×

สภาผ่านมติฝ่ายค้านเสนอทำประชามติพร้อมเลือกตั้ง แต่องค์ประชุมไม่ครบ ถามประชาชนเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โดย THE STANDARD TEAM
15.09.2022
  • LOADING...
ประชามติ

วันนี้ (15 กันยายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่สภามีมติในการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ 

 

ซึ่งสาเหตุที่ต้องเสนอญัตติด่วน เพราะการสอบถามประชามติไปยังประชาชนเป็นผลประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน และที่ต้องเป็นเรื่องด่วน เพราะขณะนี้สถานการณ์การเมืองจะมีการเลือกตั้งเมื่อไรไม่รู้ และการจัดทำประชามติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ มาตรา 9 (4) ยังมีอีกหลายขั้นตอน เมื่อผ่านสภาแล้วต้องไปผ่านวุฒิสภา และต้องเสนอ ครม. หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ประชาชนทำประชามติพร้อมกับวันเลือกตั้ง จึงเป็นญัตติด่วนที่ต้องพิจารณาก่อนปิดสมัยประชุม

 

ณัฐพงษ์ ผู้เสนอญัตติ แถลงสาระสำคัญของญัตติว่า พ.ร.บ.ประชามติ จะต้องมีการระบุอย่างชัดเจนเรื่องคำถามและคำตอบ รวมถึงสาระสำคัญประกอบการจัดทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนสามารถออกเสียงประชามติได้อย่างถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และเป็นต้นตอของความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

ณัฐพงษ์กล่าวต่อว่า เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร มีกระบวนการรับรองโดยอาศัยการทำประชามติที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรมตามมาตรฐานสากล มีเนื้อหาบางส่วนที่มีความถดถอยทางประชาธิปไตย จึงมีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งจะต้องสอบถามประชาชนผ่านการทำประชามติก่อน จึงทำให้ที่ผ่านมาไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ ตนจึงต้องเสนอญัตติด่วน เพื่อขอทำประชามติสอบถามประชาชนว่าจะเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรนูญใหม่ผ่านกลไกของ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือไม่

 

“คำถามในการจัดทำประชามติคือ ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทยควรจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญปี 60 โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ส่วนคำตอบมี 3 ข้อ คือ เห็นชอบ / ไม่เห็นชอบ / ไม่แสดงความเห็น” ณัฐพงษ์กล่าว

 

ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้เชื่อว่าการจัดทำประชามติจะเป็นทางออกจากวิกฤตการเมืองในปัจจุบัน ที่สังคมมองว่ามีต้นตอมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การจัดทำประชามติดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นในการรื้อฟื้นข้อเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่รัฐสภาเคยมีมติเห็นชอบไปแล้วในวาระที่หนึ่ง เป็นการสอบถามอย่างตรงไปตรงมาจากประชาชนว่าจะต้องมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และหากเป็นไปได้ภายใต้สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน เราต้องรีบเร่งดำเนินการจัดทำประชามติพร้อมกับวันเลือกตั้ง และเป็นการประหยัดภาษีประชาชนในการจัดทำด้วย

 

ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติประกบ โดยอภิปรายว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นที่ถกเถียงถึงที่มา กระบวนการ และการลงประชามติ วันนี้เราต้องการหยุดความสับสน จึงต้องให้ประชาชนลงประชามติก่อนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเรากำลังจะเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งในเวลาไม่นาน เพียงแค่เวลาไม่เกิน 6 เดือน ไม่ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองจะเกิดอะไรขึ้น กระบวนการเลือกตั้งต้องเกิดแน่นอน เพราะครบวาระสภา 4 ปี เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณและใช้โอกาสไปในคราวเดียวกัน เราจึงเสนอให้มีการทำประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเดินหน้าสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยตัวแทนของประชาชน เพื่อที่จะมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเต็มใบ

 

จากนั้นเป็นการอภิปรายแสดงความคิดเห็นของสมาชิก ซึ่งที่ประชุมแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ให้มีการจัดทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเห็นว่ารัฐธรรนูญปี 2560 เป็นอุปสรรคในการดำเนินการต่างๆ และให้ทำวันเดียวกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เพื่อประหยัดงบประมาณและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน จึงเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว

 

ต่อมามีการเช็กองค์ประชุมเพื่อเตรียมลงมติ ซึ่งใช้เวลารอสมาชิกแสดงตน 42 นาทีจึงครบ 242 เสียง จากนั้นสมาชิกลงมติ โดยมีผู้ลงมติ 227 (+3) เสียง เห็นด้วย 215 เสียง ไม่เห็นด้วย 6 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง

 

ศุภชัย โพธิ์สุ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม จึงแจ้งว่า ถือว่าเสียงข้างมากเห็นด้วยกับทั้งสองญัตติ แต่ที่ประชุมได้ถกเถียงในประเด็นที่ว่าญัตติผ่าน แต่องค์ประชุมไม่ครบ อาจทำให้ผู้ที่ไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญหยิบยกมาโจมตีได้ และมีสมาชิกเสนอว่า ควรปิดประชุมและเลื่อนการลงมติในครั้งถัดไป เพราะตัวญัตติยังมีความชอบ ยังไม่ถือว่าญัตติผ่านหรือตกไป

 

ในที่สุดศุภชัยชี้แจงว่า การลงมติดังกล่าวถือว่าเห็นด้วยกับการลงมติ ส่วนกรณีครบองค์ประชุมนั้นถือว่าไม่ครบ ต้องเป็นเรื่องที่ว่ากันไปตามระบบ ข้อกฎหมาย และข้อบังคับ จากนั้นจึงสั่งปิดการประชุมทันที

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X