กระทรวงการคลังเปิด ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ (ปีงบประมาณ 2567-2570) ชี้มี 2 เป้าหมายสำคัญ ได้แก่ การลดขนาดการขาดดุลงบประมาณไม่ให้เกิน 3% ต่อ GDP และการมุ่งจัดทำงบประมาณ ‘สมดุล’ ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
วันนี้ (27 ธันวาคม) อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) แล้ว โดยเป้าหมายสำคัญของแผนการคลังระยะปานกลางนี้มี 2 เรื่องหลัก ได้แก่ การปรับลดขนาดการขาดดุลงบประมาณไม่ให้เกิน 3% ต่อ GDP และมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลภายในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยอาคมมองว่าระยะเวลาที่เหมาะสมในที่นี้น่าจะเป็นระยะยาวกว่าปี 2570
อย่างไรก็ดี ในระยะยาวหากภาวะเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม
ขณะที่ พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงเป้าหมายการขาดดุลที่ 3% นี้เป็นเกณฑ์ที่ศึกษามาจากมาตรฐานสากลว่า ขนาดการขาดดุลที่ 3% หรือน้อยกว่า เหมาะสมและควรดำเนินการหลังจากเผชิญกับวิกฤตโควิดที่ทั่วโลกใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวมาโดยตลอด
รัฐมนตรีคลังยังเปิดเผยคาดการณ์การขาดดุลในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งเป็นปีแรกของแผนการคลังระยะปานกลางนี้ จะอยู่ที่ 5.93 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3% ต่อ GDP นับว่าลดลงจากการขาดดุลในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งอยู่ที่ 6.95 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.7% ต่อ GDP
โดยกระทรวงการคลังยังตั้งเป้าว่าในปีงบประมาณต่อๆ ไป การขาดดุลงบประมาณจะลดลงอีกอยู่ที่ 2.84% ในปีงบประมาณ 2568 ก่อนจะลดลงเหลือ 2.81% ในปีงบประมาณ 2569 และเหลือ 2.79% ในปี 2570
พรชัยชี้แจงว่า การขาดดุลที่ลดลงเป็นผลมาจากการจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 3-4% ต่อปี โดยเฉพาะในปี 2567 ที่คาดการณ์ว่าการจัดเก็บรายได้น่าจะเพิ่มขึ้น 10.7% แตะระดับ 2.75 ล้านล้านบาท โดยการจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ตามความที่กำหนดไว้ในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ) กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐมีหน้าที่จัดทำแผนการคลังระยะปานกลางให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?