×

มาได้ครึ่งทางแต่ไฟมอดแล้ว! เข้าใจ ‘Mid-Career Crisis’ ในวันที่ชีวิตเจอวิกฤตวัยทำงาน

18.02.2024
  • LOADING...
Mid-Career Crisis

เพราะการใช้ชีวิตจริงหลังก้าวออกจากโลกมหาวิทยาลัยไม่ได้สวยงามเสมอไปสำหรับทุกคน หลายคนรู้ตัวอีกทีก็ผ่านการทำงานมาเกินกว่า 15-20 ปีแล้ว ชีวิตก้าวเข้าสู่วัยกลางคน และชีวิตการทำงานก็เดินมาถึงกลางทางเหมือนกัน

 

ความเจ็บปวดคือชีวิตการทำงานนั้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จะมีคนที่พยายามสักแค่ไหนก็ไปได้ไม่ไกลกว่านี้ Career Path มาถึงทางตันไม่ว่าจะเคยวาดหวังเอาไว้ว่าฉันจะไปถึงจุดนี้ หรือต่อให้จะไม่ได้คาดหวังอะไร แต่พอรู้สึกตัวอีกทีก็เหมือนติดหล่ม กลับตัวก็ไม่ได้ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง

 

เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะบนโลกใบนี้มีไม่กี่คนหรอกที่จะไปได้ไกลถึงดวงดาว และเราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘Mid-Career Crisis’ หรือ ‘วิกฤตกลางวัยทำงาน’

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

สำหรับคนที่ทำงานมาถึงวัย Mid-Career ซึ่งไม่มีใครบอกตัวเลขที่แน่ชัดได้ แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นในปีที่ 10-25 ของการทำงาน คนจำนวนไม่น้อยที่จะเริ่มสับสนและตั้งคำถามกับตัวเองถึงการทำงานที่ทำอยู่ เพราะมันเริ่มกลายเป็นทำงานในแบบ ‘เช้าชามเย็นชาม’ ทำตามหน้าที่แค่พอให้สำเร็จ และรอรับเงินเดือนเมื่อถึงสิ้นเดือน

 

คำถามที่หลายคนคิดคือนี่เป็นสิ่งที่ชอบ อยากทำ สนุกกับมันแน่หรือ หลายคนเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ นั้นคืออะไรกันแน่ ความฝันที่เคยวาดไว้ในตอนที่เป็นเด็กจบใหม่ไฟแรง วันนี้ไฟฝันและวันหวานมันกลายเป็นเรื่องเก่าที่แทบนึกไม่ออกว่าความรู้สึกในเวลานั้นเป็นอย่างไร

 

ครั้นคิดที่จะเปลี่ยนแปลงก็มองไม่เห็นทางไปต่อ หรือต่อให้มีทางไปก็ไม่กล้าที่จะเสี่ยงเพราะกลัวที่จะล้มในวันที่แข้งขาและหัวใจไม่ได้แข็งแรงเหมือนเดิม และกลายเป็น ‘ติดล็อก’ (Locked Into) สุดท้ายก็ได้แต่ก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป ไม่ว่าจะรักหรือชังก็ตาม

 

เป็นแบบนี้ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตามมาคืออาการหมดไฟหรือ Burnout ที่หากปล่อยไว้นอกจากจะกระทบกับเรื่องของชีวิตการทำงานแล้ว มีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อชีวิตจริงๆ ที่อาจเป็นโรคเครียด ไปจนถึงภาวะซึมเศร้าได้เลยทีเดียว ซึ่งสุดท้ายผลกระทบมันจะเป็นลูกโซ่พัวพันกันไปหมด

 

ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงภาวะ Mid-Career Crisis เราควรสำรวจหัวใจตัวเองกันนิดหน่อย

 

  1. ขาดความกระตือรือร้นหรือยัง
  2. มีอะไรที่ทำให้ไม่พอใจไหมในที่ทำงาน
  3. รู้สึกเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิต
  4. มีปัญหาในการรับประทานอาหารไม่ปกติ หรือมีอาการติดแอลกอฮอล์และบุหรี่
  5. กำลังทำสิ่งที่เรียกว่า Quiet Quitting หรือการทำงานไปวันๆ เหมือนลาออกแต่ไม่ได้ลาออก
  6. อ่อนล้าสะสม

 

ทีนี้ถ้าหากพบว่ามีสัญญาณเหล่านี้บ้างไม่ว่าจะข้อเดียวหรือหลายข้อ หรือต่อให้ไม่รู้สึกถึงสัญญาณเลย แต่มีวิธีดีๆ ที่จะช่วยบรรเทาและป้องกันปัญหาเรื่องของ Mid-Career Crisis ได้หลายวิธี

 

ไม่ว่าจะเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจ (Divert Your Mind) คือการเปลี่ยนไปทำอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องคิดเรื่องงานเลย เช่น ไปเรียนทำอาหาร ทำขนม ไปเรียนดนตรี หรือแม้แต่การท่องเที่ยวจะแค่ไม่กี่วันหรือหลายวัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยเติมแรงใจกลับมาได้บ้าง

 

อีกสิ่งที่จำเป็นมากคือการเพิ่มคุณค่าในตัวของเราเอง (Strengthen Your Self-Worth) เพราะหากการที่ไม่มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานบั่นทอนจิตใจ แต่มองในอีกแง่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องคุณค่าในตัวของเรา ไม่มีงานที่ดีงานไหนจะสามารถบั่นทอนคุณค่าในตัวของเราได้

 

คุณค่าของเราไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในที่ทำงานอย่างเดียว เราเป็นคนที่มีคุณค่าต่อครอบครัว ดูแลครอบครัวได้ดี หรือเราอาจมีคุณค่าต่อชุมชน เป็นที่ปรึกษาให้เพื่อน เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม สิ่งเหล่านี้ทำเถอะดีต่อใจทั้งนั้น

 

และหากยังรู้สึกว่าก้อนมวลพลังงานความมืดยังอยู่ในใจ ระบายมันออกมา เล่าให้ครอบครัว เพื่อน หรือคนสนิทฟัง และหากรู้สึกว่าต้องการความช่วยเหลือจริงๆ มีที่ปรึกษา (Mentor) มากมายที่พร้อมจะยื่นมือเข้ามา ไม่เพียงแค่เรื่องรับฟังการทำงาน แต่ยังสามารถช่วยวางแผนเส้นทางการทำงานหลังจากนี้ให้ได้ด้วย


ดังนั้นถึง Mid-Career Crisis จะฟังดูน่ากลัวและเหมือนไม่มีทางออก แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีอะไรที่เราจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้

 

แค่เปลี่ยนที่หัวใจตัวเองก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่แล้ว

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X