Meta บริษัทแม่ของ Facebook ประกาศใช้ AI ที่เข้าใจภาษาไทย และทีมงานดักจับบัญชีปลอม ข่าวปลอม และเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังแบบเรียลไทม์ หวังป้องกันการแทรกแซงการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พร้อมเดินหน้ามุ่งเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างโปร่งใส
แคลร์ อมาดอร์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ กล่าวว่า Meta เตรียมใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่เข้าใจภาษาไทย และทีมงาน เข้าช่วยตรวจจับบัญชีปลอม ตามด้วยข่าวปลอม และข้อความที่สร้างความเกลียดชัง ที่อาจเข้าข่ายละเมิดมาตรฐานชุมชนผู้ใช้งาน
โดยข้อความที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงจะถูกลบออกจากแพลตฟอร์มของ Meta ที่พิจารณาจากทีมตรวจสอบเนื้อหาและความปลอดภัยไซเบอร์ที่ Meta มีอยู่กว่า 40,000 คน หลังจากปี 2564 บริษัทลงทุนด้วยงบประมาณราว 5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแทรกแซงจากต่างชาติ และขบวนการสร้างอิทธิพลภายในประเทศ โดยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 มีบัญชีปลอมจำนวนกว่า 1.3 พันล้านบัญชีที่ถูกลบออกไปจากแพลตฟอร์ม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ปรับกลยุทธ์ใหม่! ‘Meta’ ประกาศหยุดให้บริการเกี่ยวกับ ‘NFT’ ใน ‘Instagram’ และ ‘Facebook’ กลับมาเน้นที่ ‘Reels’ มากขึ้น
- ‘Meta’ เตรียมคิดค่าบริการ 450 บาทต่อเดือนสำหรับบัญชี ‘Meta Verified’ (เครื่องหมายถูกสีฟ้า)
- หุ้น Snap และ Meta พุ่งขึ้นเกือบ 8% และ 3% ขานรับข่าวสหรัฐฯ เตรียมสั่งแบน TikTok จากข้อกังวลด้านความมั่นคง
สำหรับนโยบายของการโฆษณาทางการเมือง ได้เปิดกว้างให้นักการเมืองสามารถเข้ามาใช้งานได้ โดยจะมีการตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้งาน ที่สำคัญผู้ที่จะลงโฆษณาทางการเมืองจะต้องผ่านมาตรการยืนยันตัวตน พร้อมด้วยสัญลักษณ์ที่ระบุว่าได้รับสปอนเซอร์จากใคร เพื่อให้คนในประเทศรับรู้ว่าใครเป็นผู้สนับสนุนโฆษณาดังกล่าว
ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาอนุมัติ 3 วัน โดยจะใช้ระบบ Automated System เข้ามามอนิเตอร์โฆษณาทางการเมือง รวมถึงส่วนของผู้ใช้งานทั่วไปก็ต้องยืนยันตัวตนก่อนซื้อโฆษณาคอนเทนต์เกี่ยวกับการเมืองจึงจะใช้งานได้ และเนื้อหาที่โฆษณาเหล่านั้นจะไปอยู่บน Ad Library ที่ใครก็สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ โดย Meta จะเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้นานถึง 7 ปี
นอกจากนี้ Meta ยังไม่อนุญาตให้เผยแพร่เนื้อหาในเชิงสกัดกั้นการลงคะแนนเสียง เช่น การบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับวันที่ สถานที่ เวลา และวิธีการในการลงคะแนนเสียง หรือการลงทะเบียนเลือกตั้ง หรือข้อเสนอในการซื้อขายเสียงด้วยเงินสดหรือของกำนัลต่างๆ
อย่างไรก็ตาม คนไทยยังสามารถค้นหาโฆษณาที่ถูกดำเนินการอยู่บน Facebook ได้จากคลังโฆษณา (Ad Library) เพื่อตรวจสอบได้ว่าคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองใดบ้างที่จ่ายเงินซื้อโฆษณา และเพิ่มการมองเห็น ซึ่งจะทำให้เห็นว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจ่ายเงินเพื่อโฆษณาหาเสียงไปเท่าไร และใครเป็นคนสปอนเซอร์โฆษณานั้นๆ เพื่อช่วยให้ประเมินความน่าเชื่อถือของบัญชีผู้ใช้ได้ดีมากขึ้น