“ความมืดไม่น่ากลัวเท่าจินตนาการในความมืด”
สรกล อดุลยานนท์ หรือ ‘พี่ตุ้ม’ นักข่าวและคอลัมนิสต์สายธุรกิจที่ยัง ‘หนุ่ม’ เสมอ เพราะนามปากกาชื่อ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ บอกว่า เวลาเจอสิ่งใหม่ เขาจะนึกถึงประโยคข้างต้นเสมอ
สรกลเริ่มต้นอาชีพสื่อมวลชนในฐานะนักข่าวหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติธุรกิจ’ ราว 20 กว่าปีก่อน ตั้งแต่วันที่ทีวียังทรงอิทธิพล และหนังสือพิมพ์ยังเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องหยิบมาอ่านทุกเช้า จนกระทั่งวันที่อินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และโซเชียลมีเดียได้เปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อในทุกมิติจนไม่เหลือเค้าเดิม
“เทคโนโลยีมันทำให้ทุกคนเป็นสื่อได้หมด เทคโนโลยีคือเรื่องสำคัญที่สุด
“วันนี้คุณดูข่าวจากทีวี คุณจะเห็นว่าข่าวทีวีมันเริ่มมาจากคลิป คลิปซึ่งมาจากคนธรรมดาทั่วๆ ไป มีนักข่าวเท่าไรก็สู้สื่อประชาชนไม่ได้ เพราะทุกคนมีมือถือและพร้อมจะหยิบขึ้นมาถ่ายทอดเรื่องราว”
หากธรรมชาติของข่าวสารคือความเร็ว ดูเหมือนวันนี้สื่อเดิมจะตอบโจทย์ที่ว่าไม่ได้เสียแล้ว
“หนังสือพิมพ์คือข่าวของเมื่อวานที่มาอ่านเช้านี้ ทีวีเป็นข่าวของเร็วๆ นี้ แต่ก็ไม่ได้เร็ว 100% วันนี้ออนไลน์เร็วกว่า เพราะเรียลไทม์…”
พอวันหนึ่งเมื่อการเมืองมันพลิกกลับหรืออะไรก็ตามที ข่าวที่ต้องใช้ความเก๋า สำนักข่าวใหม่จะสู้กับสำนักข่าวเก่าที่เก๋ากว่า หรือมีคอนเน็กชันที่เยอะกว่าได้หรือเปล่า
โลกเปลี่ยน สื่อเปลี่ยน เรื่องนี้เห็นชัด และที่ชัดกว่าคือสรกล ไม่ใช่เพราะเขานั่งอยู่ตรงหน้า แต่ถ้านับสื่อมวลชนรุ่นใหญ่ในวงการ สรกลคือคนหนึ่งที่ยังไม่หมดอายุ เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรุ่นเก่าและใหม่ เขาปรับตัวอย่างไร ก่อนจะให้เขาตอบคำถามนี้ สิ่งที่เราอยากรู้คือในสายตานักข่าวธุรกิจที่จับตากระแสความเปลี่ยนแปลง เขาเห็นอะไรเมื่อมองอนาคตของสื่อ
“ใกล้ๆ ผมว่าทิศทางมาที่ออนไลน์และไปทางแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ระดับโลกแน่นอน ทั้งเฟซบุ๊ก กูเกิล อะไรต่างๆ ทิศทางนี้เห็นชัดทั้งปีนี้และปีหน้า
“ถ้ายังยึดอยู่กับสื่อเก่า โรยราแน่นอน วงจรของธุรกิจเมื่อไปถึงจุดหนึ่งแล้วจะหยุดนิ่ง มันจะไม่เติบโต คือยอมรับได้เลยว่าสื่อเก่าไม่เติบโต พอถอยไปถึงจุดหนึ่งแล้วมันจะหยุด บางอันตาย บางอันอยู่
“ส่วนสื่อใหม่ที่เกิดขึ้น มันไปแน่นอน แต่การแข่งขันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ งบโฆษณาทุกอย่างจะเทไปทางนี้ เพราะว่าเอเจนซีโฆษณาและเจ้าของสินค้าทุกคนเชื่อเยอะขึ้นเรื่อยๆ ว่ามันมาทางนี้”
ความรู้ในโลกนี้มี 2 อย่าง รู้ว่ารู้อะไรกับรู้ว่าไม่รู้อะไร บางอย่างเราไม่รู้ เรายอมรับว่าเราโง่ เราไม่รู้เรื่องนี้ เรียนรู้
ส่วนสำนักข่าวและสื่อออนไลน์ที่เกิดขึ้นมากมายในช่วงที่ผ่านมา สรกลมองว่าจุดเด่นที่เห็นได้ชัดคือการใช้ ‘ภาษาภาพ’ สื่อสารด้วยเทคนิคใหม่ๆ และการตีความข่าวผ่านสายตาคนรุ่นใหม่ ซึ่งช่วยสร้างมิติให้เกิดความแตกต่างจากการนำเสนอข่าวแบบเดิมๆ อย่างชัดเจน แต่ท่ามกลางสีสัน ลูกเล่น และความสด ก็มีข้อเท็จจริงบางประการที่ต้องรอพิสูจน์
“จุดที่ผมยังรออยู่ก็คือ พอวันหนึ่งเมื่อการเมืองมันพลิกกลับหรืออะไรก็ตามที ข่าวที่ต้องใช้ความเก๋า สำนักข่าวใหม่จะสู้กับสำนักข่าวเก่าที่เก๋ากว่า หรือมีคอนเน็กชันที่เยอะกว่าได้หรือเปล่า สามารถยกหูโทรคุยกับหัวหน้าพรรคได้ไหม
“อย่าลืมว่าบางอย่างมันต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว ซึ่งไอ้พวกนี้ยิ่งอายุมากมันก็จะยิ่งรู้จักคนเยอะ มันก็มีโอกาสที่จะทำข่าวหรือได้ประเด็นข่าวดีๆ ได้เร็วกว่า
“หรือบางเรื่องเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เป็นความต่อเนื่องของเหตุการณ์ คนรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจเรื่องราวเก่าๆ ซึ่งบางทีมันมีรากที่สาวไปถึง
“ถ้าคุณไม่มีคนแบบนี้อยู่ บางทีคุณอาจจะขาดศักยภาพในการสู้” สรกลทิ้งโจทย์ใหญ่ให้สื่อใหม่ดาวรุ่งต้องขบคิด ส่วนสื่อเก่าคงไม่ต้องพูดถึง เพราะต่างรู้กันว่ากำลังสาหัสจากภาวะการขาดทุนและปรับตัวทั้งองค์กรและคนให้รอดจากสึนามิดิจิทัล สิ่งที่น่าสนใจกว่าและเป็นคำถามที่ทิ้งค้างไว้เมื่อหลายบรรทัดก่อนคือ
สรกล…ปรับตัวอย่างไร?
“ยอมรับความเปลี่ยนแปลง” สรกลบอกว่านี่คือสิ่งแรกที่ต้องเปิดใจยอมรับ “ถ้ายอมรับเมื่อไร คุณปรับตัวได้”
สิ่งที่สองคือยอมรับว่าเรา ‘ไม่รู้’ อะไรบ้าง
“ความรู้ในโลกนี้มี 2 อย่าง รู้ว่ารู้อะไรกับรู้ว่าไม่รู้อะไร บางอย่างเราไม่รู้ เรายอมรับว่าเราโง่ เราไม่รู้เรื่องนี้ เรียนรู้
“สิ่งที่ดีที่สุดจากการเป็นนักข่าวก็คือการถาม อาวุธสำคัญของผมคือ ‘คำถาม’ แล้วผมไม่กลัวว่าผมจะโง่ถ้าผมไม่รู้ เพราะตอนที่ผมเป็นนักข่าว ผมไม่รู้ผมก็ถาม”
หากเปรียบชีวิตสรกลเป็นภาพแทนองค์กรและคนทำสื่อ (ซึ่งความจริงอาจจะแทนไม่ได้ทั้งหมด) จากนักข่าวตำแหน่งเล็กๆ ไต่เต้าขึ้นมาจนเป็น ‘หนุ่มเมืองจันท์’ จากคนทำงานสื่อยุคเก่ามาสู่คนทำงานสื่อที่ไม่ตกยุค มีรายการ Facebook LIVE ของตัวเองคนแรกๆ และมีเพจ หนุ่มเมืองจันท์ ที่มีแฟนติดตามกันอย่างเหนียวแน่น นอกจากยอมรับความเปลี่ยนแปลง สรกลมีเคล็ดลับอะไรอีกบ้าง?
“ผมมีคำหนึ่งที่บอกว่า ‘ความมืดไม่น่ากลัวเท่ากับจินตนาการในความมืด’ คือเวลาเจออะไรใหม่ๆ อย่าไปกลัวมัน มันแค่เป็นความมืดเฉยๆ แต่สิ่งที่เรากลัว บางทีมันมาจากเราจินตนาการ ฉะนั้นผมจะไม่ค่อยกลัวเมื่อมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต
“และ ‘ไม่มีอะไรยากเกินเรียนรู้’ เพราะว่าชีวิตผมวันแรกที่เป็นนักข่าว ผมพิมพ์ดีดไม่เป็น สมัยเรียนผมอ่านหนังสือพิมพ์ทุกหน้า ยกเว้นหน้าเดียวคือหน้าเศรษฐกิจ แล้วผมต้องมาทำ ประชาชาติธุรกิจ ผมเจอสองดอกนี้เข้าไป ผมก็ต้องทำ พอผมอ่านและทำข่าวธุรกิจไปสักพักก็พบว่ามันก็ไม่ได้ยากนี่ ผมก็เริ่มรู้แล้วว่าไม่มีอะไรยากเกินเรียนรู้
“สองคำนี้ครับที่ทำให้เวลาผมเจอสิ่งใหม่ๆ แล้วผมกล้าทดลองมัน แล้วที่สำคัญ ผมทำมันด้วยความสนุก”
เขาเปรียบชีวิตตัวเองกับเกมฟุตบอล
“ผมชอบบอลที่เล่นเกมรุก คือบุก อย่างน้อยผมรู้สึกว่าเราได้กำหนดชะตาชีวิตตัวเอง แพ้ไม่แพ้ยังไงก็ขอยิงประตูไว้ก่อน
“แต่ไม่ได้หมายความว่าชนะทุกครั้งนะ แพ้ก็เยอะ” สรกลหัวเราะ
“แต่อย่างน้อยเราก็ได้เรียนรู้…”
DID YOU KNOW?
จากประสบการณ์ที่ได้คุยกับนักธุรกิจหลายๆ คน คิดว่าอะไรคือจุดร่วมที่นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมีเหมือนกัน
สรกล อดุลยานนท์: ไม่ว่าสตาร์ทอัพหรือคนรุ่นเก่า สิ่งที่ผมเห็นคือทำงานจริง โฟกัส กัดไม่ปล่อย แล้วหลงใหล มีแพสชันในสิ่งที่ทำ สิ่งเหล่านี้สำคัญมากถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จ