×

แม่น้ำโขง ความมั่นคงทางพลังงาน vs. ความมั่นคงทางอาหาร

19.08.2024
  • LOADING...

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (Power Development Plan: PDP 2024) โดยเป้าหมายของแผน PDP 2024 ประการหนึ่งคือ จะให้ความสำคัญกับ ‘พลังงานสะอาด’

 

พลังงานสะอาดหมายถึงพลังงานที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานจากน้ำในเขื่อน

 

โดยในแผนจะมีการ ‘ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ’ เพิ่มอีก 3,500 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าหมายถึงโครงการไฟฟ้าจากเขื่อนใน สปป.ลาว โดยอ้างว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำเป็นพลังงานสะอาด

 

โรงไฟฟ้าพลังน้ำอ้างว่าเป็นพลังงานสะอาด เพียงเพราะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหินหรือก๊าซ แต่ในความเป็นจริง แต่ละปีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วโลกปล่อยก๊าซมีเทน (ก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่งที่อันตรายกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 80 เท่า แต่อยู่ในชั้นบรรยากาศไม่นานเท่า) ปริมาณกว่า 22 ล้านตัน 

 

ปกติก๊าซมีเทนในอ่างเก็บน้ำจะเกิดจากซากพืช ซากสัตว์ ที่เน่าเปื่อยและละลายอยู่ในน้ำ แต่เมื่อน้ำไหลผ่านกังหันเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจะทำให้น้ำเกิดความปั่นป่วนและปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

 

ทุกวันนี้พลังงานสะอาดอย่างพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาหน่วยละ 2.17 บาท ถูกกว่าพลังงานจากเขื่อนที่มีราคาสูงถึง 2.82 บาท

 

แม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตในประเทศจีน บนระดับความสูง 5,000 เมตร ผ่านประเทศจีน ไหลเป็นแนวดิ่งผ่านโตรกเขา ลดระดับเป็นแนวดิ่งอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดสายน้ำที่ไหลเร็ว เชี่ยวกราก ตัดผ่านร่องเขาสูงชันนับร้อยเมตรสลับซับซ้อนหลายแห่งเป็นระยะทางกว่า 2,500 กิโลเมตร เรียกกันว่าเป็นแม่น้ำโขงตอนบน จนเมื่อไหลมาถึงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ แนวเขตประเทศไทย-สปป.ลาว-พม่า ลดความรุนแรง เหลือระดับความสูงแค่ 500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ที่เรียกว่าแม่น้ำโขงตอนล่าง

 

ตลอดเส้นทางที่แม่น้ำโขงผ่านจะมีสายน้ำหลายร้อยสายจากลุ่มน้ำสองฟากฝั่งไหลมาเติมน้ำในแม่น้ำโขง เช่น แม่น้ำมูล, แม่น้ำชี, แม่น้ำสงคราม, หนองหาน, ทะเลสาบเขมร ฯลฯ หล่อเลี้ยงให้แม่น้ำโขงเป็นสายเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนหลายร้อยล้านคนไปจนออกปากแม่น้ำในเวียดนาม

 

แม่น้ำโขงจึงเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ ปล่อยน้ำออกมาเฉลี่ยปีละ 4.75 แสนล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับ 8 ของโลก

 

ด้วยลักษณะพิเศษของแม่น้ำสายนี้ คือมีปริมาณน้ำมาเติมจากสองแหล่งใหญ่ๆ คือจากการละลายของน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยประมาณร้อยละ 20 และปริมาณน้ำอีกมหาศาลร้อยละ 80 มาจากลำน้ำนับร้อยสาขาตลอดสองฟากฝั่งที่ไหลผ่านไทย, พม่า, สปป.ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม

 

ในอดีตความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของระบบนิเวศของสายน้ำต่างๆ ที่ไหลลงแม่น้ำโขง ก่อให้เกิดชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมากมาย มีการประเมินว่าแม่น้ำโขงที่มีความยาว 4,909 กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ 10 ของโลก แต่มีพันธุ์ปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ ประมาณ 1,200-1,700 ชนิด กลายเป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายของพันธุ์ปลามากเป็นอันดับ 2 ของโลก

 

ลุ่มน้ำโขงยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า 430 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกว่า 800 ชนิด นก 1,200 ชนิดพันธุ์ และพันธุ์พืชอีกกว่า 20,000 ชนิด

 

แต่ละปีมีการจับปลาในแม่น้ำโขงมากกว่า 2.6 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณการจับปลาน้ำจืดทั่วโลก โดยมีมูลค่าการทำประมงต่อปีอยู่ที่ 1.27-2.31 แสนล้านบาท และปลาเหล่านี้ยังว่ายไปสู่แม่น้ำมูล แม่น้ำชี กระจายไปทั่วภาคอีสาน ทำให้โปรตีนร้อยละ 75 ของคนลุ่มน้ำโขง 60 ล้านคน มาจากปลาแม่น้ำโขง

 

นอกจากนั้น ความสำคัญของแม่น้ำไม่ได้มีเพียงแค่น้ำ แต่ตะกอนที่ไหลมากับน้ำช่วยเพิ่มสารอาหาร เป็นปุ๋ยธรรมชาติในการเพาะปลูกตลอดลุ่มน้ำโขง และช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศโดยรวม รวมถึงเกาะแก่งจำนวนมากตลอดลำน้ำโขงที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำหลายชนิด

 

ความหลากหลายทางชีวภาพดังกล่าวของแม่น้ำโขงช่วยเติมเต็มความอุดมสมบูรณ์ให้กับไร่นาด้วยตะกอนดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ ป่าไม้และพื้นที่ชุ่มน้ำก็เป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญให้กับการอุตสาหกรรม ช่วยกรองน้ำและฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ รวมถึงปกป้องเมืองต่างๆ จากภัยธรรมชาติอย่างอุทกภัยและวาตภัย

 

แม่น้ำโขงจึงเป็นพื้นที่สำคัญในการรักษาความมั่นคงทางอาหารให้กับผู้คนลุ่มน้ำโขงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

 

แต่หลายสิบปีที่ผ่านมา แม่น้ำโขงถูกทำให้กลายเป็นแหล่งความมั่นคงทางพลังงาน

 

หลังจากการสร้างเขื่อนผลิตพลังงานไฟฟ้ากั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีนเมื่อ 20 กว่าปีก่อน สายน้ำของแม่น้ำโขงไม่ได้ไหลเป็นธรรมชาติอีกต่อไป เพราะจีนเป็นผู้ควบคุมปิด-เปิดการไหลของน้ำในแม่น้ำโขงจากเขื่อนหลายแห่งที่สร้าง เช่น เขื่อนม่านวาน เขื่อนแรกที่สร้างเสร็จในปี 2539 เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาด 1,500 เมกะวัตต์ (ใหญ่กว่าเขื่อนภูมิพลประมาณสามเท่า)

 

ทุกปีในฤดูแล้ง แม่น้ำโขงตอนล่างจะลดระดับต่ำ สองฟากฝั่งเป็นหาดทรายยาว บางแห่งระดับน้ำลดลงเหลือไม่ถึงหนึ่งเมตร สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้น้ำด้านล่างมาตลอด โดยในปี 2564 เขื่อนในจีนส่งผลให้กระแสน้ำในฤดูน้ำหลากลดลงมากถึง 62% 

 

ที่ผ่านมารัฐบาลจีนกำหนดให้มณฑลยูนนานเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าสำคัญของประเทศจีนทางตอนใต้ มีโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนอีก 14 เขื่อน คาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้า 25,000 เมกะวัตต์ และมีเขื่อนแห่งหนึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ถือเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุด คือเขื่อนเสี่ยววาน ความสูง 292 เมตร (สูงเกือบเท่าตึก 100 ชั้น) จุน้ำประมาณ 1.4 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร และผลิตไฟฟ้าได้ 4,000 เมกะวัตต์

 

แต่ในอนาคตรัฐบาลจีนตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนให้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ถึง 1 แสนเมกะวัตต์ ซึ่งหมายถึงโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อีกหลายสิบเขื่อน

 

ส่วนแม่น้ำโขงตอนล่าง รัฐบาล 4 ประเทศ สปป.ลาว, ไทย, กัมพูชา และเวียดนาม ก็ร่วมกันเสนอแผนสร้างเขื่อน 11 โครงการ ทั้งบนแม่น้ำโขงสายหลักและแม่น้ำสาขา 9 เขื่อนอยู่ใน สปป.ลาว ภายใต้นโยบาย ‘แบตเตอรี่ของเอเชีย’ โดยมีประเทศไทยเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าหลักจากโครงการเขื่อนเหล่านี้ ส่วนในกัมพูชามีแผนการสร้างเขื่อน 2 โครงการ ขณะนี้มี 2 เขื่อนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ คือเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง

 

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) จัดทำรายงานการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาและการบริหารจัดการแม่น้ำโขงที่ยั่งยืน รายงานฉบับนี้ใช้เวลาศึกษา 7 ปี มีเป้าหมายเพื่อให้ข้อมูลต่อประเทศสมาชิก คือ กัมพูชา, สปป.ลาว, ไทย และเวียดนาม (จีนไม่ยอมเป็นสมาชิก เพราะไม่ยอมอยู่ภายใต้ข้อตกลงของกรรมาธิการนี้) ได้เห็นด้านบวกและด้านลบของการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง 11 แห่ง และเขื่อนอีก 120 แห่งในแม่น้ำสาขา 

 

โดยรายงานชิ้นนี้ระบุว่า ภายในปี 2583 ร้อยละ 97 ของการไหลของตะกอนอาจถูกดักไว้ หากโครงการสร้างเขื่อนทั้งหมดที่วางแผนไว้เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้ขาดแร่ธาตุอาหาร ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตร ทำให้ปริมาณข้าวที่ผลิตได้บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่เรียกว่า ‘เก้ามังกร’ ในประเทศเวียดนาม อู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของเอเชีย ลดลงราว 5 แสนตัน

 

ในขณะที่ปริมาณสัตว์น้ำจะลดลงอย่างมาก ด้านประมงลดลง 35-40% ภายในปี 2563 และ 40-80% ภายในปี 2583 ทำให้ประเทศต่างๆ สูญเสียปริมาณสัตว์น้ำสัดส่วนดังนี้ คือ ไทย 55%, สปป.ลาว 50%, กัมพูชา 35% และเวียดนาม 30%

 

การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ รวมทั้งการสูญเสียด้านประมง จะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างรุนแรงในชุมชนต่างๆ ของ สปป.ลาว และกัมพูชา แต่กำไรส่วนใหญ่จากการผลิตไฟฟ้าจะตกเป็นของบริษัทผู้ลงทุนจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นไทย, จีน, มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ในขณะที่ต้นทุนจากโครงการเหล่านี้จะต้องแบกรับโดยชุมชนชาวประมงและเกษตรกรในประเทศ 

 

กระแสไฟฟ้าจากเขื่อนอาจไม่ใช่พลังงานสะอาดอย่างที่กล่าวอ้าง แต่กำลังจะทำลายความมั่นคงทางอาหารของคนเกือบร้อยล้านคนตลอดลุ่มน้ำ ขณะที่ผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรมหาศาลของแม่น้ำโขงเข้ากระเป๋านักธุรกิจเพียงไม่กี่กลุ่ม ภายใต้คำว่า ‘ความมั่นคงทางพลังงาน’

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising