×

จับตาตะวันออกกลางเดือด นักวิเคราะห์เตือน อิสราเอลอาจบุกเลบานอน ฮิซบอลเลาะห์ยกระดับตอบโต้

20.09.2024
  • LOADING...

การโจมตีอย่างน้อย 3 ระลอกทั่วเลบานอนภายในสัปดาห์เดียว เริ่มจากจุดระเบิดที่ซ่อนในเพจเจอร์ ตามด้วยระเบิดในวิทยุสื่อสาร และการโจมตีทางอากาศทางตอนใต้ของเลบานอน เป็นการส่งสัญญาณชัดว่าอิสราเอลพร้อมทำสงครามขยายแนวรบกับพันธมิตรของฮามาสอย่างเต็มรูปแบบ

 

นั่นนำไปสู่คำถามว่า แล้วความขัดแย้งนี้จะไปจบที่ตรงไหน ผลพวงที่จะตามมามีอะไรน่ากังวลและน่าจับตาต่อ

 

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ยอมรับว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่อิสราเอลใช้วิธีนี้ในการโจมตีสมาชิกฮิซบอลเลาะห์ เพราะแต่เดิมเราเห็นการโจมตีแบบซึ่งหน้าด้วยจรวดหรือโดรน ที่เป็นการแลกหมัดระหว่างสองฝ่ายนับตั้งแต่ทั้งคู่เปิดศึกจากผลพวงฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว

 

จริงอยู่เราเคยเห็นอิสราเอลใช้วิธีซ่อนระเบิดในมือถือเพื่อลอบสังหารบุคคลสำคัญของฝ่ายอริมาแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความกังวลและหวาดระแวงในวงกว้าง เพราะระเบิดทำลายล้างอาจมาในรูปแบบของอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันทุกชนิด การตรวจสอบและป้องกันก็จะทำได้ยากและซับซ้อนมากขึ้น

 

มีความไม่ชัดเจนในเรื่องของซัพพลายเชนว่าอุปกรณ์ทั้งเพจเจอร์และวอล์กกี้ทอล์กกี้ที่ติดตั้งระเบิดเหล่านี้มาจากไหนกันแน่ เพราะบริษัทผู้ผลิตเพจเจอร์ในไต้หวันได้ออกมาปฏิเสธ และชี้แจงว่าอาจเป็นของบริษัทในฮังการีที่ได้ใบอนุญาตใช้แบรนด์ในการผลิต ส่วนวิทยุสื่อสารก็เป็นรุ่นเก่าที่เลิกผลิตมาสิบปีแล้ว แต่สิ่งที่บอกได้อย่างหนึ่งก็คือ อิสราเอลมีการเตรียมการมาอย่างดีเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งหน่วยข่าวกรองมอสซาด (Mossad) อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการดังกล่าว

 

ที่ผ่านมาสมาชิกฮิซบอลเลาะห์พยายามเลี่ยงการใช้มือถือหรืออุปกรณ์สื่อสารไฮเทค เพื่อป้องกันการถูกอิสราเอลติดตาม สอดแนม หรือแทรกซึม และหันมาใช้อุปกรณ์โลว์เทคอย่างเพจเจอร์ ซึ่งก็ได้นำเข้าจากต่างประเทศล็อตใหญ่ และสุดท้าย อุปกรณ์เหล่านี้เองที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสังหารที่ฮิซบอลเลาะห์ไม่ทันตั้งตัว

 

อานุภาพของระเบิดในเพจเจอร์ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 2 คน และมีผู้บาดเจ็บมากเกือบ 3,000 คน ขณะที่ระเบิดในวิทยุสื่อสารทำให้มีผู้เสียชีวิต 25 คน ซึ่งจากปฏิบัติการครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่อิหร่านตกเป็นเหยื่อด้วย

 

การโจมตี 3 ระลอก จะนำไปสู่อะไร?

 

สงครามหลังจากนี้มีแนวโน้มขยายตัว โดย ดร.สุรชาติ ชวนจับตาว่าฮิซบอลเลาะห์จะตอบโต้อิสราเอลอย่างไร หลังจากที่ประกาศกร้าวว่าจะล้างแค้น

 

เมื่อพิจารณาจากขีดความสามารถ จะเห็นว่าฮิซบอลเลาะห์เป็นกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีกองกำลังราว 20,000-50,000 คน นอกจากนี้ยังมีจรวด 120,000-200,000 ชุด โดยในอดีตมีเพียงกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เท่านั้นที่อ้างว่าเคยรบชนะอิสราเอลและทำให้อิสราเอลล่าถอยได้ ดังนั้นการเผชิญหน้าโดยตรงอาจทำให้สงครามขยายใหญ่ ขณะที่ตัวแสดงระดับรัฐที่หนุนหลังฮิซบอลเลาะห์อย่างอิหร่านอาจถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง

 

ตรงนี้ก็น่าสนใจว่าอิหร่านจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ก่อนหน้านี้อิหร่านพยายามจำกัดความขัดแย้งไม่ให้ขยายวงกว้างโดยการตอบโต้อิสราเอลแบบจำกัดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ที่ อิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำปีกการเมืองของฮามาส อีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญของอิหร่านถูกอิสราเอลลอบสังหารในกรุงเตหะราน

 

ส่วนฮิซบอลเลาะห์เองก็เช่นกัน ที่ผ่านมามีความพยายามจำกัดการโจมตีอิสราเอล โดยเน้นการตอบโต้ด้วยจรวดข้ามพรมแดน แต่น่าจับตาว่าครั้งนี้ฮิซบอลเลาะห์ถูกโจมตีอย่างหนัก ซึ่งถ้าไม่ตอบโต้อะไรกลับคืนเลยก็อาจทำให้ชาวเลบานอนเห็นถึงความอ่อนแอ

 

ดร.สุรชาติ มองว่าปฏิบัติการตอบโต้ของฮิซบอลเลาะห์อาจดำเนินการในลักษณะเดิมต่อไป แต่อาจเพิ่มความเข้มข้นขึ้น บวกกับการก่อการร้ายโจมตีบุคคลหรือสถานที่สำคัญต่างๆ

 

อิสราเอลส่งสัญญาณพร้อมทำสงคราม

 

อิสราเอลมีความพยายามที่จะสร้างดินแดนกันชน (Buffer Zone) ทางภาคเหนือ หรือในดินแดนตอนใต้ของเลบานอน เพื่อให้ชาวยิวกลับไปตั้งถิ่นฐาน ซึ่งมีโอกาสที่อิสราเอลจะเดินหน้าตามแผนการนี้ ตรงนี้ก็จะสร้างปัญหายุ่งยากและผูกปมขัดแย้งระหว่างประเทศให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น

 

อิสราเอลเคยบุกเลบานอนและยึดครองดินแดนทางใต้ระหว่างปี 1985-2000 ก่อนที่จะถอนกำลังออกในปี 2000 หลายฝ่ายเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ซ้ำ

 

การโจมตีหลายระลอกช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังเป็นการสร้างภาพให้เห็นว่าอิสราเอลยังมีความเข้มแข็ง สามารถเปิดแนวรบได้หลายพื้นที่ รวมถึงสามารถขยายสมรภูมิไปสู่ภาคใต้ของเลบานอน เราเห็นการโจมตีหลายรูปแบบ ล่าสุดมีการโจมตีทางอากาศใส่เลบานอน นอกจากนี้ยังใช้เครื่องบินรบทำ ‘โซนิกบูม’ เพื่อข่มขวัญประชาชน เป็นการส่งสัญญาณเตือนว่าถ้าฮิซบอลเลาะห์ยังไม่หยุดโจมตีสนับสนุนฮามาส พวกเขาก็จะเดินหน้าปฏิบัติการทางทหารต่อ

 

ท่าทีของสหรัฐฯ อีกหนึ่งตัวแสดงที่มองข้ามไม่ได้

 

ดร.สุรชาติ ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นล่าสุดทำให้สหรัฐฯ กระอักกระอ่วนและตกที่นั่งลำบาก

 

ที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พยายามควบคุมจำกัดความขัดแย้ง ซึ่งกรณีการโจมตีด้วยเพจเจอร์และวิทยุสื่อสาร สหรัฐฯ ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับอิสราเอล ขณะที่ฐานเสียงเดโมแครตส่วนหนึ่งเรียกร้องให้ลดการสนับสนุนอิสราเอล แน่นอนว่าประเด็นนี้จะถูกโยงกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจะมีการชูข้อเรียกร้องเหล่านี้ในระหว่างการหาเสียงของ คามาลา แฮร์ริส หลังจากนี้

 

ส่วนในระยะกลาง วอชิงตันจะมีท่าทีอย่างไรคงต้องรอผลการเลือกตั้งชัดเจนก่อน ซึ่งทั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ และแฮร์ริส ต่างยืนเคียงข้างอิสราเอลทั้งคู่ แต่แนวทางการสนับสนุนอาจมีรายละเอียดแตกต่างกัน

 

มีอะไรน่ากังวลหลังจากนี้

 

สุดสัปดาห์นี้ต่อเนื่องไปจนถึงสัปดาห์หน้า ต้องจับตาว่าฮิซบอลเลาะห์จะโต้กลับอย่างไร รวมถึงดูว่าอิหร่านจะเคลื่อนไหวอย่างไร ขณะที่ ดร.สุรชาติ มองว่ามีโอกาสที่อิสราเอลจะรุกเข้าเลบานอนเต็มตัว ซึ่งจะทำให้สงครามขยายตัวจากกาซา ซึ่งเป็นแนวรบที่ 1 และเวสต์แบงก์ แนวรบที่ 2 สู่ดินแดนทางใต้ของเลบานอน ซึ่งเป็นแนวรบที่ 3 และเสี่ยงทำให้กลายเป็นสงครามระดับภูมิภาคที่มีตัวแสดงอื่นมาเกี่ยวข้องมากขึ้น รวมถึงกลุ่มฮูตีในเยเมน อีกพันธมิตรของฮามาส ที่อาจเพิ่มปฏิบัติการในทะเลแดงอีกเช่นกัน

 

ท่าทีของทำเนียบขาวก็น่าจับตาด้วย โดยที่การหาเสียงของทั้งทรัมป์และแฮร์ริสจะมีประเด็นนี้รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ทั้งสองผู้สมัครอาจต้องตอบข้อโต้แย้งเรื่องนี้ด้วย

 

และที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แน่ๆ คือถ้าเกิดสงครามใหญ่ขึ้นย่อมกระทบเศรษฐกิจทั่วโลกที่เปราะบางอยู่แล้ว ทั้งวิกฤตพลังงาน ราคาน้ำมันขยับขึ้น รวมถึงสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้น ซึ่งไทยก็จะพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือสำหรับ Worst Case Scenario

 

ภาพ: Ammar Ammar / AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising