การประกาศเปลี่ยนชื่อและทิศทางธุรกิจจาก Facebook เป็น Meta ของมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ส่งผลให้คำว่า Metaverse กลายเป็นคำที่ถูกค้นหาสูงสุดควบคู่ไปกับ Roblox, Cryptocurrency และ Non-Fungible Token หลังจากได้ยินข่าว เชื่อว่าหลายคนจินตนาการไปถึงอวตารของตัวเอง เงินสกุลดิจิทัลที่จะต้องใช้ ความสวยงามของออฟฟิศเสมือนจริง ของสะสมดิจิทัล รูปแบบใหม่ของคอนเสิร์ต รวมไปถึงเสื้อผ้าแบรนด์เนมที่จะได้ช้อปในโลกเสมือนจริง
ภาพจาก Facebook
ในทางการแพทย์นั้น คอนเซปต์โลกเสมือนจริงไม่ใช่เรื่องใหม่ Digital Twin หรือตัวตนแฝดของคนไข้ในโลกดิจิทัล เป็นแนวคิดที่ถูกพูดถึงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว
ลองจินตนาการตัวคุณในโลกดิจิทัลที่เกิดขึ้นมาจาก ข้อมูลรหัสพันธุกรรมของคุณแบบ Whole Genome Sequencing ชุดข้อมูลทางชีวภาพจากผลตรวจเลือด ข้อมูลสัญญาณชีพและไลฟ์สไตล์แบบเรียลไทม์จาก IoT ตั้งแต่ Smart Watch และ Smart Clothing ที่คุณใส่ ไปจนถึง Smart Home ที่คุณอยู่ เมื่อผนวกเข้ากับอัลกอริทึมปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการตรวจพบและทำนาย จะส่งผลให้แพทย์สามารถคาดการณ์ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ของคุณได้อย่างแม่นยำ มีสัญญาณเตือนเหตุร้าย เช่น หัวใจวายเฉียบพลัน ก่อนที่จะเกิดขึ้นจริง รวมไปถึงสามารถทดลองการรักษาคุณในโลกดิจิทัลเพื่อดูการตอบสนอง ประเมินประสิทธิภาพและผลข้างเคียง ก่อนที่จะนำไปรักษากับตัวคุณเองในโลกแห่งความจริง – โลกใบนั้นจะดีเพียงใด?
แม้ในปัจจุบันคนไข้ในโลกดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบอย่างที่หมอเล่าจะยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่โมเดลจำลองเฉพาะบางส่วนเพื่อดูการตอบสนองต่อการรักษาได้มีการนำมาใช้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น การรักษาข้ออักเสบ โดยใช้โมเดลจำลองที่คำนวณตัวแปรจากคนไข้ เช่น พันธุกรรม ประเภทเซลล์ มาทดสอบกับยาสูตรต่างๆ เพื่อหายาที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้แต่ละคนซึ่งมีความแตกต่างกันไป หรือหัวใจดิจิทัลที่สร้างขึ้นมาจากอัลตราซาวด์ เพื่อประเมินความสามารถในการปั๊มเลือดของหัวใจและความเสี่ยงต่อหัวใจวาย
ภาพจาก Facebook
นอกจากคนไข้แฝดในโลกดิจิทัลแล้ว Digital Twin ยังถูกนำมาใช้จำลองระบบปฏิบัติการต่างๆ ในโรงพยาบาล เพื่อทดลองหาโมเดลที่จะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากร การบริหารจัดการเตียง รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจาก Digital Twin แล้ว เทคโนโลยีเสมือนจริงยังถูกนำมาใช้ทางการแพทย์หลากหลาย เช่น การใช้ Augmented Reality มาช่วยในการผ่าตัดกระดูกสันหลังเพื่อให้แพทย์ผ่าตัดได้แม่นยำขึ้น หรือการซ้อมผ่าตัดเสมือนจริง (Surgery Simulation) ในการผ่าตัดที่ซับซ้อน ยาก และมีความเสี่ยงสูง เช่น การผ่าตัดเส้นเลือดแดงโป่งพองในสมอง เพื่อให้ศัลยแพทย์ได้ซ้อมและประเมินความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ก่อนผ่าตัดจริง
ในทางการเรียนการสอน เทคโนโลยีเสมือนจริงถูกนำมาใช้ทั้งในการเรียนกายวิภาค สรีรวิทยา รวมถึงฝึกการทำหัตถการต่างๆ จากในอดีตที่นักศึกษาแพทย์ต้องเรียนกับร่างของอาจารย์ใหญ่ หรือฝึกทำคลอดกับหญิงตั้งครรภ์จริง ในอนาคตอันใกล้นักศึกษาแพทย์จะสามารถเข้าใจกายวิภาคหรือฝึกทำคลอดใน Metaverse ได้โดยไม่ต้องก้าวเท้าออกจากบ้าน
จากข้อมูลในปี ค.ศ. 2013 ขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา 38-75% ของยาที่ถูกสั่งจ่ายให้กับคนไข้นั้นไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา เพราะการแพทย์ในแบบเดิมยังคงอาศัยความรู้จากในตำราที่มาจากข้อมูลในงานวิจัยจากกลุ่มตัวอย่าง ในขณะที่ความเป็นจริงนอกตำรานั้น คนไข้แต่ละคนมีความเฉพาะเจาะจงที่แตกต่างกันออกไป แต่ด้วยเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลที่ก้าวหน้าขึ้น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีเสมือนจริง รวมไปถึง Digital Twin หมอเชื่อว่าการแพทย์ใน Metaverse จะเป็นโลกแห่งการแพทย์ที่แม่นยำ เฉพาะเจาะจง มุ่งเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา และฉีกตำราแพทย์ที่เคยเรียนกันมาเกินกว่าจะจินตนาการ
แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม
- Kamel Boulos MN, Zhang P. Digital Twins: From Personalised Medicine to Precision Public Health. J Pers Med. 2021;11(8):745. Published 2021 Jul 29. doi:10.3390/jpm11080745
- Björnsson, B., Borrebaeck, C., Elander, N. et al. Digital twins to personalize medicine. Genome Med 12, 4 (2020). https://doi.org/10.1186/s13073-019-0701-3