×

พาณิชย์บุกตลาดเยอรมนี คว้ายอดขายถุงมือยางการแพทย์ 2 พันล้านบาท ประกาศลุยยุโรปต่อเนื่อง

18.11.2019
  • LOADING...

วันนี้ (18 พฤศจิกายน) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางนำคณะเยือนเยอรมนี โดยช่วงเช้า เวลา 09.30-10.00 น. เป็นประธานและสักขีพยานการลงนาม MOU ระหว่างนักธุรกิจไทยและเยอรมนี (ข้าวและเครื่องดื่ม) ณ โรงแรม Hyatt Regency Dusseldorf ผู้ส่งออกไทย บริษัท ยูนิเวอร์แซลไรซ์ จำกัด กับบริษัท Kreyenhop & Kluge GmbH & Co. KG และผู้ส่งออกไทย บริษัท Boonrawd Trading International Co.,Ltd กับบริษัท Kreyenhop & Kluge GmbH & Co. KG

 

ภายหลังการลงนาม จุรินทร์กล่าวว่า ได้นำกระทรวงพาณิชย์ การยางแห่งประเทศไทยและภาคเอกชน มาเยือนประเทศเยอรมนนีเที่ยวนี้ มีกิจกรรมหลัก 3 เรื่องด้วยกัน

 

เรื่องที่หนึ่ง การยางแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนมาเจรจาขายยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง

 

เรื่องที่สอง ภาคเอกชนมาร่วมงาน Medica 2019 ซึ่งเป็นงานที่เยอรมนีจัดงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับการแพทย์และการดูแลสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลกติดต่อกันมาหลายปี

 

เรื่องที่สาม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศนำเอกชนและการยางฯ ไปส่งเสริมการขายสินค้าไทยในห้างค้าส่งรายใหญ่ของเยอรมนี คือห้างเมโทร ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วประเทศใน 760 สาขาด้วยกัน ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่คือสินค้าอาหาร อาหารสำเร็จรูป

 

สำหรับการนำการยางและภาคเอกชนมาขายสินค้าทางการเกษตรนั้น ผลคือวันนี้ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ในการขายข้าวถุง และขายข้าวสารถุง จำนวน 6,000 ตันให้กับภาคเอกชนของเยอรมนี มูลค่าประมาณ 250 ล้านบาท และสองก็คือ ขายเครื่องดื่มให้กับภาคเอกชนประมาณ 40 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์ยางนั้นสามารถทำยอดขายรวมกันเป็นถุงมือยางเพื่อการแพทย์ประมาณ 2,000 ล้านบาท และสินค้าอื่นๆ ในงาน Medica คาดการณ์ว่าจะทำยอดปีนี้ที่มาร่วมงานประมาณ 150 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งหมดเป็น 2,400 ล้านบาท สำหรับการเดินทางมาเยี่ยมเยอรมนีครั้งนี้

 

สำหรับงาน Medica นั้น มีภาคเอกชนไทยมาร่วมงานทั้งหมด 16 บริษัทด้วยกัน สินค้าที่นำมาเจรจาในเรื่องของการขายประกอบด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือทางด้านการดูแลสุขภาพ การกายภาพบำบัด อุปกรณ์ที่ใช้ในกระดูก อุปกรณ์ไฟฟ้าทางการแพทย์และของที่ใช้แล้วทิ้งทางการแพทย์ เป็นต้น ถือว่าเป็นตลาดใหม่สำหรับการยางฯ เพราะฉะนั้นการยางฯ ก็ได้มีการนัดผู้นำเข้าของเยอรมนีเจรจา แต่ว่ายังต้องใช้เวลาในการนับหนึ่ง แต่เชื่อว่าการยางจะสามารถที่จะขายยางได้เยอะทีเดียว

 

จุรินทร์กล่าวว่า สำหรับการเปิดตลาดในเยอรมนีและสหภาพยุโรป โดยเยอรมนี ถือว่าเป็นผู้นำประเทศหนึ่งในสหภาพยุโรป เราได้มีการเตรียมการในการบุกตลาดสหภาพยุโรปในหลายเรื่องด้วยกัน

 

คือเริ่มต้นที่จะทำ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป และได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าได้เริ่มต้นแล้ว และถ้าการเจรจามีความคืบหน้าจะทำให้เร็วที่สุด เพราะจะมีผลช่วยให้การค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับเรามีมูลค่าเพิ่มขึ้น และเราได้รับสิทธิในการส่งสินค้าบางอย่าง ที่ยังมีกำแพงภาษีจากสหภาพยุโรป ที่ทำให้เราสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในเรื่องภาษีนำเข้าบางตัว

 

เช่น ถุงมือยางเพื่อการแพทย์ สำหรับตลาดสหภาพยุโรป รวมทั้งเยอรมนี ประเทศไทยต้องเสียภาษีนำเข้า 2.3% ขณะที่คู่แข่งสำคัญของเราคือมาเลเซียไม่ต้องเสียภาษี เพราะเขาได้สิทธิ์ GSP ซึ่งจะได้ไปจนถึงปีหน้า ถ้าเราสามารถที่จะทำ FTA ร่วมกัน ภาษีก็จะเป็นศูนย์ ทำให้เราสามารถแข่งขันกับมาเลเซียได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องเร่งรัดทำ FTA ไทยกับสหภาพยุโรป

 

นอกจากนั้นสินค้าที่เราจะส่งไปยังสหภาพยุโรปต้องเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานสูง เช่น มีเงื่อนไขด้านความยั่งยืน สิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสหภาพยุโรปและความปลอดภัยของอาหารเหล่านี้ เป็นต้น

 

“ผู้ที่จะส่งสินค้ามาที่สภาพยุโรปต้องเป็นผู้ผลิตไทยที่ได้มาตรฐานและเป็นไปตามเงื่อนไขของสหภาพยุโรป ผมมั่นใจว่าประเทศของเราพัฒนาไปเยอะมากเรื่องการขายเหล่านี้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดบางเรื่อง แต่เราสามารถที่จะบรรลุเงื่อนไขเหล่านี้ได้ เพื่อให้เข้ามาแข่งขันในตลาดเหล่านี้ได้” จุรินทร์กล่าว

 

จุรินทร์กล่าวต่อไปว่า สำหรับตลาดที่ตั้งเป้าจะเข้ามาขยายในเยอรมนีกับสหภาพยุโรปก็คือผลิตภัณฑ์ยางและข้าว โดยเฉพาะข้าวออร์แกนิก ซึ่งเป็นที่นิยม และไบโอพลาสติก อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง เช่น ไก่แช่แข็ง เป็นต้น รวมทั้งในเรื่องของสตาร์ทอัพ ซึ่งเรามีศักยภาพ เช่น ในเรื่องของภาพยนตร์แอนิเมชัน เพื่อเป็นแหล่งผลิตแอนิเมชันบางส่วนให้กับเขาได้ และที่สำคัญคือธุรกิจบริการร้านอาหารไทย สปา ก็เป็นธุรกิจบริการที่มีอนาคตสำหรับประเทศไทยในตลาดเยอรมนีและตลาดสหภาพยุโรป

 

รวมทั้งการที่เราจะต้องนำภาคเอกชนมาร่วมงานแสดงสินค้าในหลายภาคส่วน ทั้งการแพทย์ อาหาร ฯลฯ ที่เขาจัดเป็นประจำทุกปี นำผู้นำเข้าจากทั่วโลกมารวมกันอยู่ที่นี่

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X