×

ปิดตำนานชายผู้ยุติสงครามเย็น มิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำสูงสุดคนสุดท้ายของโซเวียต

01.09.2022
  • LOADING...
มิคาอิล กอร์บาชอฟ

“…ข้าพเจ้าขอสละตำแหน่งด้วยความเจ็บปวด แต่ก็ยังมีความหวังและความเชื่อในตัวท่านทั้งหลาย เชื่อในสติปัญญาและจิตวิญญาณของท่านทั้งหลาย พวกเราคือลูกหลานแห่งอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ และขณะนี้ทุกอย่างก็ได้ขึ้นอยู่กับท่านทั้งหลายเองแล้ว ที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ทันสมัยและสง่างาม

ข้าพเจ้าขอขอบคุณจากใจจริงสำหรับทุกท่านที่ได้ร่วมหยัดยืนกับข้าพเจ้า เพื่อสิ่งที่ถูกต้องและดีงาม แน่นอนว่าบางข้อผิดพลาดบางเรื่องนั้นหลีกเลี่ยงได้ หรือทำให้ดีกว่านี้ได้ แต่ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าไม่ช้าก็เร็วความพยายามร่วมกันของเราและท่านทั้งหลายจะบังเกิดผล ประชาชนของพวกเราจะมีชีวิตอยู่ในสังคมประชาธิปไตย และความเจริญรุ่งเรืองสืบไป ข้าพเจ้าขออำนวยพรทุกท่านให้ประสบแต่สิ่งที่ดีที่สุด”

 

นี่คือข้อความบางส่วนจากสุนทรพจน์ในคืนวันที่ 25 ธันวาคม 1991 อันเป็นวันสุดท้ายของสหภาพโซเวียต โดย มิคาอิล เซอร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ ชายในตำนานผู้ปิดหน้าประวัติศาสตร์สงครามเย็น ผู้ที่เพิ่งถึงแก่อสัญกรรมในวัย 91 ปี เมื่อราว 23.20 น. ของวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมาตามเวลากรุงมอสโก หรือตรงกับ 03.23 น. ของวันที่ 31 สิงหาคมตามเวลาประเทศไทย ณ โรงพยาบาลคลินิกกลางนครมอสโก

 

และบังเอิญเหลือเกินที่ช่วงวันเวลาการถึงแก่อสัญกรรมนั้น อยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมที่เพิ่งผ่านพ้นวันครบรอบการรัฐประหารเดือนสิงหาคม ที่พยายามโค่นล้มอำนาจชายผู้นี้มาไม่นานพอดิบพอดี

 

มิคาอิล กอร์บาชอฟ

ภาพ: Pascal J Le Segretain / Getty Images

 

ชายผู้เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 1990 ที่ได้รับการสรรเสริญจากทั่วทุกมุมโลกในฐานะผู้นำสันติภาพ ปิดฉากสงครามเย็น และนำยุคใหม่มาสู่รัสเซีย แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกก่นด่าจากคนจำนวนมากว่าไร้น้ำยา และทำแผ่นดินแม่อย่างสหภาพโซเวียตที่ยิ่งใหญ่พังสลายคามือ

 

เราไปทำความรู้จักบุรุษแห่งตำนานผู้มีปานแดงรูปแผนที่ประเทศไทยกลับด้านบนศีรษะล้าน อันเป็นเอกลักษณ์ผู้นี้อีกครั้งกันดีกว่า

 

มิคาอิล เซอร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ เกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 1931 ณ จังหวัดสตัฟโรปอล ทางภาคใต้ของรัฐรัสเซีย ครั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต เติบโตมาในครอบครัวตระกูลชาวนายากจน เชื้อสายฝั่งแม่เป็นชาวยูเครน โดยตอนแรกเกิดถูกตั้งชื่อว่า ‘วิคเตอร์’ แต่ต่อมาได้รับชื่อใหม่เป็น ‘มิคาอิล’ หลังผ่านพิธีแบ๊บติสต์ (ในขณะนั้นคือยุครัฐบาลสตาลินที่มีนโยบายเข้มงวดกวดขันบรรดาศาสนจักร) 

 

ในวัยเด็กกอร์บาชอฟพบผ่านมรสุมชีวิตหนักหนามาก เนื่องจากเป็นทศวรรษแห่งความลำบากของสหภาพโซเวียตตั้งแต่ช่วงยุค 1930 ต่อเนื่องถึง 1940 ที่ต้องเผชิญกับความอดอยากครั้งใหญ่ที่พรากชีวิตลุงและป้าฝั่งพ่อไป รวมถึงการกวาดล้างทางการเมืองของรัฐบาลโจเซฟ สตาลิน ที่ทำให้ทั้งปู่ย่าตายายถูกสงสัยว่าเป็น ‘ศัตรูของประชาชน’ จนถูกจับไปใช้แรงงานในค่ายกักกันพักหนึ่ง ก่อนถูกปล่อยตัวออกมา ไม่ทันไร ก็เจอสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โซเวียตต้องเจอกับความโหดร้ายของกองทัพนาซีผู้รุกรานอีก แต่โชคดีที่ผ่านพ้นมาได้ นี่อาจเป็นครั้งแรกที่มิคาอิลมองเห็นปัญหาระบอบโซเวียตจากประสบการณ์ตนเอง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม แต่หลังจากที่เขาสมัครเข้า ‘คอมโซมอล’ หรือสันนิบาตยุวชนคอมมิวนิสต์ (คล้ายๆ ลูกเสือบ้านเรา) กอร์บาชอฟก็เริ่มฉายแววความเป็นผู้นำตั้งแต่นั้นมา

 

บันไดขั้นแรกสู่อำนาจรัฐโซเวียตของกอร์บาชอฟเริ่มขึ้นครั้งแรกในวัยทีนเอเจอร์ส ในวัยนี้เขาก็ได้เริ่มเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตแล้ว โดยครั้งหนึ่งมิคาอิลกลับมาช่วยพ่อของเขาในการทำการเกษตร จนได้ผลผลิตเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ จนถึงขนาดที่พ่อของเขาได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์สูงสุดเลนิน ส่วนตัวเขาได้เหรียญอิสริยาภรณ์ธงแดงแห่งกรรมกรที่มีเกียรติสูงยิ่งเช่นกัน โปรไฟล์จัดเต็มขนาดนี้จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะสามารถสอบเข้าไปศึกษาต่อ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมอสโก อันเป็นสถานศึกษาที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองโซเวียตมักเป็นศิษย์เก่า และที่สถาบันนี้เองที่เขาได้พบกับไรซา นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้ที่ต่อมาจะได้เป็นภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของเขา

 

หลังจบการศึกษากลายเป็น First Jobber บังเอิญว่าสายลมทางการเมืองด้านบนเริ่มเปลี่ยนทิศ เป็นยุคสมัยที่ นิกิต้า ครุสชอฟ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของโซเวียตแทน โจเซฟ สตาลิน อย่างเต็มตัวในช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 ก็ได้ออกนโยบายประณามและลบล้างความเป็นสตาลินในฐานที่ก่ออาชญากรรมกับชาวโซเวียตไว้มาก มิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้ที่เจอเรื่องราวร้ายๆ ตอนเด็กก็เลยถือโอกาสนี้สนับสนุนนโยบายด่าสตาลินของครุสชอฟอย่างเต็มที่ จากคนหนุ่มโปรไฟล์ดีแถมยังสนองนโยบายของผู้นำใหม่อย่างสุดตัว เขาจึงก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด จนกระทั่งได้เป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ของจังหวัดสตัฟโรปอลบ้านเกิดในวัย 39 ปี จากผลงานในสายการพัฒนาเยาวชนผ่านองค์กรคอมโซมอลนั่นเอง

 

มิคาอิล กอร์บาชอฟ

ภาพ: Roy Letkey / AFP

 

ก้าวสู่อำนาจรัฐส่วนกลางโซเวียต

กอร์บาชอฟได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมการกลางเป็นครั้งแรก โดยมีคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ในปี 1978 โดยกำกับการเกษตรและเพาะปลูกเป็นตำแหน่งแรก ซึ่งก็ทำได้อย่างดีเยี่ยม (ไม่เชื่อกลับไปอ่านตอนเด็กที่ช่วยพ่อจนได้รับรางวัล) คณะกรรมการกลางนี้เปรียบเสมือนพื้นที่ของเหล่าบรรดาผู้กำหนดนโยบายการบริหารสูงสุดของประเทศ และคณะผู้นำสูงสุดก็จะถูกรับเลือกจากพื้นที่ตรงนี้ 

 

ไม่นานนับจากนั้นก็เกิดสงครามในอัฟกานิสถานเมื่อปลายปี 1979 เมื่อโซเวียตส่งทหารเข้าไปช่วยเหลือรัฐบาลคอมมิวนิสต์อัฟกานิสถานที่เพิ่งสถาปนาอำนาจรัฐได้ ว่ากันว่าในทางลับกอร์บาชอฟไม่สนับสนุน โดยวิจารณ์ว่า ‘เป็นความผิดพลาด’ แต่กฎของการเล่นเกมการเมืองข้อหนึ่งคือ ‘อยู่เป็น’ ดังนั้นก็ต้องเลือกไหลตามสุภาษิต ‘พูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทอง’ มิหนำซ้ำในปี 1980 เขายังพูดสนับสนุนให้มีการปราบปรามขบวนการโซลิดาริตี้ที่ประท้วงรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ในขณะนั้นด้วย มองได้ว่าในยุคนั้นกระแส ‘หลักการเบรจเนฟ – Brezhnev’s Doctrine’ กำลังไหลแรงในหมู่ชนชั้นนำโซเวียต (หลักการดังกล่าวสรุปได้สั้นๆ คือ การที่โซเวียตสงวนสิทธิเข้าแทรกแซงประเทศพันธมิตรใดก็ได้ ที่กำลังจะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่อาจเป็นผลร้ายต่อโซเวียต) และกอร์บาชอฟเองก็อยู่เป็น ใช้กระแสนี้ไต่ไปจนถึงจุดสูงสุดของอำนาจได้สำเร็จ

 

ในปี 1982 ผู้นำโซเวียตที่ครองอำนาจมายาวนานกว่า 18 ปีอย่าง เลโอนิด เบรจเนฟ ก็ถึงแก่อสัญกรรม มีการลงมติให้ ยูริ อันโดรปอฟ ผอ.เคจีบีผู้เฒ่าก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดแทน แม้กอร์บาชอฟจะหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่ทว่าสิ่งที่เปลี่ยนอย่างเดียวคือผู้ครองอำนาจเท่านั้น ถึงกระนั้นกอร์บาชอฟก็ถือว่าสร้างผลงานเข้าตาอันโดรปอฟอยู่มาก จนกระทั่งอันโดรปอฟได้สั่งเสียไว้บนเตียงก่อนสิ้นลมว่า กอร์บาชอฟคือทายาททางการเมืองคนต่อไป 

 

กระนั้นคณะกรรมการกลางก็ยังเมินที่จะโหวตให้กอร์บาชอฟ เพราะมองว่าเพิ่งอายุ 53 ปี ยังหนุ่มเกินไปและอ่อนประสบการณ์ จึงพากันโหวตให้ คอนสแตนติน เชียร์เนนโค อดีตพันธมิตรผู้สูงวัยคนสำคัญของเบรชเนฟเป็นผู้นำสูงสุดแทน แต่ยังทันเข้าประชุมไม่กี่ครั้งก็มาสิ้นบุญไปอีกคน จึงกล่าวได้ว่าภายใน 3 ปี โซเวียตเสียผู้นำไปถึง 3 คนติด ๆ กัน เพราะการใช้ ‘ความชรา’ เป็นเกณฑ์ในการเลือกผู้นำ อย่ากระนั้นเลย เรายังไม่อยากจัดงานศพให้ผู้นำในปีรุ่งขึ้น จึงได้พากันเลือก มิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำหนุ่มวัย 54 ปี ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดคนใหม่ของสหภาพโซเวียต

 

ผู้นำหนุ่มที่สุดในประวัติศาสตร์นักปฏิรูป

เหมือนกับผู้นำยุคก่อนๆ ที่ภารกิจแรกคือ การกระชับอำนาจเพื่อรับประกันความมั่นคง กอร์บาชอฟได้ ‘ส่ง’ สมาชิกระดับสูงของคณะกรรมการกลางหลายคนที่อาวุโสไป ‘เกษียณอายุราชการ’ และสมาชิกระดับสูงมากอย่าง อันเดรย์ โกรมิโก รมว.ต่างประเทศโซเวียต ผู้ทรงอำนาจก็ถูกกอร์บาชอฟ ‘ปรับตำแหน่ง’ ไปสู่ตำแหน่งประมุขของรัฐที่มีเกียรติกว่า แต่ไร้ซึ่งอำนาจอิทธิพล แล้วให้เพื่อนสนิทชาวจอร์เจียอย่าง เอดูอาร์ด เชวาร์ดนาดเซ เข้าดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศแทน เป็นต้น รวมไปถึง บอริส เยลต์ซิน นักการเมืองหนุ่มไฟแรงอีกคนที่กอร์บาชอฟปลุกปั้นมา จนกระทั่งมาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกลาง

 

มิคาอิล กอร์บาชอฟ

ภาพ: Pierre Guillaud / AFP

 

กลาสนัสต์ และปีรีสโตรยก้าอันเลื่องชื่อ และคืนวันอันชื่นมื่นกับโลกตะวันตก

ทันทีที่กอร์บาชอฟกระชับอำนาจสำเร็จเรียบร้อยดีโดยสงบ บวกกับความพอเหมาะพอเจาะกับการเริ่มแผน 5 ปีฉบับใหม่พอดี กอร์บาชอฟจึงถือโอกาสเสนอนโยบายปฏิรูปที่ค่อนข้างสุดขั้ว (สำหรับพวกหัวเก่า) ‘กลาสนัสต์’ (Глазность-Glasnost’) ที่เป็นนโยบายปฏิรูปการเมืองมาจากคำว่า (Глаза-Glaza) ที่แปลว่าดวงตา โดยรวมหมายถึง การเปิดการรับรู้สื่ออย่างอิสระไม่ปิดบัง ส่วน ‘ปีรีสโตรยก้า’ (Перестройка-Perestroika) ที่เป็นนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจนั้น แปลตรงตัวได้ว่า เป็นการปรับรื้อโครงสร้าง (ทีแรกแค่จะปรับปรุงระบบเศรษฐกิจ วางแผนจากส่วนกลาง แต่ต่อมาขยายเป็นเอาทุนนิยมมาปรับใช้กับสังคมนิยม) โดยได้กล่าวอ้างถึงนโยบาย New Economic Policy สมัยเลนินเป็นผู้นำที่ได้หยิบยืมแนวคิดการให้ผลกำไรจูงใจผู้ผลิตมาเป็นเครื่องมือเร่งการผลิตที่มีประสิทธิภาพชั่วคราว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเรียกเสียงสนับสนุนนั่นเอง

 

ส่วนความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกมีความใกล้ชิดและอบอุ่นมากขึ้น ถึงแม้ผู้นำอเมริกันอย่าง โรนัลด์ เรแกน หรือผู้นำอังกฤษอย่าง มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ จะเป็นสายเหยี่ยวปากร้ายใส่โซเวียตอย่างไร กอร์บาชอฟก็มักจะเข้าหาด้วยท่าทีที่พร้อมเจรจาทุกครั้ง จึงสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์กับกลุ่มพันธมิตรทางทหารนาโต และยังได้จัดการประชุมสุดยอดการขจัดอาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ ด้วย นอกจากนี้กอร์บาชอฟยังพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับยุโรปตะวันตกขั้วตรงข้าม ทั้งเยอรมนีตะวันตก ฝรั่งเศส และอื่นๆ พร้อมทั้งการไปเยือนและต้อนรับการมาเยือนของผู้นำเหล่านั้น เพื่อแสวงหาความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ และการลงทุนในช่วงที่โซเวียตกำลังต้องการเงินในการปฏิรูปเศรษฐกิจ

 

ที่สำคัญที่สุดคือ กอร์บาชอฟยุติการสนับสนุนทางทหารต่อพันธมิตร โดยเฉพาะเมื่อเกิดการเดินขบวนประท้วงในเยอรมนีตะวันออก กอร์บาชอฟปฏิเสธที่จะส่งทหารโซเวียตเข้าไปแทรกแซงปราบปราม ทำให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์เยอรมนีตะวันออกล่มสลาย และสามารถรวมชาติกับเยอรมนีตะวันตกได้ โดยไม่ถูกขัดขวางจากโซเวียต เพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อนโยบายปีรีสโตรยก้านั่นเอง และต่อมาการปฏิวัติในทำนองนี้ก็ลุกลามเป็นโดมิโนเข้าไปในประเทศอื่นในยุโรปตะวันออก รวมไปถึงสหภาพโซเวียตเองในภายหลัง กอร์บาชอฟยังเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นผู้ยุติการส่งทหารไปอัฟกานิสถานอีกด้วย

 

มิคาอิล กอร์บาชอฟ

ภาพ: TASS / AFP

 

ปัญหาบ่มเพาะเรื้อรังยาวนานกลายเป็นคลื่นใต้น้ำรอวันปะทุ

ต้องยอมรับว่าปัญหาของสหภาพโซเวียตมีหลายด้านสะสมมาอย่างยาวนาน ทั้งระบบราชการที่เทอะทะ ระบบเศรษฐกิจวางแผนจากส่วนกลางที่ไม่สามารถผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคได้ตามความต้องการ ไม่มีการแข่งขันกันผลิตผลิตภัณฑ์ จึงขาดความคิดสร้างสรรค์และคุณภาพไปไม่ถึงไหน ประกอบกับการทุ่มรายได้ของประเทศไปในการทหาร เพื่อพยุงความมั่นคงของประเทศบริวารที่จะส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงของโซเวียต โดยเฉพาะสงครามยาวนานนับสิบปีในอัฟกานิสถาน และการแข่งขันสร้างอาวุธในอวกาศกับสหรัฐฯ ยิ่งบ่อนทำลายสถานะการเงินของโซเวียต พูดให้เห็นภาพสั้นๆ คือ ในโซเวียตยุคนี้ทุกๆ วันจะมีคนไปต่อคิวยาวๆ เพื่อซื้อสินค้าที่หลายอย่างคุณภาพก็ไม่ค่อยดี แถมหมดเร็วและต้องทำซ้ำในวันถัดๆ ไป ยิ่งมาเจอฟางเส้นสุดท้าย วิกฤตศรัทธาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด ยิ่งสั่นคลอนความเชื่อมั่นในรัฐบาลโซเวียต เรียกได้ว่ากอร์บาชอฟเข้ามาได้จังหวะ (ซวย) พอดีเลย

 

นโยบายกลาสนัสต์หรือการเปิดกว้างทางการเมือง และการรับรู้ข่าวสารทำให้อำนาจอิทธิพลจากส่วนกลางในการแต่งตั้งผู้นำท้องถิ่นหมดไป ผู้นำท้องถิ่นในสาธารณรัฐต่างๆ เริ่มได้รับเลือกมาอย่างเสรีและมีความชาตินิยม ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจข้างต้นที่ได้เล่าไป ก็เริ่มพากันไม่เชื่อมั่นความเป็นสหภาพโซเวียต เริ่มคิดว่าแบบนี้มันจะกลายเป็นยิ่งกอดรวมกันยิ่งจะพากันจมดิ่ง แยกกันเรารอดมากกว่า ก็เริ่มพากันขอยกเลิกสัญญาสหภาพโซเวียต (ที่รัฐธรรมนูญปี 1977 ก็เปิดช่องให้ทำ โดยที่ลืมคิดไปว่าถ้าไม่มีการแผ่อิทธิพลจากอำนาจส่วนกลางแบบที่เคยเป็นนั้นต้องมีวันแยกกันแน่)

 

รัฐประหารสิงหาคมโค่นกอร์บาชอฟ ความพยายามเฮือกสุดท้ายจากฝ่ายอนุรักษนิยม

ในภาวะที่บ้านเมืองจะล่มแหล่ไม่ล่มแหล่ บังเอิญว่าช่วงหนึ่งกลางเดือนสิงหาคม 1991 กอร์บาชอฟใช้สิทธิลาพักร้อนไปไครเมียพอดี ในช่วงวันที่ 19-21 สิงหาคมปีนั้น กลุ่มชนชั้นนำสายเหยี่ยว เช่น รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม รมว.มหาดไทย ผอ.เคจีบี รองเลขาฯ สภากลาโหม ฯลฯ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินโดยใช้กำลังทางทหาร เนื่องจากพลังของมวลชนนับล้านที่ยังคงเบิกบานกับเสรีภาพนั้นมีมากเกินกว่าที่กองทหารหยิบมือหนึ่งจะต้านทานได้ ในที่สุดการรัฐประหารจึงล้มเหลว (เหตุการณ์นี้ได้เป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง Wind of Change ของวง Scorpions) และโดยเฉพาะเมื่อปรากฏภาพ บอริส เยลต์ซิน อดีตเด็กปั้นผู้ผันตัวเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของกอร์บาชอฟได้ปีนรถถังขึ้นไปกล่าวคำต่อต้านรัฐประหาร ยิ่งได้ใจชาวรัสเซียไปเต็มๆ แต่ในขณะเดียวกันกอร์บาชอฟก็คะแนนนิยมดิ่งลงเรื่อยๆ เนื่องจากภาพเหล่านี้อธิบายถึงภาพลักษณ์ที่อ่อนแอปวกเปียกของกอร์บาชอฟได้ชัดเจนที่สุด

 

มิคาอิล กอร์บาชอฟ

ภาพ: V. Armand / AFP Files 

 

ประธานาธิบดีคนแรกและคนสุดท้ายในวาระสุดท้ายของสหภาพโซเวียต

ก่อนปี 1990 ผู้นำของสหภาพโซเวียตถือเป็นผู้นำของรัฐโซเวียตรัสเซียโดยปริยาย ในขณะที่รัฐอื่นมีผู้นำเป็นของตนเอง หลังการปฏิรูปการเมืองเยลต์ซินได้เกิดความขัดแย้งกับกอร์บาชอฟลูกพี่เก่า โดยกล่าวหาว่ายังปฏิรูปไม่มากพอ และได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้นำรัฐรัสเซียผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐรัสเซีย และเมื่อภาพที่เยลต์ซินยืนประกาศต้านรัฐประหาร และสนับสนุนกอร์บาชอฟเผยแพร่ออกไป เยลต์ซินจึงได้รับการสนับสนุนมากขึ้นไปอีก และเริ่มประกาศยุติการดำเนินงานของพรรคคอมมิวนิสต์ในดินแดนรัสเซีย 

 

และในยุคเดียวกันนั้น ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียตได้เรียกว่าประธานาธิบดีเป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จะถือว่าเป็นผู้นำสูงสุด โดยอาจจะดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคฯ หรือนายกรัฐมนตรี หรือประมุขของรัฐก็ได้ ดังนั้นกอร์บาชอฟจึงเป็นผู้นำคนแรก และคนสุดท้ายที่ได้ใช้ชื่อตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ

 

อำนาจของกอร์บาชอฟลดลงเรื่อยๆ สั่งการอะไรก็ไม่มีใครฟังและไม่ได้ผลแล้ว จนกระทั่งผู้นำรัสเซีย ยูเครน เบลารุส มาเจรจายกเลิกสนธิสัญญาสหภาพโซเวียตสำเร็จในวันที่ 9 สิงหาคม 1991 ก็เท่ากับว่ากอร์บาชอฟไม่มีประเทศให้ปกครอง จนในที่สุดต้องกล่าวสุนทรพจน์อำลาตำแหน่ง และอำลาอดีตประเทศที่เคยยิ่งใหญ่ในค่ำคืนวันที่ 25 ธันวาคมปีเดียวกัน

 

มิคาอิล กอร์บาชอฟ

ภาพ: Odd Andersen / AFP

 

ชีวิตหลังเกษียณอายุทางการเมืองระบอบโซเวียต

ทันทีที่กลายเป็นประเทศรัสเซียใหม่ในนามสหพันธรัฐรัสเซีย กอร์บาชอฟได้เริ่มตั้งมูลนิธิกอร์บาชอฟซึ่งเป็นมูลนิธิสากล เพื่อการศึกษาเศรษฐกิจ สังคมและรัฐศาสตร์ รวมไปถึงยังเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์ทุนนิยมอย่าง Pizza Hut และ Louis Vuitton เป็นต้น เพื่อหารายได้สมทบมูลนิธิ กอร์บาชอฟยังสนับสนุนมูลนิธิการกุศลอีกจำนวนหนึ่ง และยังรับงานพิเศษเป็นวิทยากรบ้างตามโอกาส เดินทางไปต่างประเทศสานสัมพันธ์กับผู้นำจากประเทศต่างๆ ในฐานะเพื่อนเก่า ครั้งหนึ่งในปี 1996 เขาเคยสมัครลงรับเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย แต่แพ้ราบคาบด้วยคะแนนสนับสนุนเพียง 1% เท่านั้น ตั้งแต่นั้นมาจึงแสดงบทบาททางการเมือง เป็นเพียงแค่กูรูแนะนำ และวิพากษ์วิจารณ์การเมือง และผู้นำรัสเซียจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

 

บทสรุป

กอร์บาชอฟเป็นผู้นำรัสเซียในยุคโซเวียตที่มีทั้งคนรักและคนชัง อย่างที่ได้กล่าวไปตั้งแต่ต้น แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กอร์บาชอฟคือบุรุษแห่งโลกยุคใหม่ และยุคเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์ ผู้นำในประชาคมโลกออกมากล่าวแสดงความเสียใจ และยกย่องเชิดชูกอร์บาชอฟกันถ้วนหน้า ทั้งเลขาธิการสหประชาชาติ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ประธานสหภาพยุโรป ผู้แทนรัฐบาลจีน รวมไปถึงประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่พักหลังโดนกอร์บาชอฟวิพากษ์วิจารณ์หนัก ก็แถลงว่าเสียใจต่อการจากไปของกอร์บาชอฟเช่นกัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising