×

ทิศทางใหม่ แฟชั่นผู้ชาย และเด็ก Gen Z คุยกับ ป๊อบ กำพล บรรณาธิการบริหารคนล่าสุดของ GQ Thailand

12.03.2021
  • LOADING...
ทิศทางใหม่ แฟชั่นผู้ชาย และเด็ก Gen Z คุยกับ ป๊อบ กำพล บรรณาธิการบริหารคนล่าสุดของ GQ Thailand

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • “เราจะพูดถึงแฟชั่นที่เกี่ยวกับรสนิยมมากขึ้น คำว่ารสนิยมนี้สามารถตีความได้กว้างและน่าสนใจ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นเจ้าของรถราคาแพงที่สุดในโลก ไม่จำเป็นต้องมีนาฬิกาเรือนละ 3 ล้าน ไม่จำเป็นต้องมีบ้านราคา 100 ล้าน คุณอาจมีรถราคาล้านต้นๆ หรือราคาแค่ 4-5 แสน แต่ถ้าคุณมีรสนิยม คุณจะรู้ว่าของอะไรควรใช้ตอนไหน”  
  • “ผมไม่ต้องการให้นิตยสาร GQ เป็นไบเบิลที่ Copy & Paste ผู้ชาย GQ อีก 70 ล้านคนหรือทุกคนต้องเป็นแบบนี้ เพราะผมไม่เชื่อว่ามันจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องให้คนที่เป็น GQ 70 ล้านคน แต่ละคนมีความเป็นตัวของตัวเอง ด้วยไอเดียที่เราหยิบยื่นให้”

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงสื่อสิ่งพิมพ์ การยืนหยัดอยู่ในสมรภูมิรบที่ต้องแข่งกับสื่อดั้งเดิมและสื่อออนไลน์นับเป็นเรื่องท้าทายของคนทำงานสื่อในยุคปัจจุบัน ที่เราจะปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับพฤติกรรมการเสพสื่อของคนอ่าน โดยที่ยังคงรักษาตัวตนของแบรนด์ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น บวกกับความหลากหลายของแพลตฟอร์มในปัจจุบัน ที่มีทั้ง Facebook, Instagram, Podcast, TikTok และ YouTube รวมถึงแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่พร้อมจะถือกำเนิดขึ้นในช่วงข้ามคืน ดังเช่นปรากฏการณ์ Clubhouse การสื่อสารผ่านรูปแบบบทความหรือตัวอักษรเพียงลำพังอาจไม่เพียงพอสำหรับการเติบโตและอยู่รอดของสื่อสิ่งพิมพ์ในยุค 2021 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลในตำแหน่งหัวเรือใหญ่อย่างบรรณาธิการบริหาร ที่ต้องบริหารทั้งคอนเทนต์ ทีมงาน อาร์ตไดเรกชัน และภาพรวมทั้งหมดให้ไปในทิศทางเดียวกัน

 

ครั้งนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ป๊อบ-กำพล ลิขิตกาญจนกุล บรรณาธิการบริหารคนล่าสุดของ GQ Thailand นิตยสารหัวนอกสำหรับผู้ชายแถวหน้าในไทย ถึงความท้าทายครั้งสำคัญของเขาเมื่อก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งสำคัญ หลังเคยดำรงตำแหน่ง Fashion Editor ของ GQ Thailand มาตั้งแต่ยุคบุกเบิก วันนี้เมื่อเขาขึ้นมายืนในจุดที่สามารถกำหนดทิศทางใหม่ให้กับนิตยสาร มุมมองของเขาที่มีต่อวงการสื่อและนิตยสารเล่มนี้จะเป็นอย่างไร และอะไรคือสิ่งที่เราจะพบใน GQ Thailand นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป  

 

Q: หลังอยู่ในวงการนิตยสารมาร่วม 20 ปี ถ้าให้พูดถึงภาพรวมของสื่อนิตยสารในบ้านเราตอนนี้ คุณมองเห็นว่าอย่างไร

ป๊อบ กำพล: ถ้ามองในแง่ธุรกิจ ถามว่าแย่ลงไหม มันก็แย่ลง เพราะมีนิตยสารหลายเล่มที่ปิดตัวลง แต่มองในมุมกลับกัน นิตยสารที่ยังเหลืออยู่หรือสื่อที่ยังเหลืออยู่ก็กลายเป็นสื่อที่มีคุณภาพมากขึ้น วิกฤตบีบโอกาสให้คนที่ยังอยู่ เป็นคนที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดกับโลกดิจิทัลเช่นกัน ผมวัดจากตัวเอง ผมเป็นคนใช้โซเชียลมีเดียเยอะเหมือนกัน ยอมรับเลยว่าตัวเองเป็นคนติด Facebook พอประมาณ 

 

ผมมีเพื่อนใน Facebook เยอะมาก ซึ่งเพื่อนเราส่วนใหญ่ 90% เป็นคนที่ผมไม่รู้จัก ส่วนใหญ่เป็นเด็กเจเนอเรชันใหม่หมดเลย เป็นนักเรียนหรือนักศึกษา สาเหตุที่เรารู้สึกว่าเรามีเขาอยู่เป็นเพื่อนนั้นน่าสนใจ เพราะทำให้เราได้เห็นสิ่งที่เขาแชร์ พูดคุยเรื่องใหม่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เพื่อนจะไม่พูดเรื่องแบบนี้ ผมได้รู้ว่าเจเนอเรชันใหม่สนใจอะไรบ้าง เลยรู้ว่าในโลกดิจิทัลเองเป็นโลกที่ใครอยากทำอะไรก็ทำ มันมีสื่อมากขึ้น ข้อมูลข่าวสารเยอะมาก ล้นหลามจนเรารู้สึกว่าเราไม่อยากไปตามอ่านทุกที่ สุดท้ายมันก็มาถึงจุดที่ผมมองว่าดิจิทัลมาถึงจุดหนึ่งที่เหมือนนิตยสาร คนที่จะอยู่รอดได้ต้องเป็นคนที่น่าเชื่อถือมากเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าใครจะทำก็ทำ เพราะสุดท้ายผู้บริโภคก็จะเริ่มรู้สึกว่าฉันรับไม่ไหวแล้ว ฉันไม่รู้ว่าอันนี้จริงหรืออันนี้ปลอม เชื่อถือได้แค่ไหน

 

“มันก็มาถึงจุดที่ผมมองว่าดิจิทัลมาถึงจุดหนึ่งที่เหมือนนิตยสาร คนที่จะอยู่รอดได้ ต้องเป็นคนที่น่าเชื่อถือมากเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าใครจะทำก็ทำ เพราะสุดท้ายผู้บริโภคก็จะเริ่มรู้สึกว่าฉันรับไม่ไหวแล้ว ฉันไม่รู้ว่าอันนี้จริงหรืออันนี้ปลอม เชื่อถือได้แค่ไหน” 

 

Q: นิตยสารที่มีคุณภาพในความคิดของคุณควรเป็นอย่างไร

ป๊อบ กำพล: ในความคิดส่วนตัว ผมมองว่านิตยสารบางเล่มที่เป็นนิตยสารต่างประเทศที่ผมชอบ มักมีเรื่องราวอะไรบางอย่าง มีภาพบางรูปแบบที่เรารู้สึกว่ามันสร้างแรงบันดาลใจกับตัวเรา หรือเวลาเราอ่านปุ๊บ มันเหมือนพาเราไปอีกทีหนึ่ง ได้เห็นแง่มุมที่ทำให้เรารู้สึกว่า เออ มุมนี้น่าสนใจ อันนี้ก็น่าสนใจ แต่มันอาจไม่ต้องลงลึกไปจนถึงวิชาการก็ได้ เพียงแค่มันต้องจุดประกายอะไรบางอย่างให้เรา เหมือนเวลาเจอกระต่ายใน Alice in Wonderland ที่เราไปสืบต่อเองว่ามันหนีไปไหน แล้วเราก็วิ่งตามมันไป 

