×

เรือนจำพิเศษมีนบุรี: ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

07.06.2024
  • LOADING...
เรือนจำพิเศษมีนบุรี

ในช่วงนี้เรือนจำพิเศษมีนบุรีได้รับความสนใจจากหน่วยงาน องค์กร และสถาบันต่างๆ ไปดูงานกันหลายกลุ่มหลายคณะ

 

สำนวนไทยโบราณอาจพูดได้ว่า ‘หัวกระไดเรือนจำไม่แห้ง’

 

นับตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่เรือนจำแห่งนี้ได้รับมอบหมายจากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ให้เรือนจำพิเศษมีนบุรีทำหน้าที่ปฏิบัติในการ ‘ดูแลสิทธิผู้ต้องขัง และการแยกสถานที่คุมขัง ระหว่างผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีกับผู้ต้องขังเด็ดขาด’ เช่น

 

 

  • 18 กุมภาพันธ์ คณะอนุกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา นำโดย สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ประธานอนุกรรมาธิการ
  • 5 มีนาคม คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร  นำโดย กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประธาน กมธ.
  • 1 เมษายน อรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี, วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ไปร่วมงาน ‘อ้อมกอดแห่งรอมฎอน สู่เรือนจำพิเศษมีนบุรี’
  • 20 พฤษภาคม วสันต์ ภัยหลีกลี้ และ สุภัทรา นาคะผิว กรรมการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคณะ

 

บุคคลสำคัญทั้ง 4 คณะได้ไปเยี่ยมเยือนดูงาน โดยมี นนทรัตน์ หอมศรีประเสริฐ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษมีนบุรี ให้การต้อนรับ

 

ในวันนี้เรือนจำพิเศษมีนบุรีกำลังทำหน้าที่สำคัญให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ให้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับหลักศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และปฏิบัติตามแนวทางนโยบายของกระทรวงยุติธรรม

 

การเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์มีความหมายต่อชีวิตอย่างไร ดูได้จากปรากฏการณ์ ‘อ้อมกอดแห่งรอมฎอน’ เมื่อ 1 เมษายน ณ เรือนจำพิเศษมีนบุรีนั่นเอง

 

หลังการละหมาดร่วมกับผู้ต้องขังมุสลิม 417 คนของจุฬาราชมนตรี และประธานรัฐสภา ผู้เขียนถามผู้ต้องขังคนหนึ่งว่า

 

“ได้รับประสบการณ์อะไรในวันนี้ครับ”

 

ผู้ต้องขังตอบด้วยความรู้สึกตื้นตันใจว่า

 

“ผมไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้จะมีโอกาสถือศีลอดและทำละหมาด ยืน นั่ง กราบในแถวเดียวกันกับท่านจุฬาราชมนตรี และท่านประธานวันนอร์ ระลึกถึงองค์อัลเลาะห์ด้วยกัน ขณะที่ผมได้สัมผัสมือกับท่านทั้งสองหลังการละหมาด ผมรู้สึกว่าผมมีตัวตน ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น จากบุคคลสำคัญ แม้ผมจะเป็นผู้ต้องขัง เคยทำความผิดมาก่อน แต่ชีวิตที่เหลือผมยังสามารถทำความดีได้ ผมหวังว่าเมื่อผมจากโลกนี้ไป แม้ดินกลบร่าง กุโบร์ (หลุมฝังศพ) ฝังร่างผมจะมีสภาพกว้างขวางสว่างไสว มีความสุขสงบ ตามที่ท่านประธานวันนอร์ได้พูดไว้ในวันนี้” 

 

ได้ฟังความรู้สึกตรงๆ อย่างนี้ ทำให้มีอารมณ์ตื้นตันตามไปด้วย ที่เห็นได้ว่าสำหรับคนคนหนึ่งนั้น การมีอยู่ของตัวตนที่ได้รับการยอมรับนับถือจากคนอื่น จากครอบครัว จากสังคม จากรัฐ และจากหลักนิติธรรม มีความหมายอย่างไรต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

 

เรือนจำพิเศษมีนบุรี

 

ข้อมูลเมื่อปี 2565 พบว่าเรือนจำทั่วประเทศไทยจำนวน 143 แห่ง มีพื้นที่เรือนนอน 372,323 ตารางเมตร รองรับผู้ต้องขังได้ 232,587 คน เฉลี่ยมีพื้นที่นอนคนละ 1.6 ตารางเมตร

 

เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาด หมายถึงศาลตัดสินคดีถึงที่สุดแล้ว จำนวน 210,801 คน

 

เป็นผู้ต้องขังระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดี จำนวน 49,219 คน

 

ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี หมายถึงคดียังไม่ถึงที่สุดของการตัดสินของศาล อาจจะไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว อาจจะไม่มีใครมาขอประกันตัว อาจจะไม่สมัครใจประกันตัว ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ต้องถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ในเมื่อศาลยังไม่พิพากษาถึงที่สุด คดีอาจยกฟ้องได้ จึงเท่ากับว่าผู้ต้องขังกลุ่มนี้เสมือนเป็นผู้บริสุทธิ์

 

ดังนั้นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกลุ่มนี้จึงยึดโยงกับ

 

  1. บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2560 ในหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 29 วรรคสองที่ว่า

 

“ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้ การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี”

 

  1. ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของ UN ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum  Rules for the Treatment of Prisoners) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ข้อ 111-120 เช่น

 

 

ข้อกำหนด 111 ระบุว่า

 

  1. บุคคลที่ถูกจับกุมหรือคุมขังเนื่องจากถูกตั้งข้อหาทางอาญา ซึ่งอยู่ระหว่างการคุมขังของตำรวจ หรือถูกฝากขังในเรือนจำ แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาคดี และมีคำพิพากษาลงโทษ ให้ถือว่าเป็น ‘ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา’ ตามที่กล่าวถึงในข้อกำหนดนี้

 

  1. ผู้ต้องขังที่ยังไม่ต้องคำพิพากษาอันเป็นที่สุดให้เป็นผู้กระทำผิด ต้องสันนิษฐานก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และต้องได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น

 

  1. โดยไม่เป็นการเสียหายต่อข้อกำหนดตามกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือกระบวนการปฏิบัติสำหรับผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา ต้องจัดให้ผู้ต้องขังได้รับประโยชน์จากระบบการดูแลพิเศษ

 

วสันต์ ภัยหลีกลี้ และ สุภัทรา นาคะผิว กสม. ที่ไปเยี่ยมเรือนจำพิเศษมีนบุรีเมื่อ 20 พฤษภาคม ให้สัมภาษณ์ว่า

 

“เรือนจำพิเศษมีนบุรีเป็นเรือนจำต้นแบบในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีของกรมราชทัณฑ์ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีได้รับแยกพื้นที่คุมขังออกจากผู้ต้องขังเด็ดขาด

 

เรือนจำพิเศษมีนบุรี

 

“การแต่งกายในชีวิตประจำวัน สามารถสวมใส่เสื้อผ้าทั่วไปที่ญาติฝากให้ได้ ผู้ต้องขังไม่ต้องตัดผมสั้นตามระเบียบราชทัณฑ์ เมื่อเดินทางไปศาลสามารถสวมใส่เสื้อผ้าสุภาพ ใส่กางเกงขายาวต่างจากผู้ต้องขังเด็ดขาดได้ ขอชื่นชมความตั้งใจขับเคลื่อนนโยบายนี้ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ให้ความสำคัญต่อแนวทางนี้ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14

 

“นโยบายนี้จะประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ กรมราชทัณฑ์ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดเห็นถึงความจำเป็นในการจำแนกผู้ต้องขังด้วย” (อ้างอิง: หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม 2567)

 

นนทรัตน์ หอมศรีประเสริฐ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษมีนบุรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

 

“นอกจากการแยกพื้นที่เชิงกายภาพ การแต่งกายที่มีอิสระพอสมควร ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดียังได้รับสิทธิให้ญาติเข้าเยี่ยมได้ทุกวัน สามารถเข้าถึงทนายของตนเองได้ตลอด ได้รับการฝึกอาชีพเพื่อติดตัวไปทำงาน มีนักจิตวิทยาเข้ามาดูแลสุขภาพจิต และมีหมอมาดูแลสุขภาพเป็นประจำ ผู้ต้องขังที่คลอดบุตร มีการแยกห้องแม่และเด็กเป็นการเฉพาะ ได้รับเงินสนับสนุนค่านมและอุปกรณ์ดูแลเด็ก โดยทั่วไปนอกจากมีการฝึกอาชีพให้เลือกมากมายแล้ว ตอนนี้ยังมีการสอนภาษาจีนให้ผู้ต้องขังสอนกันเองด้วย

 

 

“บริเวณหน้าเรือนจำยังมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อม ปรับปรุงร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านนวดไทย ร้านคาร์แคร์ เอารถเมล์ที่เลิกใช้คันหนึ่งมาทำ Coffee Bus อีกคันทำเป็นห้องน้ำสะอาดแยกชายหญิงสำหรับญาติผู้ต้องขัง สร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ถ้ามีผู้บริจาคเรือก็จะเปิดให้ญาติผู้ต้องขังสามารถพายเรือเล่นในบึงสะอาดได้ เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้ออาทรต่อทั้งผู้ต้องขังและญาติผู้ต้องขัง อีกไม่เกิน 4 เดือน ผมก็เกษียณราชการแล้ว ขอทำงานเต็มที่ ฝากผลงานไว้ ไม่ใช่เพื่อเป็นเกียรติประวัติของตนเอง แต่เพื่อเป็นแรงใจให้เห็นว่าศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ได้มาจากฐานะรวยจน ไม่ได้เกิดจากถิ่นกำเนิด ไม่ได้มาจากลัทธิความเชื่อใดๆ แต่เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด เป็นสิทธิของมนุษย์ที่ควรได้รับความเคารพ”

 

ธรรมดาข้าราชการใกล้เกษียณอายุมักจะเข้าเกียร์ว่างในการทำงาน เพราะไม่มีลาภยศ ตำแหน่งอะไรที่จะไขว่คว้าอีกแล้ว

 

นานๆ จะได้พบข้าราชการแบบนี้ ที่มีจิตสำนึกดีงาม ทำงานต่อเนื่องมาอย่างถูกทิศตรงทางที่เป็นคุณต่อส่วนรวม และขยันทำจนนาทีสุดท้ายของอายุงาน

 

จึงขอบันทึกไว้ตรงนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising