ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายน สื่อหลายสำนักทั่วโลกต่างรายงานการนำเสนอข่าวเชิงสืบสวนชิ้นสำคัญจากสำนักข่าว ProPublica ในสหรัฐฯ ว่าด้วยการจ่ายภาษีเงินได้ของบรรดามหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ในสหรัฐฯ ซึ่งได้ ‘ข้อมูลหลุด’ ของสรรพากรสหรัฐฯ ที่โดยปกติจะเป็นความลับที่ได้รับการปกป้องของรัฐบาลมาวิเคราะห์ และตามมาด้วยข้อกล่าวหาว่ามีกลยุทธ์ในการเลี่ยงภาษีเกิดขึ้น
เราสรุปให้อ่านกันว่ามีอะไรสำคัญจากการรายงานครั้งนี้ และปฏิกิริยาจากผู้ถูกพาดพิงไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯ เองว่าเป็นอย่างไร
- เหตุเกิดเมื่อทีมข่าวเว็บไซต์สำนักข่าว ProPublica นำโดย เจสซี ไอซิงเกอร์, เจฟฟ์ เอินส์ทเฮาเซน และ พอล คีล เผยแพร่บทความชิ้นสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากการได้รับข้อมูลปริมาณมหาศาลที่ทีมงานของสำนักข่าวนี้อ้างว่าเป็นข้อมูลของกรมสรรพากรสหรัฐฯ (Internal Revenue Service: IRS) เกี่ยวกับการขอคืนภาษีของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในสหรัฐฯ หลายพันคนในช่วงระยะเวลามากกว่า 15 ปี ซึ่ง ProPublica ทำการวิเคราะห์ โดยเปรียบเทียบจำนวนภาษีเงินได้ที่มหาเศรษฐีอเมริกัน 25 อันดับแรกนั้นจ่ายในแต่ละปี กับปริมาณความมั่งคั่งของพวกเขาเหล่านี้ที่เติบโตขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นนี้ได้รับการประเมินโดยนิตยสาร Forbes และอัตราส่วนที่เกิดจากการเปรียบเทียบดังกล่าว ProPublica ให้ชื่อเรียกว่า ‘True Tax Rate’ หรืออาจจะแปลได้ว่า ‘อัตราภาษีที่แท้จริง’ (สามารถคลิกเข้าไปอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่)
- บทความชิ้นนี้กลายเป็นข่าวดังในสำนักข่าวหลายแห่งทั่วโลก ความน่าสนใจก็คือ บทความนี้สื่อสารอย่างชัดเจนว่าผู้ที่รวยที่สุดในสหรัฐฯ สามารถหาทางจ่ายภาษีเงินได้ในระดับที่น้อยให้แก่รัฐบาลกลาง (หรืออาจจะเรียกง่ายๆ ว่าเลี่ยงภาษี) แบบถูกกฎหมายได้ ท่ามกลางความเติบโตของทรัพย์สมบัติของพวกเขาหลายร้อยล้านหรือหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี โดยความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของพวกเขามาจากมูลค่าทรัพย์สิน เช่น หุ้นและอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสูงขึ้น และมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนี้ กฎหมายสหรัฐฯ ไม่ได้กำหนดว่าจะถือเป็นรายได้ที่ต้องนำมาคำนวณภาษี จนกว่ามหาเศรษฐีเหล่านี้จะตัดสินใจขายทรัพย์สินเหล่านั้นทิ้งไป
- ProPublica อ้างอิงข้อมูลของ Forbes ว่า ระหว่างปี 2014-2018 มหาเศรษฐี 25 อันดับต้นของสหรัฐฯ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวมกันราว 4.01 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ข้อมูลของ IRS ชี้ว่าพวกเขาจ่ายภาษีเงินได้รวมกันในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ 1.36 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น ‘อัตราภาษีที่แท้จริง’ เพียงร้อยละ 3.4 เท่านั้น
- ProPublica ใช้ข้อมูลที่อ้างว่าเป็นข้อมูลของมหาเศรษฐีหลายรายมาประกอบ คนแรกก็คือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนชื่อดัง ซึ่งทางสำนักข่าวบอกว่า จากข้อมูลของ Forbes ระหว่างปี 2014-2018 เขาร่ำรวยเพิ่มขึ้น 2.43 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับจ่ายภาษีเพียง 23.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น หรือคิดเป็นร้อยละ 0.10 ของความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น คนต่อมาคือ เจฟฟ์ เบโซส์ มหาเศรษฐีและซีอีโอของ Amazon ที่ ProPublica บอกว่า ระหว่างช่วงเดียวกันนั้นเขามีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น 9.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่จ่ายภาษีไป 973 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.98 ของความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น และย้อนกลับไปในปี 2007 และ 2011 เขาไม่เสียภาษีเงินได้ให้แก่รัฐบาลกลางเลย
- ด้าน อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ Tesla ก็ถูกรายงานว่ามี ‘อัตราภาษีที่แท้จริง’ ระหว่างปี 2014-2018 ตามนิยามของ ProPublica อยู่ที่ร้อยละ 3.27 โดยในปี 2018 ไม่เสียภาษีเลย ส่วนกรณีของ ไมเคิล บลูมเบิร์ก เจ้าของบริษัท Bloomberg L.P. นั้นต่างออกไปเล็กน้อย เพราะเขารายงานรายได้ค่อนข้างสูง โดยในปี 2018 สำนักข่าวดังกล่าวระบุว่า Bloomberg รายงานรายได้กว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปีนั้นเขาก็สามารถใช้การลดหย่อนภาษี การบริจาคให้การกุศล และเครดิตจากการจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลต่างประเทศ จนสุดท้ายเสียภาษีจริงอยู่ที่ 70.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
