไมเนอร์มีโรงคั่วของตัวเองในออสเตรเลีย สามารถผลิตกาแฟคั่วได้กว่า 1,500 ตันต่อปี และที่ผ่านมาได้ใช้ในร้าน The Coffee Club เป็นหลัก ขณะเดียวการเป็นกาแฟนำเข้ายังถูกนำมาตั้งเป็นชื่อ Coffee Journey ซึ่งหมายถึงการเดินทาง (Journey) ของกาแฟ (Coffee) อีกด้วย  

 

“ทำไมต้องเป็นกาแฟจากออสเตรเลีย ออสเตรเลียถือเป็นหนึ่งในมหาอำนาจแห่งโลกกาแฟ ชาวออสซี่ดื่มกาแฟกันเยอะมาก ยิ่งดื่มยิ่งผ่อนคลาย มันเป็นวิถีชีวิตของบ้านเขาไปแล้ว ไปทุกซอกทุกมุมก็จะเจอแต่ร้านกาแฟ ดังนั้นเชื่อได้เลยว่าถ้ากาแฟที่ชาวออสเตรเลียเลือกทานจะเป็นกาแฟที่ดีมีคุณภาพสูง พรีเมียม คัดสรรมาอย่างดี”

 

ถึงจะเป็นกาแฟนำเข้า แต่ Coffee Journey กลับวางตัวเจาะเข้าสู่ตลาดแมส ด้วยราคาเครื่องดื่มที่มีทั้งกาแฟและเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ อยู่ระหว่าง 35-75 บาท เบื้องต้นสาขาแรกถูกเปิดขึ้นที่ปั๊มเอสโซ่รามอินทรา กม. 6.5 ซึ่งเบื้องหลังเหตุผลที่เริ่มในปั๊ม ไม่ได้เป็นเพราะแนวโน้มผู้บริโภคจะใช้เวลาภายในสถานีบริการน้ำมันมากขึ้นโดยเฉพาะร้านกาแฟเท่านั้น แต่ที่มากไปกว่านั้น ‘เอสโซ่’ คือผู้ที่จับมือไมเนอร์ในการปลุกปั้น Coffee Journey ขึ้นมา

 

 

หากกวาดสายตามองเข้าไปในตลาดจะพบว่า สถานีบริการน้ำมันยักษ์ใหญ่ต่างปั้นแบรนด์ร้านกาแฟเป็นของตัวเองทั้งนั้น ไล่มาตั้งแต่ ปตท. ที่มี ‘คาเฟ่ อเมซอน’ ซึ่งขยายสาขาไปไม่น้อยกว่า 3,200 สาขาทั้งในและต่างประเทศ, ‘อินทนิล’ ของบางจาก และพีทีที่ปูพรมด้วยกาแฟพันธุ์ไทย และ คอฟฟี่ เวิลด์ ซึ่งกำลังเร่งขยายผ่านแฟรนไชส์อย่างคึกคัก 

 

มีเพียงเอสโซ่เท่านั้นที่ยังไม่มีแบรนด์ร้านกาแฟเป็นของตัวเอง แม้ก่อนหน้านี้จะมีการประกาศจับมือกับ Starbucks ไปแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้มีแผนขยายสาขาที่มากนัก เพราะตามการเปิดเผยในระยะแรกจะมีการขยายเพียง 3 สาขาเท่านั้น ทว่าการขยายรายได้จาก ‘นอนออยล์’ ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ทุกรายต่างเลือกใช้เพื่อเป็นอีกเส้นเลือดที่เข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจ และที่สำคัญยังสร้างผลกำไรที่มากกว่าธุรกิจหลักอย่างน้ำมัน ดังนั้นการมีร้านกาแฟเป็นของตัวเอง ซึ่งจะกลายมาเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพิ่มรายได้ย่อมดีกว่า 

 

“ในด้านกลยุทธ์ เอสโซ่ยึดหลักการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการเพิ่มร้านค้าและบริการในสถานีบริการน้ำมัน เพราะเชื่อว่าในแต่ละธุรกิจล้วนต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นๆ ในการบริหาร เพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืน” เจษฎา ชั้นเชิงกิจ (ผู้จัดการฝ่ายการตลาดขายปลีก) บริษัท เอสโซ่ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ THE STANDARD 

 

“เอสโซ่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจน้ำมัน เอสโซ่จึงตัดสินใจขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจกับไมเนอร์ ฟู้ด ผู้มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจกาแฟ ซึ่งเอสโซ่มั่นใจว่าไมเนอร์ ฟู้ดจะสามารถสร้างความสำเร็จให้กับแบรนด์กาแฟใหม่ในสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ได้”

 

ยังไม่มีการยืนยันว่าต่อไปจะเห็น Coffee Journey ในปั๊มเอสโซ่ซึ่งมีราว 670 แห่งทั่วประเทศและมีแผนจะขยายมากกว่า 700 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2564 ทุกสาขาหรือไม่ 

 

แต่ที่แน่ๆ ต่อไปเราจะได้เห็น Coffee Journey ในปั๊มเอสโซ่และพื้นที่ภายนอกอย่าง อาคารสำนักงาน หรือจุดเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยอาจพัฒนาไปถึงขั้นขายแฟรนไชส์ด้วย 

 

ทว่าเบื้องต้นประพัฒน์ระบุว่า Coffee Journey จะเปิด 5 สาขาภายในสิ้นปีนี้ แม้จะดูเป็นจำนวนที่ยังไม่มากและห่างไกลจากเจ้าตลาดอยู่เยอะ แต่แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ตลาดร้านกาแฟร้อนแรงขึ้น เพราะครั้งนี้ขาใหญ่ลงมาเล่นเอง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X