“เรามีความฝันว่าอยากจะมีบ้านสวน แล้วเปิดเป็นบ้านพักให้คนได้เข้ามาพักผ่อน มาใช้เวลาเยียวยาตัวเองใกล้ชิดธรรมชาติ ภาพในหัวที่เราชอบมากคล้ายๆ กับในหนังสือแบบเรียนมานีมานะ สมัยที่ปู่ย่าตายายยังเด็กซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน มันไม่ใช่ที่พักแนว Camping หรือ Glamping ที่กำลังฮิตตามสมัยนิยมกันอย่างตอนนี้ จนถึงตอนนี้เราก็ยังยึดตามคอนเซปต์นี้อยู่”
‘ปู-จงรัก จารุพันธุ์งาม’ ผู้บุกเบิก ‘มีกินฟาร์ม’
‘ปู-จงรัก จารุพันธุ์งาม’ เริ่มต้นเล่าให้เราฟังถึงความฝัน อันเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘มีกินฟาร์ม’ สวนเกษตรเล็กๆ ที่เธอค่อยๆ สร้างขึ้นด้วยสองมือของตัวเองเมื่อราว 6 ปีที่แล้ว จนมาตอนนี้ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดขอนแก่นไปแล้ว แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย จากหญิงสาวผู้ไม่ได้มีภูมิหลังด้านการเกษตรมาก่อน เรื่องราวความสำเร็จและการเติบโตของสวนเกษตรมีกินคือเรื่องเล่าของผู้หญิงหญิงคนหนึ่งที่ค่อยๆ สร้างฝันต่อสู้กับความไม่รู้
“ปูเป็นคนขอนแก่น หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมก็ไปเรียนปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์แล้วทำงานต่อใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ นานร่วม 10 ปี จนมาวันหนึ่งรู้สึกเบื่ออยากจะพัฒนาตัวเองก็เลยไปอยู่อังกฤษมาอีก 6 ปี ทีแรกตั้งใจจะไปเรียนแค่ภาษา แต่จับพลัดจับผลูได้เข้าไปทำงานในร้านอาหาร ก็ทำทุกอย่างตั้งแต่ล้างจาน เสิร์ฟ จนถึงเป็นผู้จัดการร้านเล็กๆ สิ่งที่ค้นพบก็คือเราชอบเวลาที่ลูกค้ามีความสุขจากงานบริการที่เราทำ ระหว่างใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นก็สังเกตเห็นถึงการใช้ชีวิตของคนอังกฤษ ซึ่งเขาใช้เวลาพักผ่อนมีความสุขกันอย่างง่ายๆ เช่นวันหยุดก็ไปนอนเล่นในสวนสาธารณะ เราเลยรู้สึกว่าความสุขของคนเรามันก็เรียบง่ายได้”
ก่อร่างสร้างฝันจากผืนดินที่แห้งแล้ง
เมื่อกลับมาเมืองไทยปูตัดสินใจกลับมาปักหลักที่บ้านเกิดทั้งๆ ที่เธอได้จากขอนแก่นไปนานเกือบ 20 ปีแล้ว ปูยอมรับว่าช่วงแรกๆ ที่กลับมาอยู่บ้านเกิดตัวเองรู้สึก ‘เคว้ง’ เพราะการจากไปนานทำให้ไม่รู้จักใคร ไม่รู้จะทำอะไร ช่วงแรกนั้นเธอจับพลัดจับผลูไปทำธุรกิจอย่างหนึ่งซึ่งเจ้าตัวกล้าที่จะเล่าให้ฟังว่า ‘ล้มเหลว’
“จากที่ไปทำงานต่างประเทศและมีเงินเก็บอยู่ก้อนหนึ่ง แต่จากการทำธุรกิจที่ว่าก็พ่วงมาด้วยหนี้สิน แต่ในขณะเดียวกันเราก็ได้ที่ดินซึ่งเป็นมีกินฟาร์มตรงนี้มา แล้วตอนนั้นปูเองก็ยังไม่มีทั้งความรู้ด้านการเกษตร ยังไม่มีเงินลงทุนเลย มีแต่ความฝันและความตั้งใจล้วนๆ แต่ปูมีความเชื่อนะว่าเราน่าจะทำได้ ก็เลยสู้มาเรื่อยๆ แบบปากกัดตีนถีบ”
จากผืนแผ่นดินที่แห้งแล้งพลิกฟื้นสู่สวนเกษตรน่ารัก
ที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา
จงรักซื้อที่ดินขนาดราว 4 ไร่ บริเวณบ้านจระเข้ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่นไปเมื่อปี 2558 แล้วจึงเริ่มปลูกต้นกล้าในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ซึ่งตอนนั้นมีเพียงผืนดินที่แห้งแล้งของอดีตป่าอ้อยกับต้นมะม่วงป่าเพียงไม่กี่ต้น เมื่อไม่มีทั้งความรู้และเงินทุน สิ่งที่เธอลงมือทำคือลองผิดลองถูก
แปลงผัก เลี้ยงสัตว์ บรรยากาศภายในมีกินฟาร์ม
“อย่างที่บอกว่าเป้าหมายความฝันจริงๆ ของปู คือการสร้างบ้านพัก แต่เนื่องจากไม่มีเงินทุนเราก็เลยคิดว่างั้นลองปลูกพืชผลอะไรขายเพื่อเก็บเงินไปก่อนแล้วกัน แต่ท้ายที่สุดเราก็ค้นพบว่ามันไม่ใช่ตัวเองเลย เราไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นเกษตรกรเต็มตัวแบบนั้น ด้วยทั้งไลฟ์สไตล์ของตัวเองและแรงกำลังเราก็ไม่ถึง อีกอย่างหนึ่งถ้าจะทำเกษตรให้พอเลี้ยงตัวเองได้ก็จะต้องใช้พื้นที่ในการผลิตเยอะมากมันก็เลยไม่เหมาะกับเรา จนกระทั่งไปเจอพี่คนหนึ่งที่เขาพูดถึง ‘ขอนแก่น MICE City’ หมายถึงเมืองที่เป็นศูนย์กลางด้านการจัดประชุม ซึ่งคนที่มาประชุมในลักษณะนี้โดยมากก็จะไม่ได้ไปตามแหล่งท่องเที่ยวที่ทันสมัยมาก แต่เขาอาจจะอยากเห็นและเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน นั่นเป็นจุดแรกที่ทำให้คิดว่างั้นเราก็ลองขายกิจกรรม ขายความบ้านนอกบ้านนาความไม่สมบูรณ์แบบของเรานี่แหละ”
จังหวะลงตัว: เติบโตขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรสร้างสรรค์
จากเริ่มแรกที่ลองผิดจงรักคิดว่าจะขายผลผลิตเกษตรเพื่อเก็บเงินมาสร้างบ้านพัก เธอจึงเบนเข็มไปทำสวนที่เปิดให้คนเข้ามาทำกิจกรรมวิถีเกษตร กิจกรรมแรกของมีกินฟาร์มคือการดำนาซึ่งเกิดขึ้นในปี 2560
“ครั้งแรกที่จัดกิจกรรมมีพี่ๆ ที่เป็นหมอพาสมาชิกมาดำนากันประมาณ 20 คน แล้วหลังจากนั้นก็มีตามมาอีกเรื่อยๆ ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่ได้เปิดเป็นคาเฟ่ร้านอาหารให้คนเข้ามาเหมือนอย่างปัจจุบันนี้เลยนะคะ จากครั้งนั้นเราเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่เราคิดมันขายได้จริง และคนเริ่มเห็นกันว่าที่ตรงนี้สามารถจัดกิจกรรมทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีชีวิตได้ จนปลายปีนั้นทาง ททท. ภาคอีสานกำลังมองหาสถานที่จัดประชุมอยู่และไม่อยากจัดกันตามโรงแรมเขาได้ยินข่าวเกี่ยวกับเราเข้า”
ปัจจุบันมีกินฟาร์มได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างสรรค์ต้นแบบ
ของจังหวัดขอนแก่น และภูมิภาคนี้ไปแล้ว
หอประชุมกลางแจ้ง และร้านอาหารคาเฟ่เล็กๆ
ประจวบเหมาะกับการประชุมที่จัดขึ้นกลางทุ่ง ณ มีกินฟาร์ม ครั้งนั้นมีผู้อำนวยการ ททท. ทั่วภาคอีสานมาร่วมงาน และเป็นปีที่ จังหวัดขอนแก่น ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะต้องมีนักท่องเที่ยวเข้ามาให้ถึง 5 ล้านคน นั่นจึงเป็นโอกาสดีซึ่งทำให้มีกินฟาร์มเป็นที่รู้จัก และถูกบรรจุอยู่ในแผนที่การท่องเที่ยวภาคอีสาน
“คือช่วงนั้นมีกินฟาร์มเป็นที่แรกๆ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวในลักษณะนี้ เขาเลยชูเราขึ้นมาโปรโมตในลักษณะที่เป็น Creative & Gastronomy Tourism คือเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และเปิดประสบการณ์ด้านอาหาร ซึ่งทำให้เราคิดรูปแบบของกิจกรรมตามออกมาอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทำนาตามฤดูกาลอย่างดำนา เกี่ยวข้าว ชมสวนเก็บสมุนไพร เรียนรู้แลนด์สเคป ทำข้าวจี่ หมักสาโท ทำข้าวหมาก ฯลฯ พอปี 2561 ทาง ททท. ก็เริ่มโปรโมตอีสานไปยังตลาดยุโรป มันก็เลยเป็นจังหวะที่ลงตัวพอดี ซึ่งถ้าย้อนไปก่อนหน้านั้นการท่องเที่ยวแถบภาคอีสานยังไม่ได้ความสนใจมากนัก จนมาถึงช่วงปี 2562 เราก็เริ่มเปิดให้มีร้านอาหารและคาเฟ่เล็กๆ อยู่ภายในฟาร์ม ยิ่งพอเกิดโควิดทำให้การท่องเที่ยวระหว่างประเทศทำได้ลำบาก ก็เลยทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นในประเทศอีกเยอะ มีกินฟาร์มจึงได้รับการโปรโมตอย่างต่อเนื่อง และเริ่มที่จะมีฐานลูกค้าเยอะขึ้น”
มีอะไรทำบ้างที่มีกินฟาร์ม
“นอกจากเปิดให้ชมฟาร์มแล้ว เรายังมีร้านอาหารและคาเฟ่เล็กๆ ซึ่งมีเครื่องดื่ม กาแฟดริป และน้ำสมุนไพร เช่นเดียวกับอาหารซึ่งเน้นครีเอตจากวัตถุดิบที่มีอยู่ภายในสวน และวัตถุดิบท้องถิ่นอย่างสลัดผักราดน้ำสลัดโฮมเมด ขนมจีนน้ำยากะทิปลาทู ปลานึ่ง ไก่ทอด ส้มตำ กับอีกหลายเมนู รวมถึงล่าสุดคือพิซซ่าอบจากเตาดินที่เราที่เพิ่งก่อขึ้นมา ซึ่งอาหารหลายๆ อย่างนั้นผู้สนใจสามารถร่วมทำกิจกรรมทำอาหารได้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บสมุนไพรจากในสวนมาทำน้ำปั่น การนวดแป้งแต่งหน้าอบพิซซ่า การทำคุกกี้ดอกไม้ ข้าวจี่ ฯลฯ”
อาหารเช้าเซ็ตสลัดผักข้าวจี่ที่จัดมาให้สามารถ DIY ได้เอง
คุกกี้ดอกไม้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมเวิร์กช็อปสำหรับบริการผู้สนใจ ได้ลองเก็บดอกไม้และสมุนไพรในสวนมาทำคุกกี้ พร้อมได้คุกกี้ทำเองกับมือกลับบ้านไปชิม
