×

มีดีตรงไหน? เปิดนัยสำคัญเรื่องเชื้อชาติผู้บริหาร จาก Microsoft ถึง Starbucks ที่เลือก ‘ซีอีโอใหม่’ เป็น ‘คนอินเดีย’ อย่าง สัตยา นาเดลลา และ ลักซ์แมน นาราซิมฮัน

21.09.2022
  • LOADING...
Microsoft Starbucks

HIGHLIGHTS

  • กว่า 60 บริษัทในกลุ่มยักษ์ใหญ่ที่ติดอันดับ Fortune 500 นั้นมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นคนอินเดีย โดยเฉพาะบริษัทที่มีอิทธิพลสูงอย่าง Alphabet, Microsoft, Mastercard, IBM, Twitter, Adobe, Chanel, PepsiCo รวมถึง OnlyFans และล่าสุดคือ Starbucks
  • ปัจจัยที่ทำให้ผู้บริหารสัญชาติอินเดียเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำบริษัทมี 3 ส่วนหลัก คือ ประชากรศาสตร์ การปรับตัว และความทรหดอดทน
  • ชาวอินเดียส่วนใหญ่ในยุคก่อนเลือกที่จะเข้าสู่บริษัทมืออาชีพ และไม่เข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการเอง ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่มี ‘ซีอีโอมืออาชีพ’ ซึ่งสร้างชื่อเสียงระดับโลกด้วยการเข้าร่วมกับบริษัทข้ามชาติ และเติบโตในพื้นที่โปรเฟสชันแนลแทน
  • คนอินเดียยังขึ้นชื่อเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตน ความจงรักภักดี และการสร้างฉันทามติ เนื่องจากชีวิตส่วนใหญ่เต็มไปด้วยสถานการณ์ขัดแย้งและความยากลำบาก ผู้บริหารชาวอินเดียจึงมักจะแสดงความยินยอม ใจดี และไม่ค่อยเผชิญหน้า

หากลองนับให้ดี โลกจะพบว่ากว่า 60 บริษัทในกลุ่มยักษ์ใหญ่ที่ติดอันดับ Fortune 500 นั้นมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นคนอินเดีย ล่าสุดเช่น สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) และ ลักซ์แมน นาราซิมฮัน (Laxman Narasimhan) โดยเฉพาะบริษัทที่มีอิทธิพลสูงอย่าง Alphabet, Microsoft, Mastercard, IBM, Twitter, Adobe, Chanel, PepsiCo รวมถึง OnlyFans 

 

ล่าสุดคือ Starbucks เชนร้านกาแฟรายใหญ่ของโลกที่ดึงตัว Laxman Narasimhan ผู้มีถิ่นกำเนิดในเมืองปูเน ประเทศอินเดีย มานั่งเก้าอี้ ‘ซีอีโอ’ เพื่อพลิกฟื้นธุรกิจ ในวันที่ Starbucks พบวิกฤตยอดขายลดลงและราคาเมล็ดกาแฟโลกพุ่งสูงขึ้น

 

Microsoft Starbucks

ภาพ: Starbucks

 

คำถามที่ตามมาคือ คุณสมบัติอะไรที่ทำให้คนอินเดียถูกยกเป็นผู้นำบริษัทระดับโลกได้มากกว่าคนชาติอื่น ปรากฏการณ์นี้มาจากสิ่งพื้นฐานอย่างทักษะด้านการศึกษา-ด้านการจัดการ? หรือว่ามีปัจจัยอื่นที่เป็นนามธรรมมากกว่า? เช่น ระบบการศึกษา ค่านิยม การปรับตัวรับสิ่งใหม่ วัฒนธรรมการใช้ชีวิต รวมถึงข้อได้เปรียบเรื่องความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับรัฐบาลอินเดียเพื่อเข้าสู่ดินแดนโรตี ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญมากของโลก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


วันนี้จำนวนคนพลัดถิ่นสัญชาติอินเดียทั่วโลกมีมากกว่า 32 ล้านคน หลายคนแทรกตัวในวงการแพทย์ พยาบาล เทคโนโลยี การศึกษา ภาคบริการ และอีกมากมาย 

 

ยังมีผู้นำทางการเมืองกว่า 200 คนซึ่งมีเชื้อสายอินเดียที่ได้รับการยกย่องในประเทศต่างๆ ทั้งหมดนี้ตอกย้ำว่าคนอินเดีย ‘มีของ’ ที่ทำให้ได้รับการยอมรับในระดับโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้

 

มีดีหรือการเมือง?

Piyush Gupta ซีอีโอของ DBS Group ผู้มีเชื้อสายอินเดียที่กลายเป็นนายแบงก์ใหญ่ที่สิงคโปร์ ให้ความเห็นในรายการ Global Dialogues ของ Shereen Bhan ทางสถานี CNBC-TV18 ว่าปัจจัยที่ทำให้ผู้บริหารสัญชาติอินเดียเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำบริษัทมี 3 ส่วนหลัก โดยทุกส่วนเกี่ยวข้องกับตัวตนล้วนๆ ขณะที่ส่วนรองนั้นโยงได้กับการเติบโตและความสำคัญของประเทศอินเดียในเวทีโลก

 

ปัจจัยหลักแรกคือเรื่อง ‘ประชากรศาสตร์’ สถิติระบุว่า 1 ใน 5 ของประชากรโลกเป็นชาวอินเดีย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าสงสัยที่จะมีชาวอินเดียแฝงตัวในภูมิประเทศทั่วโลกจำนวนมาก 

 

ประเด็นนี้แม้จะมีคำโต้แย้งว่าประชากรจีนแผ่นดินใหญ่นั้นก็มีจำนวนมากขึ้นเช่นกัน แต่ความต่างคือเรื่องภาษา เนื่องจากชาวอินเดียเติบโตขึ้นมาโดยพูดภาษาอังกฤษ ดังนั้นในโลกที่ทั้งธุรกิจและการเมืองต่างใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ชาวอินเดียจึงได้เปรียบมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

 

Gupta ยังเล่าประสบการณ์ว่าชาวอินเดียพลัดถิ่นมักมีความรู้สึก ‘หิวโหย’ ในการสร้างคุณค่าให้ตัวเอง โดยที่ผ่านมาชาวอินเดียที่ประสบความสำเร็จมักมาจากพื้นเพชนชั้นกลาง และหากพิจารณาซีอีโอ 60 คนนี้ ก็จะพบว่ามีหลายคนที่มาจากครอบครัวครูอาจารย์และข้าราชการ 

 

ขณะเดียวกัน เยาวชนที่เติบโตขึ้นมาในอินเดียช่วงยุค 60, 70 และ 80 หลายคนรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตเพื่อให้ประสบความสำเร็จ กลายเป็นความรู้สึกว่าไม่มีทางเลือก และต้องทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อแสวงหาที่ยืน

 

ปัจจัยหลักข้อ 2 เชื่อมโยงกับข้อแรก เพราะ Gupta มองว่าความรู้สึกนี้นำไปสู่ความสามารถใน ‘การปรับตัว’ ความน่าสนใจคือแม้คนประเทศอื่นจะคิดว่าชาวอินเดียทุกคนมีความคล้ายคลึงกัน เป็นคนผิวสีเดียวกัน และมาจากเอเชียใต้เหมือนกัน แต่ความจริงแล้วคนอินเดียมองคนอินเดียด้วยกันว่ามีหลากหลายประเภท หลายภาษา มีภูมิลำเนาในหลายภูมิภาค และหลายเชื้อชาติ 

 

Microsoft Starbucks

 

ตัว Gupta เองนั้นเติบโตมากับการเล่นฟุตบอลในทีมที่มีผู้คนจากภูมิหลังทางเศรษฐกิจสังคมทุกประเภท ตั้งแต่คนขับรถ เด็ก ไปจนถึงคนร่ำรวย ทั้งที่เป็นคนหนุ่มสาวไปจนถึงคนชรา เหล่านี้สร้างความรู้สึกของการปรับตัว ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสะสมความสามารถให้คนอินเดียรับได้ในทุกสถานการณ์ รวมถึงผู้คนทุกเชื้อชาติไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ หรือเอเชียอย่างประเทศจีน 

 

ดังนั้นการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วจึงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการขึ้นเป็นผู้บริหารของบริษัทใหญ่

 

ปัจจัยหลักข้อ 3 คือแนวคิดเรื่อง ‘ความทรหดอดทน’ Gupta อธิบายว่าการมาจากระบบที่โครงสร้างพื้นฐานไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้คนอินเดียรู้ว่ามีทางเดียวเท่านั้นในการสร้างความสำเร็จให้ชีวิต นั่นคือจะต้องมีความอดทนเป็นพิเศษ เพื่อที่จะมองเห็นโอกาสและทำให้สำเร็จ

 

ในมุมปัจจัยแวดล้อม Gupta ยอมรับว่าการขึ้นเป็นผู้นำบริษัทระดับโลกของคนอินเดีย มีความเกี่ยวข้องกับการเติบโตของประเทศอินเดียในเวทีโลก เนื่องจากเวลานี้คือศตวรรษทองของเอเชีย เห็นได้จากความมั่งคั่งที่กำลังก่อตัวขึ้นในเอเชีย ซึ่งเป็นดินแดนที่มีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศไทย ไม่ใช่แค่อินเดียเท่านั้น 

 

ส่วนนี้ Gupta มองว่าประเด็น ‘ภูมิศาสตร์การเมือง’ และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ดุเดือดที่สุดในรอบ 30 ปีนั้น สร้างความไม่ต่อเนื่องเรื่องการลงทุนด้านสายการประกอบและการผลิต ส่วนตัว Gupta เชื่อว่าการลงทุนสายการผลิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลายบริษัทกำลังมองหาฐานการผลิตนอกประเทศจีนเพื่อกระจายความเสี่ยง ซึ่งพื้นที่ลักษณะนี้มีเพียง 2 หรือ 3 ประเทศเท่านั้นที่ดึงดูดความสนใจนักลงทุน เช่น เวียดนาม หรือมาเลเซีย รวมถึงอินเดียที่มีความโดดเด่นมาก เพราะเป็นประเทศที่ประชากรมีทักษะด้านวิศวกรรมมากกว่า 2 ล้านคน 

 

ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของซีอีโอชาวอินเดีย เพราะในเวลาเดียวกัน ความเป็นชาตินิยมก็มีความเข้มข้นขึ้น เห็นได้จากท่าทีของรัฐบาลและนโยบายที่หลายประเทศประกาศออกมา จึงถือว่าเป็นเรื่องยากที่ซีอีโอจะนำพาบริษัทไปท่ามกลางโลกที่มีทั้งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของลัทธิชาตินิยมไปพร้อมๆ กัน

 

Gupta ยอมรับว่าตัวเขาที่เป็นซีอีโอเชื้อชาติอินเดีย มีส่วนทำให้บริษัทได้อยู่ในพื้นที่ที่อาจร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อปฏิบัติการในด้านต่างๆ ก็จริง อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์หลักในการทำงานของซีอีโอนั้นคือการตอบโจทย์ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะนำไปสู่บทบาทของความร่วมมือที่แท้จริง 

 

ขณะเดียวกัน ซีอีโอจะต้องให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม ภาคประชาคมโดยรวม และผู้คน จุดนี้หากมองในระยะยาวเกิน 10 ปี จะพบว่าผลดีต่อธุรกิจในระยะยาวมักไม่เกิดขึ้นเมื่อมีการมอบบริการที่โดดเด่นให้กับลูกค้าจนทำกำไรได้เท่านั้น แต่จะต้องควบคู่ไปกับการบริจาคกำไรนั้นให้กับชุมชนที่ทำธุรกิจอยู่ด้วย ซึ่งจะทำให้ซีอีโอตอบคำถามได้ว่า จะสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นในช่วง 20, 30 หรือ 40 ปีข้างหน้าได้อย่างไร

 

ไม่เปิดบริษัทเอง

แม้จะมีชาวอินเดียที่เลือกเป็นเจ้านายตัวเองด้วยการทำธุรกิจส่วนตัว แต่ Gupta มองว่าคนอินเดียในยุคของเขามีความสามารถในการรับความเสี่ยงที่จำกัด ดังนั้นชาวอินเดียส่วนใหญ่ในยุคนั้นจึงเลือกที่จะเข้าสู่บริษัทมืออาชีพ และไม่เข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการเอง ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่มี ‘ซีอีโอมืออาชีพ’ ซึ่งสร้างชื่อเสียงระดับโลกด้วยการเข้าร่วมกับบริษัทข้ามชาติและเติบโตในพื้นที่โปรเฟสชันแนลแทน

 

คุณสมบัติที่มือโปรด้านซีอีโอต้องมีคือการตัดสินใจที่ถูกต้อง ประเด็นนี้ Prem Watsa ผู้ก่อตั้ง ประธาน และซีอีโอของ Fairfax Financial Holdings ซึ่งย้ายถิ่นจากอินเดียไปเป็นมหาเศรษฐีที่แคนาดาด้วยเงินติดกระเป๋าไม่กี่ดอลลาร์ กล่าวในรายการเดียวกันว่า ชาวอินเดียมีความได้เปรียบอย่างมากเรื่องการมาจากระบอบประชาธิปไตยที่มีค่านิยมที่ดี ทั้งค่านิยมเชิงประชาธิปไตย ค่านิยมครอบครัวอบอุ่น และความสามารถในการดูแลใส่ใจผู้คน ทุกสิ่งถือเป็นหัวใจของการตัดสินใจที่ดี ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบสูงสำหรับคนอินเดียที่หาโอกาสในชีวิตด้วยการย้ายประเทศ เพื่อจะได้พัฒนาคุณสมบัติที่ไม่เคยคิดว่าจะมี หรือไม่เคยมีอยู่เลย

 

Watsa ชี้ว่าคนอินเดียยังมีวัฒนธรรมเรื่องการปฏิบัติต่อเพื่อนบ้านให้เหมือนกับท่าทีที่ต้องการได้รับจากผู้อื่น หลักคิดนี้ทำให้คนอินเดียปฏิบัติเชิงบวกต่อลูกค้า ชุมชน พนักงาน รวมถึงความร่วมมือกับภาครัฐ ซึ่งตัวอย่างของซีอีโอเชื้อชาติอินเดียที่มีครบทั้งวัฒนธรรมแห่งความร่วมมือ วัฒนธรรมแห่งการค้นคิดนวัตกรรม และวัฒนธรรมแห่งความเป็นเลิศในความคิดของ Watsa คือซีอีโอของ Microsoft อย่าง Satya Nadella รวมถึงแม่ทัพใหญ่ Mastercard อย่าง Ajay Banga และ Shantanu Narayen แห่งบริษัท Adobe รวมถึงตัวเขาเองที่มีความเหมือนกันอยู่ 1 เรื่อง คือซีอีโอกลุ่มนี้ได้เข้าศึกษาโรงเรียนเดียวกัน นั่นคือ The Hyderabad Public School ซึ่งคุณพ่อของ Watsa ที่เสียชีวิตไปนานแล้วก็เคยเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนนี้ด้วย

 

Microsoft Starbucks

Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft (ภาพ: Drew Angerer / Getty Images)

 

หลังโควิด เวิร์กฟรอมอินเดีย?

Shobana Kamineni รองประธานองค์กรด้านสาธารณสุข Apollo Hospitals ซึ่งเป็นสมาชิกของครอบครัวผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลและบริษัทยารายใหญ่ของอินเดีย กล่าวถึงโลกยุคใหม่ที่รูปแบบการย้ายถิ่นฐานของคนอินเดียอาจเปลี่ยนไป จนมีโอกาสเกิดการผกผันในวงการซีอีโออินเดีย ทั้งเรื่องโลกาภิวัตน์ และกระแสการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลขององค์กรโลกที่ข้อมูลจะไหลไปทั่ว โดยมองว่าการปฏิวัติครั้งต่อไปที่มาจากอินเดียจะไม่ใช่การส่งออกบริการ แต่จะเป็นการขับเคลื่อนอย่างหมดจดในด้านการดูแลสุขภาพ ข้อมูล และ IoT

 

Kamineni เชื่อว่า หลังโควิดเป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสยิ่งใหญ่ที่แพทย์อินเดียจะให้บริการจากอินเดีย เพราะเวลานี้อินเดียต้องการบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก แต่ประเทศที่ขาดแคลนก็ยินดีจ่ายเพิ่มให้กับคุณหมออินเดียที่พูดภาษาอังกฤษ นำไปสู่โอกาสที่ชาวอินเดียจะเติมเต็มงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ทั่วโลกได้เช่นกัน

 

ไม่แน่เรื่องราวเส้นทางของผู้บริหารชาวอินเดียอาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยมีการศึกษาไว้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยสถิติปัจจุบันพบว่า เกินครึ่ง (59%) ของกลุ่มซีอีโอเชื้อชาติอินเดียในบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 นั้นเดินทางมาสหรัฐฯ ด้วยการขอวีซ่าทำงานแบบมืออาชีพ 

 

ประเด็นนี้อาจมาจากสังคมโดยรวมซึ่งมีการมองว่าไม่มีประเทศอื่นใดในโลกที่ ‘ฝึกฝน’ พลเมืองจำนวนมากในแบบนักสู้เหมือนที่อินเดียทำ เห็นได้จากรถโดยสารสาธารณะในอินเดียที่ไม่เคยหยุดที่ป้ายรถเมล์ รถจะเต็มเสมอ 

 

ดังนั้นคนขับจึงต้องหยุดก่อนหรือหลังจุดจอดหลายหลา เพื่อขับไล่ผู้โดยสารที่ล้นอยู่แล้ว ดังนั้นในการขึ้นรถบัส คนอินเดียจะต้องรีบวิ่งไม่ต่ำกว่า 50 เมตรจากด้านใดด้านหนึ่ง ผิดกับที่สหรัฐฯ ซึ่งรถบัสมาตรงเวลา รถว่างกว่า และอีกหลายสิ่งที่ดีงามกว่า

 

นอกจากการขอวีซ่า การสำรวจพบว่า 20% ในกลุ่มซีอีโอเชื้อชาติอินเดียของบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 เท่านั้นที่เดินทางมาสหรัฐฯ ในฐานะนักเรียน ส่วนนี้น่าสนใจเมื่อเทียบกับสถิติที่ชี้ว่า หากไม่นับจีนแล้ว อินเดียถือเป็นประเทศที่ส่งนักเรียนจำนวนมากที่สุดไปศึกษาที่ประเทศซีกโลกตะวันตก (โดยเฉพาะสหรัฐฯ รองลงมาคือแคนาดา) 

 

แปลว่าซีอีโอหัวกะทิส่วนใหญ่ผ่านระบบการศึกษาอินเดียที่มีการแข่งขันสูงที่สุดติดอันดับโลก เช่น สถาบัน Indian Institute of Technology หรือ IIT ซึ่งมีอัตราการรับนักศึกษาน้อยกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่ซีอีโอหลายคน ทั้ง Sundar Pichai ของ Google, Arvind Krishna ของ IBM, Raj Subramaniam ของ FedEx และ Vivek Sankaran ของ Albertsons ต่างก็เป็นศิษย์เก่า IIT

 

นอกจากความรู้ภาษาอังกฤษที่โดดเด่น และภาวะที่ต้องทำให้ตัวเองผ่านฉลุยในกระบวนการสรรหาสุดโหด คนอินเดียยังมีค่านิยมโดดเด่นเรื่องการเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ หนังสือหลายเล่มชี้ว่าคนอินเดียส่วนใหญ่ไม่ใช้ชีวิตเกินรายได้ จบหลักสูตรอย่างรวดเร็ว ใช้เงินให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และพร้อมที่จะกระโจนเข้าสู่การทำงาน 

 

Microsoft Starbucks

 

ขณะเดียวกัน คนอินเดียยังขึ้นชื่อเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตน ความจงรักภักดี และการสร้างฉันทามติ เนื่องจากชีวิตส่วนใหญ่เต็มไปด้วยสถานการณ์ขัดแย้งและความยากลำบาก ผู้บริหารชาวอินเดียจึงมักจะแสดงความยินยอม ใจดี และไม่ค่อยเผชิญหน้า ตัวอย่างที่ได้รับการยอมรับที่สุดคือ Satya Nadella ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เปลี่ยนวัฒนธรรม Hard-Charging Culture สุดรุนแรงของ Microsoft ไปอย่างสิ้นเชิง

 

จาก Microsoft ถึง Starbucks

เมื่อได้รับตำแหน่งจาก Bill Gates และ Steve Ballmer อีเมลฉบับแรกของ Satya Nadella ในฐานะซีอีโอที่ส่งให้พนักงานของ Microsoft นั้นขึ้นต้นว่า “วันนี้เป็นวันแห่งการถ่อมตัวสุดๆ ของผม” (Today is a very humbling day for me.) 

 

มีการรายงานว่า Nadella นำความสงบแบบเซนมาให้ห้องประชุมโดยไม่มีการขึ้นเสียง ไม่ทุบโต๊ะ ผลลัพธ์ของความเป็นผู้นำของ Nadella คือการพา Microsoft เติบโตจากบริษัทที่มีมูลค่า 4 แสนล้านดอลลาร์เมื่อเข้ารับตำแหน่งในปี 2014 มาเป็นมูลค่ามากกว่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน

 

มีการมองด้วยว่าชาวอินเดียจงรักภักดีต่องานที่ทำอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น Arvind Krishna ที่ร่วมงานกับ IBM ตั้งแต่ปี 1990 และ Satya Nadella ที่เข้าร่วม Microsoft ตั้งแต่ปี 1992 ทั้งคู่เป็นพนักงานแบบยิงยาวสามทศวรรษในบริษัทเดียว เช่นเดียวกับ Raj Subramaniam ซึ่งไม่เคยทำงานที่อื่นเลยหลังจากที่เข้าร่วมกับ FedEx ในปี 1992 ในช่วงเพิ่งออกจากมหาวิทยาลัย

 

Nadella ยังเป็นซีอีโอตัวอย่างที่มีครอบครัวเข้มแข็ง พ่อของ Nadella เป็นเจ้าหน้าที่ Indian Administrative Service: IAS ขณะที่แม่เป็นแม่บ้านที่มีเวลาดูแล ปลูกฝังค่านิยมและวินัยให้ลูกชาย ขณะที่พ่อของ Arvind Krishna เกษียณอายุในฐานะพลตรี ยังมีพ่อของ Sundar Pichai ที่เป็นวิศวกรของบริษัท GEC ในเครืออังกฤษ ทุกคนไม่ได้ยากจนหรือไม่ได้ร่ำรวยและมีสิทธิพิเศษ เพียงแต่มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นสูงในสังคมอินเดียที่รู้เส้นทางแห่งความสำเร็จแล้วเดินทางไปสู่ฝัน

 

สำหรับกรณีของ Starbucks การแจ้งอย่างเป็นทางการว่าบริษัทได้แต่งตั้ง Laxman Narasimhan เข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ เพื่อเริ่มเข้ามาศึกษางานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2022 และทำงานจริงในเดือนเมษายน 2023 ต่อจาก Howard Schultz ที่เป็นรักษาการอยู่นั้น ถือเป็นการตอกย้ำอีกครั้งถึงการเปิดกว้าง และมุมมองต่อโลกอย่างยอมรับความจริงขององค์กรสัญชาติอเมริกัน 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงเรื่องธุรกิจ เพราะองค์กรสหรัฐฯ นั้นไม่เพียงแต่อนุญาตให้การแต่งตั้งเกิดขึ้น แต่ยังช่วยให้คนที่มีความสามารถดี สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ สัญชาติ หรือสำเนียงที่ไม่คุ้นเคย

 

เคสของ Starbucks และ Laxman Narasimhan จึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีถึงโอกาสที่สหรัฐฯ มอบให้กับผู้อพยพย้ายถิ่น และความจริงที่ว่ามีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ชาวอินเดียจะมีเวทีแสดงความเก่งได้มากเท่ากับในสหรัฐฯ แปลว่าไม่เพียงการศึกษา ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความอุตสาหะ รวมถึงสิ่งที่ดีงามทั้งหมด แต่ยังต้องมีระบบองค์กรที่เปิดกว้างมากสุดๆ ด้วย

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X