 

มันให้ความรู้สึกเหมือนตอนที่ผมย้อนกลับไปก่อนที่จะเข้ามาทำงานแฟชั่น ตัวตนของผมตั้งแต่เด็กๆ รู้แค่ว่าชอบงานศิลปะ ชอบการวาดรูป ในตอนที่เรียนจบระดับ ปวช. เป็นช่วงที่จะเรียนต่อ ปวส. หรือจะเข้ามหาวิทยาลัย ผมตัดสินใจจะเข้ามหาวิทยาลัย เพราะว่าอยากเป็นสถาปนิก อยากเรียนสถาปัตยกรรม ไม่เคยสนใจเรื่องแฟชั่นมาก่อน จนมาวันหนึ่งเดินเข้าร้านหนังสือชื่อโอเดียนสโตร์ ซึ่งอยู่ตรงโรงภาพยนตร์สกาลาสมัยก่อน ไปเจอนิตยสาร Vogue Paris หยิบขึ้นมาเปิดดูแล้วรู้สึกสวยจังเลย ในใจเราคิดว่า นี่แหละอาชีพที่ฉันอยากทำในฝัน ผมเลยรู้สึกว่าถ้าอยากจะทำนิตยสารแฟชั่นสักเล่มหนึ่ง ผมอยากให้นิตยสารเล่มนั้นสามารถจุดแรงบันดาลใจได้เหมือนที่เกิดขึ้นกับเราเมื่อ 25 ปีก่อน

 

 

Q: เมื่อก่อนทุกต้นเดือนจะมีคนไปรอที่แผงหนังสือเพื่อซื้อนิตยสารเล่มโปรดมาอ่านคอลัมน์ประจำ คุณมองว่าพฤติกรรมเหล่านั้นยังมีอยู่ไหม

ป๊อบ กำพล: ผมคิดว่ายังมีอยู่นะ ถ้ายังมีคนที่เขียนเรื่องแล้วก็จับใจเขาได้ รู้สึกว่าอยากอ่าน ผมว่าน่าจะยังมีอยู่ 

 

Q: มองว่าคนอ่านยังไม่หายไปไหน

ป๊อบ กำพล: ยังไม่หาย เพียงแต่ด้วยความที่เขามีตัวเลือกมากขึ้น จากที่เขาต้องรอวันที่ 1 มันอาจเป็นวันที่ 10 ก็ได้ อาจช้าลง เพราะข่าวสารโจมตีมากมาย 

 

Q: เหมือนคนอ่านไม่รีบเสพสื่อเหมือนสมัยก่อน  

ป๊อบ กำพล: ใช่ วิธีการทำนิตยสารของผมก็เปลี่ยน ผมมองว่าสื่อสิ่งพิมพ์กับนิตยสารที่เป็นดิจิทัลมีฟังก์ชันที่ต่างกัน สิ่งที่อยู่ในพรินต์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอัปเดต เพราะนิตยสาร GQ Thailand มีสองทางคือ ฝั่งที่เป็นพรินต์และดิจิทัล ดังนั้นหัวใจหลักของดิจิทัลคืออะไรก็ตามที่ต้องอัปเดต ต้องเร็ว ไม่จำเป็นต้องลงลึก สามารถที่จะอยู่ในดิจิทัลได้เลย ผมจะเก็บตัวที่เป็นพรินต์และบอกทุกคนว่า เวลาเราทำงาน ให้คิดว่าเราเป็นคนสร้างเทรนด์ขึ้นมาใหม่ เป็นคนพูดถึงไอเดียอะไรใหม่สักอย่าง แล้วทำหน้าที่เป็นเหมือนดีไซเนอร์ออกแบบเสื้อผ้า ซึ่งเรามีหน้าที่สร้างเสื้อผ้าอะไรบางอย่าง ที่คนทั่วไปยังไม่รู้เลยว่าเขาอยากใส่เสื้อตัวนี้หรือเปล่า เหมือนคิดล่วงหน้าให้เขาว่า เดี๋ยวคุณต้องอยากใส่เสื้อตัวนี้ ซึ่งเป็นวิธีการทำงานของดีไซเนอร์หลายคนที่ประสบความสำเร็จ 

 

ผมเลยหยิบ Core Idea ที่เขาคิดมาทำนิตยสาร ซึ่งมันน่าสนใจว่าเราสร้างแนวคิดอะไรใหม่ๆ ถ้าวันหนึ่งมันจุดติด กลายเป็นว่าเราจะเป็นผู้นำ ซึ่งไอเดียที่อยู่ในนิตยสารนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในปัจจุบัน ณ เวลานั้น ไม่จำเป็นต้องไปอัปเดต เราทำนายล่วงหน้า หรือเราคิดว่าสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นในวันนี้จะนำพาไปสู่จุดไหน

 

Q: ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสื่อและพฤติกรรมคนอ่าน ในฐานะคนทำสื่อสิ่งพิมพ์ คุณคิดว่าโจทย์ยากของการทำนิตยสารยุคนี้คืออะไร

ป๊อบ กำพล: ยากในฐานะคนทำงานที่เราต้องบาลานซ์ตัวเองมากกว่า ผมเป็นคนที่ตอนขึ้นมาเป็นบรรณาธิการบริหาร ผมอยากให้ทุกคนในทีมเป็นคนทำงานที่มีความสุข ทำงานแล้วต้องแฮปปี้กับงานที่ทำ ถ้าไม่มีความสุขกับงานที่ทำ งานที่เขาทำก็จะเป็นเหมือนเครื่องจักร แล้วมันก็จะไม่มีชีวิตชีวา ไม่มีคุณค่า

 

ผมบอกน้องๆ ทุกคนว่าเราจะทำงาน เราจะต้องหาวิธีบาลานซ์ให้ได้ เหมือนทุกวันนี้ข้อมูลข่าวสารเยอะมากจนเรารู้สึกว่าเราต้องแข่งขันกันในโลกโซเชียลมีเดีย ต้องโพสต์ตอน 5 ทุ่ม มีข่าวใหม่ใหม่มา ต้องทำงานตอนเที่ยงคืน จู่ๆ เกิดอะไรขึ้นตอนตี 5 หรือ 6 โมงเช้าก็ต้องรีบโพสต์ เราเลยต้องคุยกันว่า จะทำอย่างให้เราบาลานซ์ชีวิตได้ ผมอยากให้เขามีชีวิตส่วนตัว เพราะผมไม่อยากให้เขาทำงาน 24 ชั่วโมงเพื่อ GQ Thailand เพราะในระยะยาวมันไม่เวิร์ก แพสชันจะหายไป แล้วก็จะทำงานไม่ได้ ผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้น

 

Q: ในวันที่คุณนั่งตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร ต้องดูทั้งคอนเทนต์ ทีมงาน ลูกค้า และภาพลักษณ์โดยรวม คุณได้วางทิศทางใหม่ของ GQ Thailand ไว้อย่างไรบ้าง 

ป๊อบ กำพล: สิ่งที่น่าจะเห็นได้ชัดคือเราจะพูดถึงแฟชั่นที่เกี่ยวกับรสนิยมมากขึ้น เราจะโฟกัสที่รสนิยม ซึ่งคำว่ารสนิยมนี้สามารถตีความได้กว้างและน่าสนใจ มันไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นเจ้าของรถราคาแพงที่สุดในโลก ไม่จำเป็นต้องมีนาฬิกาเรือนละ 3 ล้าน ไม่จำเป็นต้องมีบ้านราคา 100 ล้าน คุณอาจมีรถราคาล้านต้นๆ ก็ได้ หรือราคาแค่ 4-5 แสนก็ได้ แต่ถ้าคุณมีรสนิยม คุณจะรู้ว่าของอะไรควรใช้ตอนไหน เราจะสอนมากขึ้นว่าเราควรใช้ชีวิตอย่างไรให้มีรสนิยมดี มีอะไรบ้างที่น่าสนใจที่เราสามารถแต่งได้ แต่ในขณะเดียวกันน้ำเสียงที่ใช้ เราไม่ได้บอกว่าคุณต้องทำแบบนี้นะ ถ้าคุณไม่ทำแบบนี้คือผิด เราจะเป็นแค่คนที่สอนคุณทั้งหมดว่ากฎเกณฑ์เป็นแบบนี้ สุดท้ายคุณไปตัดสินใจเอง 

 

“เราจะพูดถึงแฟชั่นที่เกี่ยวกับรสนิยมมากขึ้น คำว่ารสนิยมนี้สามารถตีความได้กว้างและน่าสนใจ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นเจ้าของรถราคาแพงที่สุดในโลก ไม่จำเป็นต้องมีนาฬิกาเรือนละ 3 ล้าน ไม่จำเป็นต้องมีบ้านราคา 100 ล้าน คุณอาจมีรถราคาล้านต้นๆ หรือราคาแค่ 4-5 แสน แต่ถ้าคุณมีรสนิยม คุณจะรู้ว่าของอะไรควรใช้ตอนไหน”  

 

นิตยสาร GQ THAILAND ฉบับ มีนาคม 2564 

 

Q: ใช้คำว่าไบเบิลสำหรับคนที่อยากมีเทสต์ที่ดีได้ไหม

ป๊อบ กำพล: เราไม่อยากใช้คำว่าไบเบิล เพราะมันเหมือนเป็นกฎอะไรบางอย่างซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ผมรู้สึกว่าเวลาเราพูดถึงคำว่าแฟชั่น มันคือสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ต้องเปลี่ยนทุก 6 เดือนด้วยซ้ำ ซึ่งในปัจจุบันนี้ที่แฟชั่นมีคอลเล็กชันเสื้อผ้ามากขึ้น บางทีเปลี่ยนทุกสองสัปดาห์ เราอยากนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้น คุณมีส่วนที่ต้องเลือกว่าอันไหนเหมาะกับคุณ เพราะสุดท้ายแล้วเรามีหน้าที่แค่ Provide รสนิยมให้คุณ บอกให้คุณรู้ว่าสไตล์นี้ดีที่สุด สุดท้ายแล้วผู้อ่านก็จะมีตัวเลือกมากขึ้น ทำให้ง่ายมากขึ้นในการเลือกที่จะเป็นตัวเอง ผมไม่ต้องการให้นิตยสาร GQ เป็นไบเบิลที่ Copy & Paste ผู้ชาย GQ อีก 70 ล้านคนหรือทุกคนต้องเป็นแบบนี้ เพราะผมไม่เชื่อว่ามันจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องให้คนที่เป็น GQ 70 ล้านคน แต่ละคนมีความเป็นตัวของตัวเอง ด้วยไอเดียที่เราหยิบยื่นให้ 

 

Q: ถ้าอย่างนั้นเทรนด์แฟชั่น คอลเล็กชันล่าสุด หรือลุคจากรันเวย์ยังคงมีให้เห็นใน GQ Thailand ไหม

ป๊อบ กำพล: ยังมีอยู่ เพราะยังเป็นประเด็นหลักของอุตสาหกรรมแฟชั่น มันคือการขายเสื้อผ้า การหยิบยืมไอเดีย พูดถึงไอเดียที่ทำให้เรารู้สึกว่าอยากเปลี่ยนลักษณะการแต่งตัวตามสภาพอากาศ เทศกาล หรือตามอารมณ์ของเรา เช่น วันนี้รู้สึกอยากเป็นคนดี อยากไปทำบุญที่วัด ก็ใส่เสื้อผ้าสีขาว หรือจะออกเดต อยากดูเป็นคนหวานก็ใส่เสื้อผ้าสีชมพู เสื้อผ้ามีส่วนสำคัญเหมือนกัน จริงๆ อุตสาหกรรมแฟชั่นก็พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ ทำให้เราอยากซื้อของใหม่ 

 

“ผมไม่ต้องการให้นิตยสาร GQ เป็นไบเบิลที่ Copy & Paste ผู้ชาย GQ อีก 70 ล้านคนหรือทุกคนต้องเป็นแบบนี้ เพราะผมไม่เชื่อว่ามันจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องให้คนที่เป็น GQ 70 ล้านคน แต่ละคนมีความเป็นตัวของตัวเอง ด้วยไอเดียที่เราหยิบยื่นให้” 

 

Q: ปัจจุบันกลุ่ม Gen Z เป็นตลาดใหญ่ในเมืองไทย อยากรู้ว่า GQ Thailand วางแผนรับมือกับลูกค้ากลุ่มนี้อย่างไรโดยที่ยังคง DNA ของแบรนด์อยู่

ป๊อบ กำพล: มันคือทิศทางใหม่ที่เราอยากสร้างรสนิยม ผมรู้สึกว่ากลุ่ม Gen Z ก็เหมือนเราตอนเด็กๆ ที่พอโตขึ้นเราอยากรู้ว่าสิ่งที่มีรสนิยมหรือสิ่งที่เก๋คืออะไร ข้อมูลที่หาได้ควรจะมาจากที่ไหน ก็เลยเป็นสิ่งหนึ่งที่อยากทำ เป็นไกด์สอนให้เขารู้ว่าจริงๆ แล้วเขาควรทำอย่างไร หากอยากดื่มไวน์ ต้องดื่มไวน์อย่างไร แต่วิธีการดื่มไวน์ที่ถูกต้องตามแบบแผนนี้ก็สามารถแหกกฎได้ แล้วกฎไหนที่เราสามารถแหกได้บ้าง สิ่งที่เราทำคือสิ่งที่เด็ก Gen ใหม่ควรจะรู้ เรามีหน้าที่ให้การเรียนรู้ ให้รู้ก่อนว่าคืออะไร เสร็จแล้วฉีกมัน แหกกฎมัน ทำให้มันน่าสนใจ แล้วเป็นตัวเรา 

 

Q: คุณอาศัยวิธีไหนในการหาข้อมูลของเด็กวัยนี้ 

ป๊อบ กำพล: จากเพื่อนที่อยู่ใน Facebook นี่แหละ เด็กหลายคนที่อยู่ใน Facebook บางทีจะพูดศัพท์ประหลาด ด้วยความที่ผมชอบเขียน เลยสร้าง Facebook ส่วนหนึ่งให้เขียนเกี่ยวกับแฟชั่น คนที่มาขอเป็นเพื่อนหรือมาฟอลโลว์ก็จะเป็นพวกเด็กนักเรียนแฟชั่นในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วไทย แล้วเด็กเหล่านี้ด้วยความที่เป็นเด็กก็จะแชร์เรื่องราวที่สนใจ หรือมีวิธี มีน้ำเสียงที่เขาชอบ มันเลยกลายเป็นว่าเปิด Facebook ขึ้นมาก็จะเจอเรื่องแปลกๆ เขาคุยเรื่องนี้กันอยู่หรือนี่ คืออะไร เหมือนเป็นเบาะแสให้เรา แล้วเราก็ไปสืบค้นต่อ อ๋อ…เขาคุยเรื่องนี้กันอยู่ เด็กๆ มันฟังเพลงที่คนนี้ร้องเพลงอยู่ ทุกเช้าจะเห็นเรื่องประหลาดๆ แบบนี้ เลยรู้สึกว่าเรายังตามทัน

 

Q: มีประเด็นไหนบ้างที่พวกเขาคุยกันแล้วเราสนใจ

ป๊อบ กำพล: อย่างแรกคือเด็กยุคนี้ฉลาดขึ้น เพราะหลายหัวข้อที่คุย ถึงแม้มันจะมีหัวข้อที่ดูเหมือนกันบันเทิง ไร้สาระ แต่เขาก็คุยเรื่องการเมือง คุยลงไปถึงหลักมนุษยธรรม กฎหมาย หรือประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่เด็กรุ่นใหม่สนใจอะไรแบบนี้ แม้บางเรื่องเป็นเรื่องผิด ก็จะมีบางคนมาดีเบต เอาข้อมูลมาหักล้างกัน เราอ่านแล้วรู้สึกเจ๋งดี อีกอย่างที่ชอบมาก เช่น เวลา BLACKPINK ปล่อยเพลงใหม่ เด็กกลุ่มนี้จะมีวิธี Parody หรือเอาไปทวิสต์เป็นอย่างอื่นให้มันน่าสนใจดี คนไทยดี ทำให้เราเรียนรู้อีกโลกหนึ่ง 

 

 

Q: ก่อนหน้านี้นิตยสารเป็นการสื่อสารทางเดียว นานๆ ทีจึงได้จดหมายหรือไปรษณีย์จากคนอ่าน แต่เมื่อเข้าสู่โลกออนไลน์ ฟีดแบ็กทุกอย่างแทบจะเรียลไทม์ คุณจะให้น้ำหนักอย่างไรกับฟีดแบ็กจากคนอ่านและสิ่งที่นำเสนอ 

ป๊อบ กำพล: ต้องถามตัวเองกับทีมก่อนว่าสิ่งที่เราเชื่อเป็นสิ่งที่ถูกต้องไหม เราคงรับฟังเสียงคนที่พูด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเปลี่ยนทุกอย่าง นอกจากคนที่คอมเมนต์ชี้ให้เห็นสิ่งที่เราผิดจริงๆ เราก็คงเอามาปรับตัว พูดง่ายๆ ก็คือเราไม่ใช่คนที่ไม่ฟังเสียงใครเลย เราฟังเสียงคนอื่นอยู่ แต่เราจะไม่เปลี่ยนตามเสียงของทุกคน เราจะเป็นตัวของตัวเองที่มีน้ำเสียงเป็นของเราเอง เพราะเราไม่สามารถทำให้คนทั้ง 70 ล้านคนในประเทศไทยรักเราได้ทุกคน เราต้องทำให้พวกเขารักในสิ่งที่เราเป็น 

 

Q: อะไรคือสิ่งที่ท้าทายที่สุดในการเข้ามารับตำแหน่งนี้ในช่วงที่นิตยสารโดนแทรกแซงด้วยสื่อออนไลน์ 

ป๊อบ กำพล: ความยากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เราจะทำอย่างไรให้คนอ่านเชื่อในตัวเรา ให้พวกเขาเข้ามาใน GQ Thailand แล้วสามารถหยุดได้โดยไม่จำเป็นต้องไปที่อื่นอีก เหมือนเรากินข้าวมื้อนี้แล้วเราได้ครบหมด เราไม่จำเป็นต้องกินที่นี่เสร็จแล้วเหาะไปกินที่อื่นต่อ 

 

Q: เมื่อก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งนี้ คุณมองว่าอะไรคือทักษะจำเป็นของ Editor in Chief 

ป๊อบ กำพล: อย่างแรกเลยคือความทันโลก ถ้าจะให้เครดิตก็ให้ในเรื่องแฟชั่นที่สอนให้ผมรู้ว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปตลอดเวลา เพราะแฟชั่นไม่เคยหยุดอยู่กับที่ ผมทำนายได้เลยว่าในอีก 1-2 ปีนี้จะเกิดอะไรขึ้น เหมือนเราเริ่มเรียนรู้ว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เหมือนสิ่งที่เกิดในแฟชั่นเราจะสามารถอ่านเกมได้ว่ามันคืออะไร และวิธีการคิดแบบนี้เราสามารถเอาไปใช้ได้กับทุกอย่าง แม้กระทั่งการเมืองหรือการใช้ชีวิตของคน 

 

Q: เหมือนคุณสามารถมองเห็นเทรนด์ได้เร็วกว่าคนอื่น แต่หากเป็นคนที่จะเข้ามาในทีม คุณคิดว่าทักษะไหนที่เขาควรมีติดตัวมาด้วย 

ป๊อบ กำพล: ก่อนที่จะมีทักษะ เขาต้องมีความรักก่อน ต้องมีแพสชัน ความรู้สึกว่าชอบที่จะทำงานสื่อ สามารถตามหาสิ่งที่ชอบได้เหมือนที่ผมชอบแฟชั่น ในทีมเราทุกคนทำงานร่วมกัน งานนิตยสารมันไม่ใช่งาน One Man Show ทุกตำแหน่ง ทุกคน สำคัญหมด แต่ละคนต้องมีความถนัดพิเศษในสิ่งที่ตนเองทำ แล้วเราทุกคนก็เอามาแชร์ร่วมกัน ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการบริหาร ผมเอาส่วนผสมทุกอย่างมารวมกัน เหมือนเราเป็นเชฟ เราเลือกพาสต้าที่ดีที่สุด เลือกชีสที่ดีที่สุด เอามาผสมกันในองค์ประกอบที่เหมาะสม เพื่อให้ได้อาหารที่ดีที่สุด 

 

 

Q: ถ้าให้เลือกพนักงานใหม่ ระหว่างคนที่เก่งกาจในเรื่องเดียวกับอีกคนที่ทำได้หลากหลาย แต่อาจไม่เก่งที่สุด คุณจะเลือกคนไหน

ป๊อบ กำพล: ต้องตัดสินว่าคนไหนมีแพสชันมากกว่ากัน สุดท้ายคนเรามันพัฒนาได้ สกิลเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ แต่ก่อนที่จะเรียนรู้สกิลเขาต้องมีแพสชันในการทำงานก่อน ถ้าเกิดคนนั้นเก่งมากแต่ไม่มีแพสชันในการทำงาน ต่อให้รับเข้ามาคิดว่าก็คงทำงานอย่างไม่มีความสุข ทำได้ไม่นาน ไม่มีความรู้สึกอยากเรียนรู้หรือพัฒนา แต่หากเป็นคนที่มีทักษะน้อยกว่าแต่ทำได้ทุกอย่าง ไม่เก่งเรื่องอะไรเลยแต่มีแพสชันมากกว่า ในอนาคตระยะยาวเขาน่าจะเรียนรู้ได้มากขึ้น และอาจเก่งกว่าคนที่เป็น Specialist ก็ได้ 

 

“ก่อนที่จะเรียนรู้สกิลเขาต้องมีแพสชันในการทำงานก่อน ถ้าเก่งมากแต่ไม่มีแพสชันในการทำงาน ต่อให้รับเข้ามาคิดว่าก็คงทำงานอย่างไม่มีความสุข ทำได้ไม่นาน ไม่มีความรู้สึกอยากเรียนรู้หรือพัฒนา แต่หากเป็นคนที่มีทักษะน้อยกว่าแต่ทำได้ทุกอย่าง ไม่เก่งเรื่องอะไรเลยแต่มีแพสชันมากกว่า ในระยะยาวเขาน่าจะเรียนรู้ได้มากขึ้น และอาจเก่งกว่าคนที่เป็น Specialist” 

 

Q: ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการบริหารยุคที่ 3 ของ GQ Thailand คุณอยากให้คนจดจำ GQ Thailand ในยุคของ ป๊อบ กำพล ว่าอย่างไร

ป๊อบ กำพล: GQ Thailand เป็นนิตยสารที่มีรสนิยมที่สุด

 

Q: สุดท้ายคุณมองภาพ GQ Thailand ในอีก 5 ปีข้างหน้าไว้อย่างไร 

ป๊อบ กำพล: ผมฝันไปไกลให้เราเป็นหนึ่งใน GQ Edition ที่ดีที่สุดในเอเชีย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X