(ภาพ: Somjing Diary)
และในตอนนี้ความฝันในเรื่องการเปิดบ้านพักของปูก็เป็นจริง ด้วยบ้านพักขนาดกะทัดรัดน่ารักกลางสวนเกษตรที่รองรับผู้มาเยือนได้ 1-8 คน ด้านกิจกรรมกลุ่มสำหรับ MICE หรือนักท่องเที่ยวที่มากันเป็นกลุ่มนั้นมีกินฟาร์มมีบริการตั้งแต่อาหาร ซึ่งลูกค้าจะจองมารับประทานอาหารเช้าหรือเที่ยงกันเป็นกลุ่มก็ได้ นอกจากนี้ยังมีบริการกิจกรรม Team Building ซึ่งสามารถออกแบบตามโจทย์ให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่มได้
ปีกไก่ทอด ยำรสดี ปลานึ่ง และขนมจีนน้ำยาปลา
หลากหลายเมนูบ้านๆ เลือกใช้วัตถุดิบสดๆ จากในสวน
ล่าสุดเพิ่งก่อเตาพิซซ่าให้ผู้มาเยือนได้ลอง DIY
(ภาพ: Somjing Diary)
“ถ้าเป็นกิจกรรมสำหรับลูกค้าที่มากันเป็นกลุ่ม ส่วนมากเราก็จะถามลูกค้าก่อนว่ามากันกี่คน แล้วสนใจกิจกรรมอะไรบ้าง คือมันไม่ได้มีอะไรที่เซ็ตเอาไว้ตายตัว เพราะอย่างหนึ่งก็คือรายละเอียดของลูกค้าที่มาแต่ละกลุ่มนั้นไม่เหมือนกันเลย เราก็เลยต้องคิดออกมาให้ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม เพื่อให้เขาได้รับประสบการณ์พิเศษที่ไม่เหมือนใคร อย่างถ้าลูกค้าต้องการทำกิจกรรมแนวศิลปะเราก็มีกลุ่มเครือข่ายของคนที่ทำงานศิลปะเข้ามาช่วย ส่วนเรื่องของของการปลูกพืชผักและอาหารอะไรอย่างนี้โดยมากเราก็จะพาทำเอง
“จริงๆ ตอนนี้หลายคนก็เริ่มสนใจที่อยากจะใช้พื้นที่ของเราจัดกิจกรรมส่วนตัว เช่น จัดแฟนมีตติ้งของศิลปินอะไรแบบนี้ก็มีเข้ามา แล้วก็มีคนติดต่อเข้ามาว่าอยากจะใช้ที่มีกินฟาร์มจัดงานแต่งงาน ก็มีกันเข้ามาหลายลักษณะเลย คือพื้นที่ตรงนี้จะเป็นอะไรก็ได้แหละ แต่เราอยากจะให้ทุกคนที่เข้ามาได้เห็นคุณค่าของพื้นที่ซึ่งไม่ใช่อะไรที่ฉาบฉวย เราอยากให้มีกินฟาร์มเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้กับใครอีกหลายคนที่เข้ามาแล้วอาจอยากกลับไปปลูกต้นไม้หรือทำอะไรในพื้นที่ของตัวเอง ดังนั้นการเติบโตของฟาร์มเราก็จะพยายามไม่สร้างอะไรเพิ่มเติมที่ไม่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ และไม่ว่าคุณจะเป็นคนวัยไหนก็สามารถจะเข้ามาเรียนรู้และมีความสุขได้ อย่างเด็กๆ ก็จะได้มีพื้นที่วิ่งเล่นอยู่ในธรรมชาติท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ๆ ผู้ใหญ่ก็ได้มาเรียนรู้เรื่องการเกษตร ต้นไม้ ฯลฯ ที่นี่มันอาจไม่ได้หรูหราฟู่ฟ่าเหมือนกับที่อื่น ด้วยลักษณะของธุรกิจเรามันเป็นแบบเรียบๆ เรื่อยๆ แต่เราจะดีใจมากเลยถ้ามีกินฟาร์มสามารถเป็นประโยชน์หรือให้แรงบันดาลใจกับใครที่เข้ามาได้บ้าง”
ในวันที่ฝันเติบโต
จากเรื่องราวที่จงรักเล่าให้ฟังถึงวันแรกอันแห้งแล้ง และเธอใช้สองมือเข้าถางพัฒนาพื้นที่มีกินฟาร์มขึ้นมาทีละน้อย เราอดถามจงรักไม่ได้ว่าเธอรู้สึกอย่างไรที่ได้เห็นความฝันเติบโตและเป็นจริง
“ปูรู้สึกว่าเราได้พิสูจน์อะไรหลายอย่าง หนึ่งก็คือเรื่องความฝันซึ่งถ้าเราตั้งใจทำและอดทนหาหนทางไปให้ถึงเป้าหมาย เราก็สามารถหาลู่ทางจนสำเร็จได้ สำหรับเรามันเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ เพราะอย่างที่เล่าให้ฟังว่ามีกินฟาร์มเองก็เป็นธุรกิจที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วยเงินทองมากมาย แต่มันก็ไม่ใช่ความภูมิใจในแบบที่คิดว่าฉันเก่งอะไรทำนองนั้นนะคะ แต่มันเป็นความภูมิใจที่เกิดจากความพยายามซึ่งเราสามารถต่อสู้และเอาชนะความไม่รู้จนสำเร็จ ซึ่งมันตอบโจทย์และทำให้เราค้นพบความสุขในชีวิตมากขึ้น”
บ้านเล็กในสวนเกษตรที่ทำให้นึกถึงชนบทในหนังสือแบบเรียนสมัยก่อน
ฝันที่จะเปิดบ้านพักของปูในที่สุดก็เป็นจริง
“เมื่อก่อนนี้ปูเองก็คงเหมือนคนธรรมดาทั่วไปที่แสวงหาปัจจัยภายนอก อยากได้นั่น อยากได้นี่ แต่ ณ ปัจจุบัน มันค้นพบว่าชีวิตเราไม่ได้ต้องการอะไรมากมายขนาดนั้น เราต้องการกินอิ่ม นอนหลับ แวดล้อมด้วยสังคม ผู้คน กัลยาณมิตรที่ดี แค่นี้มันก็มีความสุขแล้ว แต่เราไม่ได้บอกว่าธุรกิจนี้มันไม่ต้องการการเติบโตทางด้านการเงินนะคะ มันก็ยังต้องการอยู่เพื่อที่จะได้นำมาขยาย มาเป็นหลักประกันในชีวิตเรามากขึ้น เพราะเราเองก็แก่ตัวลงทุกวัน
“ในแง่ของธุรกิจปูก็ดีใจตรงที่ว่ามีกินฟาร์มค่อยๆ เติบโต และมีคนรักเรามากขึ้นจากงานตรงนี้ จากคนที่แทบไม่รู้จักใครมาก่อนเลยในขอนแก่น พอกลับมาบ้านก็กลายเป็นว่าปูได้รู้จักคนเยอะมาก ได้มีเพื่อนดีๆ เพิ่มขึ้นจากการทำพื้นที่ตรงนี้ และได้มีส่วนช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน มันก็เลยเป็นความสุขความภาคภูมิใจ อีกอย่างหนึ่งปูคิดว่าสิ่งที่เราทำก็สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คนที่เขาอยากกลับมาอยู่บ้าน”
- มีกินฟาร์มเปิดให้บริการระหว่างเวลา 09.00-18.00 น. ทุกวัน ยกเว้นวันพุธและวันพฤหัสบดี
- ข้อมูลเพิ่มเติม Facebook: มีกินฟาร์ม Mekin Farm โทร. 06 1695 9926
- นอกจากสวนบ้านเกษตรอินทรีย์แล้ว มีกินฟาร์มยังมีอีกหนึ่งบริการจัดโปรแกรมทัวร์ ‘เที่ยวถึงแก่น’ ภายใต้ชื่อ ‘Local DMC’ (Destination Management Company) ให้กับผู้สนใจเที่ยวขอนแก่นในมุมมองใหม่ โดยเชื่อมเส้นทางกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในชนบท คนทำงานคราฟต์ งานศิลปะ ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