- ProPublica ยังตั้งข้อสังเกตว่ามีวิธีอื่นๆ ในการลดภาระภาษีของบรรดามหาเศรษฐีทั้งที่อยู่ใน 4 คนที่กล่าวไปแล้วและคนอื่นๆ เช่น การไม่จ่ายเงินปันผลของบริษัทชื่อดังต่างๆ ซึ่งก็จะไม่ทำให้เกิดรายได้ หรือการกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายซึ่งไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นรายได้และไม่ตามมาด้วยภาษี นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่าซีอีโอบางคนมีเงินเดือนที่ต่ำ ท่ามกลางอัตราภาษีจากค่าจ้างที่สูงกว่าอัตราภาษีจากสิ่งอื่น เช่น เงินปันผล การขายหุ้นหรือกองทุน ทั้งนี้ มหาเศรษฐีรายอื่นที่ถูกกล่าวถึงในรายงานชิ้นนี้ก็เช่น คาร์ล ไอคาห์น หรือจอร์จ โซรอส เป็นต้น
- และยังมีการวิเคราะห์ว่า ตามที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแผนในการขึ้นภาษีสำหรับชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุด เช่น การเพิ่มอัตราภาษีสูงสุด เพิ่มภาษีในสิ่งที่ผู้มีรายได้สูงได้มาจากการลงทุน หรือเปลี่ยนแปลงภาษีมรดกนั้น แม้จะทำให้ชาวอเมริกันที่ร่ำรวยบางส่วนจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ในบรรดามหาเศรษฐี 25 อันดับแรกจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย
- แต่ ProPublica ก็ติดต่อไปขอสัมภาษณ์บรรดามหาเศรษฐีผู้ถูกพาดพิงเหล่านี้เช่นกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็ต่างกันไป เช่น อีลอน มัสก์ ตอบกลับมาเพียงแค่ “?” เท่านั้น และไม่ตอบใดๆ เพิ่มเติมอีกเมื่อทางสำนักข่าวดังกล่าวส่งคำถามที่ลงรายละเอียดไป ส่วนตัวแทนส่วนตัวและตัวแทนองค์กรของเบโซส์ปฏิเสธที่จะรับคำถามโดยละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ด้านบัฟเฟตต์ไม่ได้ตอบถึงการคำนวณ ‘อัตราภาษีที่แท้จริง’ ของ ProPublica โดยตรง แต่ยืนยันในวิธีปฏิบัติของเขา และเชื่อว่ากฎหมายภาษีควรมีการปรับปรุง นอกจากนี้ยังระบุว่าการตัดสินใจไม่จ่ายเงินปันผลของบริษัท Berkshire Hathaway ที่เขาก่อตั้งนั้นได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ และทางบริษัทก็ได้จ่ายภาษีนิติบุคคลในจำนวนมากไปแล้ว ซึ่งคิดเป็นราวร้อยละ 1.5 ของของภาษีนิติบุคคลทั้งหมดของสหรัฐฯ ในปี 2019 และ 2020 รวมถึงย้ำว่าเขาได้เริ่มแจกจ่ายทรัพย์สินออกไป และวางแผนที่จะบริจาคทรัพย์สิน 99.5% ให้กับการกุศลด้วย และแถลงการณ์จากโฆษกของ Bloomberg ระบุว่า ในฐานะอดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาสนับสนุนการขึ้นภาษีที่หลากหลายสำหรับคนรวย และเขาจ่ายอัตราภาษีสูงสุดสำหรับรายได้ที่ต้องเสียภาษีในระดับรัฐบาลกลาง รัฐ ท้องถิ่น และระหว่างประเทศทั้งหมดตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงย้ำว่าสิ่งที่เขาได้มอบให้แก่การกุศลและจ่ายภาษีนั้นรวมแล้วคิดเป็นราวร้อยละ 75 ของรายได้ต่อปีของเขา
- อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์จากโฆษกของ Bloomberg ยังแสดงท่าทีต่อการรั่วไหลของข้อมูลดังกล่าว โดยระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลการคืนภาษีดังกล่าวควรทำให้เกิดความกังวลด้านความเป็นส่วนตัวโดยไม่ต้องคำนึงถึงความเกี่ยวข้องทางการเมืองหรือมุมมองต่อนโยบายภาษี และตั้งใจที่จะใช้วิธีการทางกฎหมายเพื่อระบุว่าบุคคลหรือหน่วยงานของรัฐใดที่ทำให้ข้อมูลเหล่านี้รั่วไหล รวมถึงทำให้แน่ใจว่าผู้ที่ทำข้อมูลรั่วไหลจะต้องรับผิดชอบ และท่าทีคล้ายกันนี้ยังเกิดขึ้นจากหน่วยงานรัฐของสหรัฐฯ เช่นกัน โดยสำนักข่าว BBC รายงานว่า เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว ยืนยันว่าการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของรัฐบาลโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ส่วนโฆษกกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยืนยันกับสำนักข่าว Reuters ว่าเรื่องนี้ถูกส่งไปยัง FBI อัยการของรัฐบาลกลาง และเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังภายในของกระทรวงการคลังซึ่งมีอำนาจในการสอบสวนแล้ว
- แต่ก็เหมือนว่า ProPublica ได้คิดเรื่องนี้ไว้แล้วเช่นกัน โดยระบุไว้ในรายงานข่าวว่า “เราสรุปว่าผลประโยชน์สาธารณะในการรับรู้ข้อมูลนี้ในช่วงเวลาสำคัญนี้มีน้ำหนักมากกว่าความกังวลเกี่ยวกับความถูกต้องตามกฎหมาย” และบอกว่าความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งนั้นได้กลายมาเป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับยุคสมัยนี้
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: