×

Megathreats มหันตภัยที่จะเจาะ ‘ฟองสบู่ตลาดการเงิน’

25.11.2022
  • LOADING...

เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนปีปฏิทิน แนวโน้มทางเศรษฐกิจและการเงินมักถูกพูดถึงมากกว่าช่วงอื่นของปี 

 

ยิ่งในโลกในยุค 2020-2030 แนวโน้มที่ตลาดสนใจคงไม่พ้น ‘ฟองสบู่ทางการเงิน’ และเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจทำให้ฟองสบู่เหล่านั้นพองขึ้นหรือแตก เพราะเหตุการณ์เหล่านั้นจะส่งผลกระทบกับพอร์ตลงทุนของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ล่าสุด Dr. Nouriel Roubini ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก หรือที่ในตลาดการเงินรู้จักกันในฉายา Dr. Doom เขียนหนังสือเล่มใหม่ที่มีชื่อว่า Megathreats ชี้ให้เห็นถึง 10 แนวโน้มที่เป็นความเสี่ยงของอนาคต ซึ่งผมมองว่านักลงทุนจะต้องรู้จักและเตรียมพร้อมให้ทันทุกเทรนด์

 

1. The Mother of All Debt Crises

เรื่องแรกคือจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจที่อยู่บนระดับหนี้ที่สูง ด้วยความเร่งในการขยายตัวของหนี้ในปัจจุบัน หนี้ทั่วโลกจะเพิ่มขนาดเป็นถึง 360 ล้านล้านดอลลาร์ ราว 4 เท่าของ GDP ปลายทศวรรษ 2030 อาจถึงเวลาที่ทั่วโลกต้องเลือกว่าจะ ‘ใช้หนี้หรือหนีหนี้’ มากกว่าช่วงไหนในประวัติศาสตร์  

 

2. Private and Public Failures

เป็นไปได้สูงที่จะเห็นเอกชนหรือภาครัฐล้มละลายแบบฉับพลัน เนื่องจากพฤติกรรมกู้สั้นไปลงทุนระยะยาว กู้เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ หรือรายได้ลดลงจนไม่พอจ่ายดอกเบี้ย เมื่อไรก็ตามที่ทั่วโลกเข้าสู่ช่วงที่ลดการปล่อยกู้

 

3. The Demographic Time Bomb

ปัญหาของโลกไม่ได้มีแค่จำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น แต่รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลที่ไม่เพียงพอ เช่น ในญี่ปุ่น ก่อนโควิดรัฐบาลมีเงินพอที่จะจ่ายเป็นบำนาญราว 60% ของรายได้ก่อนเกษียณอายุ แต่ถ้าค่าใช้จ่ายด้านนี้ไม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 1% ต่อ GDP ไปต่อเนื่อง ประชาชนวัยเกษียณจะมีรายได้เหลือเพียง 40% ของรายได้ก่อนเกษียณในปี 2050 และปัญหาสังคมจะเกิดขึ้นในทุกประเทศ

 

4. The Easy Money Trap and Boom-Bust Cycle

กับดักของนโยบายการเงินผ่อนคลาย คือใช้แล้วเลิกไม่ได้ เช่น นโยบาย Quantitative Easing เพราะทำให้ราคาสินทรัพย์ทางการเงินขยายตัวก็จริง แต่เมื่อยกเลิกไม่ได้ส่งผลแค่กับตลาดทุน แต่จะส่งผลลบกับเศรษฐกิจด้วยความผันผวนที่สูง 

 

5. The Coming Great Stagflation

ภาวะเศรษฐกิจไม่โต แต่เงินเฟ้อสูงกำลังเกิดขึ้นจากการเมืองและนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แย่ลง เพราะสิ่งเหล่านี้นำไปสู่การจำกัดผู้อพยพ Deglobalization และความขัดแย้งด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม

 

6. Currency Meltdowns and Financial Instability

ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้คือ ความผันผวนของดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น เงินเยนญี่ปุ่นที่อ่อนค่ากว่า 30% แค่ในสองปี หรือเงินบาทที่อ่านค่าจาก 32 ไปถึง 38 บาทต่อดอลลาร์ได้ในเวลาไม่ถึงปี ความผันผวนเหล่านี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่น และอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจได้ถ้าผู้กำหนดนโยบายไม่ทันระวัง

 

7. The End of Globalization?

เหตุผลหลักมาจากการให้ความสำคัญที่เปลี่ยนไปใน ‘Inconsistent Trilemma’ ที่ประกอบด้วย Democracy Sovereignty Globalization ในปัจจุบันประเทศมหาอำนาจต่างไม่ยอมผ่อนปรนเรื่องการปกครองและอธิปไตย ดังนั้น The End of Globalization ก็อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

 

8. The AI Threat

เทคโนโลยีแม้จะเป็นทางออกของปัญหาส่วนใหญ่ แต่ก็อาจเป็นความเสี่ยงในเชิงนโยบาย สิ่งที่ต้องกังวลไม่ได้อยู่ที่หุ่นยนต์จะแย่งงานมนุษย์ (เพราะในที่สุดงานส่วนใหญ่อาจเปลี่ยนไปอยู่แล้ว) แต่อยู่ที่การบริหารและรับมือกับบริษัทหรือภาครัฐที่ใช้ AI ในการทำธุรกิจ ภาษีอาจเพิ่มขึ้น ภาครัฐอาจต้องเข้ามากำหนดกฎเกณฑ์มากขึ้น ไปจนถึงความสัมพันธ์ที่แต่ละประเทศจะเชื่อใจกันน้อยลง   

 

9. The New Cold War

สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ ‘สนามรบ’ จะเกิดขึ้นในหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ ด้านเทคโนโลยี ด้านการลงทุน และเคลื่อนย้ายทุน รวมไปถึงด้านข้อมูลและความปลอดภัย 

 

ในทศวรรษนี้เราต้องได้เห็นจีนขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกแน่นอน คำถามคือเมื่อไร หมายความว่าสิ่งที่ต้องจับตาคือสหรัฐฯ จะเลือกรักษาความโดดเด่นด้านใดไว้ และจะอยู่อย่างไรเมื่อไม่ได้เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ

 

10. An Uninhabitable Planet?

ภัยอย่างสุดท้ายคือเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาหลักไม่ใช่แค่การทำให้โลกอยู่รอด หรือลดการใช้คาร์บอน แต่อยู่ที่แนวทางรักษ์โลก เช่น IMF ประเมินว่าแค่เพียงทั่วโลกยกเลิกการสนับสนุนด้านราคาพลังงานจากฟอสซิลลง งบประมาณจะหายไปกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์หรือกว่า 6.8% ของ GDP การเปลี่ยนรูปแบบของพลังงานที่รวดเร็วเกินไปอาจเพิ่มต้นทุน และลดขนาดเศรษฐกิจไปพร้อมกัน

 

นั่นคือทั้ง 10 Megathreats ของ Dr. Nouriel Roubini และเขาเชื่อว่าเทคโนโลยี และการกลับมาร่วมมือกันของประเทศต่างๆ คือทางออกเดียว แม้ดูจะเกิดขึ้นได้ยาก

 

ส่วนตัวผม เมื่อมองในมุมการลงทุนจะพบธีมที่เปราะบางที่สุด 3 รูปแบบ หนึ่งคือธุรกิจที่มีหนี้สินมาก สองคือธุรกิจที่ต้องอาศัยการเติบโตของเศรษฐกิจสูง และธุรกิจที่ต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

 

ในจักรวาลมาร์เวล Dr. Doom เป็นตัวละครที่ฉลาดและมีเวทมนตร์ เมื่อไรที่ต้องต่อสู้ เหล่าฮีโร่จะต้องรวมพลังกันถึงจะมีโอกาสชนะ 

 

ในโลกการเงินก็เช่นกัน เมื่อไรก็ตามที่มีภัยร้ายในตลาด นอกจากจะเรียนรู้และหาที่หลบให้เป็นแล้ว ก็ต้องกล้าลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพิ่มโอกาสชนะให้ได้มากที่สุดครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising