เนื่องในวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมาเป็นวันผู้ย้ายถิ่นสากล ซึ่งถือว่าเป็นวันที่สำคัญอีกวันหนึ่งของกลุ่มคนแรงงานในบ้านเราที่มีจำนวนมากขึ้นในทุกๆ ปี พร้อมทั้งมีการระบุตัวเลขสถิติจำนวนประชากร จากเว็บไซต์สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่า ปัจจุบันมีจำนวนแรงงานข้ามชาติที่อาศัยในไทยแบบตรวจสอบได้ทั้งสิ้น 3,308,891 คน
เดิมทีปัญหาของสถานการณ์แรงงานข้ามชาติมีรายงานให้เห็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอยู่ทุกปี ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่กับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศแทบยุโรป หรือแบบสดๆ ร้อนๆ ก็คือกรณีการอพยพของชาวฮอนดูรัสกว่า 8 พันคน ที่หนีภาวะความยากจน ปัญหาอาชญากรรมในประเทศและวิกฤตการเมือง เพื่อหวังเข้ามาทำงานในถิ่นสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้ลี้ภัย
ในขณะที่ประเทศไทยก็นับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับเรื่องราวเหล่านี้มาตลอด กำลังอยู่ในขั้นตอนของการรับมือ โดยเฉพาะในด้านของการจัดการสิทธิ์ให้กับกลุ่มแรงงานต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศ รวมถึงการช่วยเหลือคนไทยที่ออกไปทำงานต่างแดนอย่างเต็มรูปแบบ โดยทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้จัดงานผู้ย้ายถิ่นสากล พร้อมการเปิดเผยสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ ที่กำลังสร้างความท้าทายให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก
สถานการณ์แรงงานข้ามชาติในไทย กับปัญหาการพิสูจน์สัญชาติของแรงงานต่างด้าว
จากข้อมูลของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เรื่องของแรงงานข้ามชาติ ทั้งที่เกิดขึ้นในไทย รวมถึงคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติกว่า 811,437 คน ซึ่งไม่ตรงกับตัวเลขของรัฐบาลที่มีเพียง 132,232 คนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีตัวเลขของแรงงานไทยในต่างประเทศกว่า 4 หมื่นคน ในประเทศที่เป็นตลาดแรงงานที่สำคัญ อาทิ ไต้หวัน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, อิสราเอล และสิงคโปร์ รวมถึงประเทศแถบตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งกลุ่มแรงงานไทยเหล่านี้สามารถสร้างรายได้และส่งเงินกลับไทยทะลุ 120,000 ล้านบาท
ขณะที่ นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติได้เผยว่า ในรอบปีที่ผ่านมา นโยบายการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติสัญชาติ พม่า, ลาว และกัมพูชา ตามมติคณะรัฐมนตรี 16 มกราคม 2561 มียอดแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมายจำนวนทั้งสิ้น 1,187,803 คน ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จในการปิดฉากมาตรการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายสามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยได้นับตั้งแต่ปี 2535
อย่างไรก็ตาม ยังดูเหมือนว่าความสำเร็จเหล่านี้ดูจะยังมีข้อกังขาพอสมควร ทั้งในเรื่องการจัดการศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จที่มีภาพความแออัด และความวุ่นวายในการดำเนินการกับแรงงานข้ามชาติที่ยังพบจุดบกพร่องหลายอย่างอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุบัติเหตุจากการเดินทางขนส่งแรงงานข้ามชาติ ที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 5 ครั้งในปีนี้ โดยใน 3 ครั้งเกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่นำเข้ามาทำงานกับนายจ้างตามระบบ MOU แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนชั้นดีที่ทำให้มองเห็นว่า ประเทศไทยที่แม้ว่าจะเผชิญกับปัญหานี้มานานแค่ไหน แต่ก็ยังไม่สามารถขจัดความคาราคาซังเหล่านี้ได้ดีนัก
แรงงานผีน้อยไทยในเกาหลี
‘ผีน้อย’ หรือศัพท์เฉพาะที่เอาไว้ใช้เรียกคนที่จงใจโดดวีซ่าท่องเที่ยว เพื่อแอบทำงานอยู่ในต่างประเทศแบบหลบๆ ซ่อนๆ เป็นอีกหนึ่งนิยามสั้นๆ ที่เอาไว้ใช้เรียกคนไทยที่ลักลอบเข้าไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเคยเป็นประเด็นใหญ่ให้หน่วยงานหลายฝ่ายได้ถกเถียงกันมาแล้วในรอบปีที่ผ่านมา
ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ ผู้ที่คลุกคลีกับแรงงานไทยในเกาหลีนานกว่า 1 ปี 7 เดือน และเป็นเจ้าของงานวิจัยเรื่อง ‘แรงงานผีน้อยไทยในเกาหลี’ (A Study of Thai ‘Illegal worker’ in South Korea) ได้เปิดเผยข้อมูลของงานวิจัยที่แฝงนัยยะของเหตุผลว่า เหตุใดคนไทยถึงเลือกจะออกจากเมืองไทยไปเผชิญโชคกับการทำงานในต่างแดน
ดนย์เผยว่า แต่เดิมแรงงานไทยในเกาหลีมีมานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยมีจำนวนแรงงานไทยในเกาหลีประมาณ 168,711 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย 24,022 คน คิดเป็นร้อยละ 14 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างจากงานวิจัยชุดนี้มีจำนวน 28 คน แบ่งเป็นชาย 10 คน หญิง 18 คน โดยมีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) มากที่สุด จำนวน 11 คน รองลงมาคือภาคเหนือ 6 คน ภาคตะวันออกและกรุงเทพฯ ภาคละ 2 คน ภาคใต้และภาคกลางภาคละ 1 คน ที่เหลือ 5 คนไม่ระบุภูมิลำเนา
“แรงงานไทยในเกาหลีมีมานานแล้ว แต่เพิ่งมาบูมในยุคหลัง เพราะมีคนไทยได้แต่งงานกับคนเกาหลีในภาคแรงงาน คนกลุ่มนี้จึงเป็นผู้ดึงให้แรงงานไทยไปเป็นแรงงานที่เกาหลี ซึ่งในมุมมองของผม เห็นว่าแรงงานไทยที่เกาหลีจะพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือกันดี
“ส่วนรูปแบบของการไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายนั้น มีลักษณะเดียวคือ วีซ่าท่องเที่ยวและอยู่เกินเป็น Over Stay บางคนอยู่นาน 4-5 ปี ซึ่งงานที่ไปทำส่วนใหญ่จะเป็นงานที่คนเกาหลีไม่อยากทำ เช่น งานโรงงาน งานภาคเกษตร แต่ปัจุบันการจ้างงานเปลี่ยนไป คือคนไทยสามารถทำงานที่ดีขึ้นได้ ถ้าอยู่นานๆ บางคนก็เป็นล่าม หรือร้านสะดวกซื้อก็นิยมจ้างแรงงานผิดกฎหมายมาทำงาน รวมไปถึงร้านอาหารของเกาหลีด้วย” ดนย์กล่าว
นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่เข้าไปทำงานอย่างถูกกฎหมายและผิดกฎหมายต้องพบเจอตลอดในการทำงานที่เกาหลีคือ การปฏิบัติระหว่างเจ้านายและลูกจ้าง ในบางครั้งสถานะของแรงงานผิดกฎหมายยังมีสถานภาพที่ดีกว่าแรงงานถูกกฎหมายเสียอีก
โดยวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ยังมีข้อสรุปบ่งชี้อีกว่า การเข้ามาทำงานเป็นแรงงานนอกประเทศนั้นจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หากปัญหารากเหง้าทางการเมืองในไทยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดคือความเหลื่อมล้ำหรือปัญหาความยากจน นั่นหมายความว่าต่อให้แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถหางานได้ในเกาหลี พวกเขาก็จะมองหาโอกาสในการทำงานที่ประเทศอื่นๆ ต่อไป ดังนั้นปัญหาแรงงานผิดกฎหมายข้ามชาติก็จะเกิดขึ้นต่อไป โดยที่สถานภาพสังคมของไทยปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขได้
ปัญหาแรงงานกับความเหลื่อมล้ำ
“ก่อนหน้านี้ผมและครอบครัวต้องจ่ายเงินให้นายหน้า ซึ่งทำหน้าที่ในการสำรวจสำมะโนครัวคนละ 5,000 บาท ซึ่งจะต้องจ่าย 2 ครั้งต่อปีมาตลอด ขนาดมาอยู่สมุทรสงครามกับพี่สาวแล้วยังต้องกลับไปจ่าย โดยที่เราไม่รู้เลยว่าเงินที่เราจ่ายไปนั้นเป็นค่าอะไร ตอนหลังถึงรู้ว่าการสำรวจสำมะโนครัวประชากรในแต่ละพื้นที่เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เราไม่ต้องจ่ายเงิน แต่นายหน้าอ้างว่าถ้าจ่ายก็จะได้อยู่ในประเทศไทย ไม่ถูกส่งตัวกลับ”
นั่นคือความในใจของ ศรชัย พงษ์ศา อดีตหนึ่งในแรงงานข้ามชาติที่ปัจจุบันพัฒนามาเป็นศิลปินจัดวางชื่อดังของไทย ที่สะท้อนให้เห็นความรู้สึกที่ติดอยู่ในใจของตัวเองตลอดการใช้ชีวิตอยู่ในไทย
นอกจากนี้ยังมีกรณีของ ดวงใจ เหมฮีม เจ้าของร้านโรตีฟาติมะห์ ที่ลูกเขยและลูกจ้างในการดูแลเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวถึงร้าน ทั้งที่เป็นแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
“เรารีบไปกดเงินเพื่อมาประกันตัว ตำรวจบอกว่าคนละ 5 หมื่นบาท แต่สุดท้ายประกันได้แต่ลูกเขย เพราะตำรวจบอกว่าลูกจ้างต้องใช้เงินประกัน 2 แสนบาท ทำให้ลูกจ้างถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำ เพราะติดวันเสาร์อาทิตย์ เราสงสารเด็กมาก เพราะอยู่ด้วยกันมานาน เหมือนคนในครอบครัว แต่เรายืนยันจะสู้คดี เพราะทำทุกอย่างถูกต้อง มีหลักฐานทุกอย่าง ตำรวจยังบอกกับเราด้วยว่า จะสู้ทำไม เสียค่าปรับแค่ 5,000 บาทแล้วส่งลูกจ้างกลับประเทศง่ายกว่า แต่เราทำไม่ได้ เขาก็เป็นคนเหมือนกับเรา ทำงานด้วยกันมา ถ้าเขาถูกส่งตัวกลับไปแล้วก็จะไม่ได้กลับมาอีก แล้วคนที่บ้านเขาจะอยู่อย่างไร” ดวงใจกล่าว
จาก 2 กรณีนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการถูกเอาเปรียบจากคนพื้นที่บางส่วน ต่อแรงงานที่มีสถานภาพในฐานะแรงงานต่างด้าวคนหนึ่ง นั่นจึงทำให้เราเห็นบุคลากรจากหลายหน่วยงานลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ให้กับแรงงานเหล่านี้ ในฐานะผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย
แรงงานข้ามชาติขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากกว่าที่ใครจินตนาการ!
สำหรับประเด็นนี้ต้องยอมรับกันตามตรงว่า กลุ่มคนแรงงานข้ามชาติเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากกับโครงสร้างและการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะแรงงานทักษะตํ่าที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา, ลาว และกัมพูชา ที่ตอนนี้ได้กระจายไปอยู่ในหลายๆ ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้กำลังแรงงานสูง ส่วนหนึ่งมาจากค่านิยมที่คนไทยรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานเลือกที่จะทำงานที่ใช้กำลังน้อยลง อีกทั้งประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นั่นจึงทำให้จำนวนแรงงานน้อยกว่าความต้องการ ทำให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะใช้แรงงานต่างด้าวทดแทน
ในขณะเดียวกัน ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า กลุ่มแรงงานเหล่านี้ล้วนแต่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นจากในอดีตหรือสมัยสังคมไทยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ที่สร้างภาพจำชัดเจนก็คือ เศรษฐกิจไทยต่างเติบโตได้ด้วยแรงงานข้ามชาติทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังได้เล็งเห็นว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติทุกวันนี้ยังเข้ามามีบทบาทอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพคือ การจดทะเบียนแรงงาน ที่ควรทำให้กระบวนการนี้ง่ายและคล่องตัวมากกว่านี้ เพราะแม้ว่าตอนนี้จะจัดให้มีจุดวันสตอปเซอร์วิส แต่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ซึ่งทำให้มีปัญหาในเวลาที่จะต้องแก้ไขปัญหา ซึ่งจำเป็นต้องขอมติ ครม. ทุกครั้ง ดังนั้นแทนที่จะต้องขอมติจาก ครม. ควรเปลี่ยนเป็นการอนุมัติจากหน่วยงานที่มีอำนาจแทนจะดีกว่า
8 ข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหาแรงงาน
จากสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่ประเด็นเหล่านี้ ทางเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ ต่างมีข้อเสนอต่อทางรัฐบาล ที่หวังให้เกิดการแก้ไขปัญหากับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะเรื่องของคนไทยที่ไปเป็นแรงงานในต่างแดนหรือแรงงานต่างชาติในบ้านเราก็ตาม ดังนี้
1. รัฐบาลควรจัดทำแผนปฏิบัติการและดำเนินการออกกฎหมายเพื่อรองรับข้อตกลงและอนุสัญญาที่ให้การรับรอง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดหน้าที่ในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน
2. รัฐบาลควรเร่งดำเนินการจัดทำมาตรการรองรับการดำเนินการรองรับแรงงานข้ามชาติที่จะสิ้นสุดระยะเวลาอนุญาตให้ทำงานตามมติ ครม. 16 มกราคม 2561 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ทั้งนี้เพื่อให้มีแนวทางและมาตรการรองรับต่อการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่ชัดเจน
3. รัฐบาลควรมีมาตรการรองรับแรงงานข้ามชาติที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่าน เช่น กลุ่มพม่ามุสลิม โดยควรกำหนดมาตรการผ่อนผันให้อยู่และทำงานได้ชั่วคราว และหามาตรการจัดการในระยะยาว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการดูแล และหาแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืนต่อคนกลุ่มนี้ต่อไป
4. กระทรวงแรงงานและกรมการจัดหางาน ควรกำหนดมาตรการในด้านความปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยผ่านระบบ MOU โดยกำหนดให้บริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ หรือนายจ้างที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานจะต้องมีมาตรการดูแลป้องกันอุบัติเหตุในการเดินทางของแรงงานข้ามชาติ กำหนดมาตรฐานรถรับส่งแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งปรับแนวทางการทำงานของศูนย์แรกรับและส่งกลับ รวมทั้งกระบวนการนำเข้า MOU ให้มีระยะเวลาในการทำงานที่ชัดเจน เพื่อป้องกันในการเดินทางในช่วงกลางคืนของรถรับส่งแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้เพื่อลดปัจจัยที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการเดินทาง
5. รัฐบาลควรเร่งรัดการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย เพื่อกำหนดแนวทางมาตรการในการคัดกรองและดูแลผู้ลี้ภัย รวมทั้งกำหนดแนวยุทธศาสตร์การจัดการผู้ลี้ภัยในระยะยาว ทั้งนี้ในระยะสั้นระหว่างรอการออกระเบียบสำนักนายกฯ รัฐบาลและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองควรมีมาตรการทางเลือกแทนการกักขังเพื่อรองรับกลุ่มผู้ลี้ภัยที่อยู่ระหว่างรอการดำเนินการตามขั้นตอนของ UNHCR
6. กระทรวงแรงงานและกรมการจัดหางานควรจะกำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการในเรื่องแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศให้ชัดเจน รวมทั้งมีมาตรการในการดูแลคนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเข้าถึงการช่วยเหลือของแรงงานไทยที่ประสบปัญหาในต่างประเทศ
7. รัฐบาลควรมีการบังคับใช้นโยบายการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ในระดับพื้นที่ และพัฒนาระบบการเรียนการสอนให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลายตามสภาพพื้นที่และชุมชน
8. รัฐบาลควรมีคำจำกัดความเกี่ยวกับเด็กนอกระบบการศึกษา (Out-Of-School Children) เพื่อกำหนดลักษณะที่ชัดเจน อันจะนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการ และส่งเสริมให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
จากข้อเสนอทั้งหมดทั้งมวลของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ทำให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติมีความสำคัญต่อประเทศไทย โดยเฉพาะกับระบบเศรษฐกิจที่เราได้เห็นภาพไป แต่ท้ายที่สุดแล้วชะตากรรมของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ไหนก็ตาม การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ปิดช่องโหว่ของการทุจริต สามารถเก็บภาษีได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว แต่มันคือหน้าที่ของเราทุกคนที่จะพัฒนาสิ่งเหล่านี้อย่างเท่าเทียมกัน
ภาพเปิด: ฐานิส สุดโต
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า