×

เกณฑ์มาตรวัดขั้นต่ำมหาเศรษฐีทั่วโลกขยับเพิ่มขึ้น สะท้อนความยากของการขึ้นทำเนียบคนรวย 1% ของสังคม

01.03.2024
  • LOADING...

ผลการศึกษาด้านความมั่งคั่งของ Knight Frank พบว่า เกณฑ์การวัดในการเข้าสู่ทำเนียบคนรวย 1% ของสังคม เริ่มยกระดับความยากมากขึ้นทั่วโลก หมายความว่าการสร้างความมั่งคั่งซึ่งส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจาก ‘ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง’ ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการฟื้นตัวของตลาดตราสารทุน ได้ผลักดันให้ข้อกำหนดของมูลค่าสินทรัพย์ขั้นต่ำสำหรับบุคคลในการมีคุณสมบัติเป็นผู้ร่ำรวยที่สุดในประเทศของตนเพิ่มขึ้น

 

โดยรายงานระบุว่า เกณฑ์สินทรัพย์ขั้นต่ำของมหาเศรษฐีที่จะเข้าสู่ทำเนียบคนรวย 1% ที่มากที่สุดในโลก ยังคงเป็นโมนาโก ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรเศรษฐีหนาแน่นที่สุดในโลก เพิ่มขึ้น 4% จากปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 12.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ส่วนอันดับสองคือลักเซมเบิร์กที่มีเกณฑ์ขั้นต่ำความมั่งคั่งที่ 10.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยสวิตเซอร์แลนด์ที่ 8.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สหรัฐอเมริกามาเป็นอันดับที่ 4 ที่ 5.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนหน้า และอันดับ 5 คือสิงคโปร์ที่ 5.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในแง่ของเกณฑ์เงื่อนไขความมั่งคั่งที่จำเป็นต้องมี เพื่อเข้าสู่ทำเนียบมหาเศรษฐี 1% ของสังคม 

 

ทั้งนี้ นอกจากสิงคโปร์ เขตปกครองพิเศษฮ่องกงก็เข้าเกณฑ์ขั้นต่ำของทำเนียบเศรษฐี ซึ่งสะท้อนว่าทั้งสิงคโปร์และฮ่องกงมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างเศรษฐีหน้าใหม่เช่นกัน โดยทั้งสองประเทศมีการเสนอมาตรการจูงใจทางภาษีและกฎระเบียบที่เป็นมิตรต่อธุรกิจ สามารถดึงดูดสำนักงานบริหารจัดการสินทรัพย์ส่วนบุคคลมากกว่า 1,100 แห่งให้เข้าไปตั้งสำนักงานในพื้นที่ และดูแลจัดการสินทรัพย์มากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

นอกจากนี้ รายงานของ Knight Frank ยังระบุว่า แม้จะฟังเหมือนพิเศษมากๆ หากจะเข้าสู่ทำเนียบคนรวย 1% ของสังคม แต่ทำเนียบเศรษฐีดังกล่าวก็ยังง่ายกว่าการก้าวไปสู่ระดับอภิมหาเศรษฐี หรือ Ultra High Net Worth Individual (UHNWI) ที่จะต้องมีเกณฑ์สินทรัพย์ขั้นต่ำเฉลี่ยที่ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป 

 

Liam Bailey หัวหน้าทีมวิจัยระดับโลกของ Knight Frank กล่าวว่า การค้นพบนี้เน้นย้ำถึงความแตกต่างอย่างมากในการกระจายความมั่งคั่งระหว่างประเทศต่างๆ โดยที่ประเทศในฝั่งตะวันตกเริ่มมีความตื่นตัวในการจัดการกับการขาดดุลของรัฐบาล และความจำเป็นในการเพิ่มรายได้จากภาษี ซึ่งจะส่งผลให้มีแนวโน้มการบังคับใช้นโยบายที่มุ่งไปที่แหล่งที่มาของความมั่งคั่งมากขึ้น

 

ขณะเดียวกัน Bailey ยังย้ำถึงความจำเป็นที่รัฐบาลนานาประเทศทั่วโลกต้องเร่งหาสมดุลระหว่างการเก็บภาษีความมั่งคั่งและการส่งเสริมการเติบโตของความมั่งคั่ง ภายใต้บริบทของแต่ละประเทศ ท่ามกลางความพยายามที่ต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวเติบโต 

 

ทั้งนี้ รายงานของ Knight Frank คาดการณ์ว่า จำนวนคนรวยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก 28.1% ภายในปี 2028 ซึ่งค่อนข้างต่ำกว่าเมื่อช่วง 5 ปีก่อนหน้า คือ 2019-2023 ที่จำนวนคนรวยเพิ่มขึ้น 44%

 

ขณะที่รายงานอีกฉบับของ Oxfam America ระบุว่า รายงานของ Knight Frank ยังเป็นการตอกย้ำถึงเส้นแบ่งระหว่างคนรวยและคนจนทั่วโลกที่เริ่มมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่กว้างขึ้นจนน่าหวั่นใจนับตั้งแต่ปี 2020 โดยขณะที่คนที่ร่ำรวยที่สุด 5 คนของโลกมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นสองเท่า อีก 5 พันล้านคนทั่วโลกกลับยากจนลง 

 

ภาพ: leremy / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising